พันธบัตรรัฐบาลที่ถูกต้องตามครรลอง

23 ธ.ค. 2567 | 13:10 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ธ.ค. 2567 | 13:13 น.

พันธบัตรรัฐบาลที่ถูกต้องตามครรลอง โดยสมหมาย ภาษี

หลังจากผมได้เขียนบทความเรื่อง “ไทยคงต้องตายกันยกแผง” เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2567 ตอนนี้พอเจอหน้าแฟนคลับก็ถูกตั้งคำถามว่าจะมีอะไรที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟังอีก แต่ผมเองก็รู้สึกว่ารัฐบาลก็ใหม่นายกก็มีแต่ความใส เพิ่งจัดตั้งเป็นตัวเป็นตนได้ไม่นาน ยังจับต้นชนปลายเกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศไม่ถูก ก็รู้สึกเกรงใจที่จะไปวิจารณ์เรื่องการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงนี้

จนกระทั่งเมื่อวันศุกร์ที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา ผมได้ฟังท่านอดีตนายกรัฐมนตรีที่โด่งดังของไทยเราพูดถึงนโยบายใหม่ที่จะนำมาใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคอีสาน สิ่งที่น่าสนใจคือความคิดที่จะให้นำพันธบัตรที่ออกโดยรัฐบาลไทยทุกปีไปให้คนอีสานซื้อและถือเพื่อให้ดอกผลไปหมุนเวียนอยู่ในแดนอีสาน แทนที่จะให้สถาบันการเงินโดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ถือและมีรายได้จากดอกเบี้ยเป็นหลักตามที่เป็นอยู่ตามปกติ และเพื่อโยงให้เรื่องนี้เป็นจริง ก็ต้องส่งเสริมให้นำเงินดิจิทัลคือคริปโตมาใช้หมุนเวียนในเศรษฐกิจไทยให้คนอีสานได้ถือเงินคริปโตด้วย แล้วจะมีเงินมาซื้อพันธบัตรรัฐบาลได้ ผมฟังได้ความมาเช่นนี้ครับ และรู้สึกว่ามันพิสดารสิ้นดี

 

เมื่อนำมาคิดในฐานะเป็นคนที่คุ้นเคยกับการออกพันธบัตรของรัฐบาลไทยมาตลอด และในปัจจุบันยังทำงานในองค์กรอิสระที่กำกับดูแลตราสารหนี้ภาครัฐ ซึ่งรวมทั้งพันธบัตรของกระทรวงการคลังและของแบงก์ชาติบวกกับหุ้นกู้ที่ออกมากู้เงินจำนวนมากจากภาคเอกชนทุกสาขาด้วย รวมแล้วขณะนี้มีมูลค่าถึง 96% ของ GDP

ผมจึงเห็นว่าเรื่องนโยบายพิสดารที่ปรากฎออกมาเช่นนี้ นอกจากประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งระดับกลางและระดับล่างจะไม่เข้าใจแล้ว ประชาชนผู้มีความรู้สูงไม่ว่าสาขาใด ถ้าไม่ได้คุ้นเคยกับเรื่องเหล่านี้ก็จะไม่รู้เรื่องเช่นกันครับ จึงใคร่ขออนุญาตแชร์ความรู้ของผมให้ผู้ที่ไม่รู้ได้รู้กว้างขึ้น เผื่อจะได้สามารถติดตามและสนุกกับความคิดที่สุดพิสดารดังกล่าวได้บ้าง

ในอดีตนานมาแล้ว รัฐบาลในอารยประเทศเขาเป็นคนคิดเรื่องการออกพันธบัตรเพื่อระดมทุนจากประเทศเขาที่เป็นผู้ผลิตสินค้าหลักที่สามารถส่งออกได้ เพื่อให้ประเทศที่ด้อยกว่ามีโอกาสหาเงินจากการออกพันธบัตรไปหาเงินจากในประเทศเขาแล้วนำเงินนั้นไปซื้อสินค้ามาใช้ในการพัฒนาประเทศที่ด้อยพัฒนากว่า ทำให้ประเทศต่างๆ ในโลกมีการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศกันได้มากขึ้น

จากประวัติศาสตร์อันยาวนานในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า หรือพระปิยมหาราชของไทย ท่านได้เสด็จประพาสยุโรปถึง 2 ครั้ง แต่ละครั้งนาน 1 ปี ก็เพื่อไปทอดพระเนตรรับรู้การเจริญเติบโตของประเทศฝั่งตะวันตก จนท่านได้เกิดวิสัยทัศน์ว่าประเทศไทยเรานั้นควรต้องพัฒนาเข้าสู่ยุคใหม่บ้าง เพราะไทยเราเองสมัยนั้นสามารถผลิตสินค้าออกขายให้กับต่างประเทศมากพอควร จนถือได้ว่ามั่งคั่งในระดับหนึ่งแล้ว ท่านจึงได้ทรงคิดสร้างระบบคมนาคมขนส่งด้วยรถไฟในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ก็โดยการออกพันธบัตรไทยไปขายในตลาดเงินของประเทศอังกฤษ แล้วนำเงินที่ได้ไปซื้ออุปกรณ์รถไฟทั้งชุดรวมทั้งการจ้างที่ปรึกษาต่างประเทศมาออกแบบและให้ข้อเสนอแนะด้วย เรียกว่า เป็นโครงการเบ็ดเสร็จชิ้นแรกและชิ้นใหญ่ของไทย เท่าที่เคยอ่านในประวัติศาสตร์ ได้ทราบว่าจักรพรรดิของญี่ปุ่นสมัยนั้นก็ได้ไปทำการออกพันธบัตรในตลาดลอนดอนของอังกฤษไปพัฒนาประเทศเขาเช่นกัน

ครั้นตอนผมทำงานให้กับกองนโยบายเงินกู้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังในช่วงตั้งแต่ท่านพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นต้นมา ก็ได้ทำงานด้านกู้เงินโดยการไปออกพันธบัตรไทยให้รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจบางแห่งได้ใช้เงินกู้จากต่างประเทศมาทำโครงการพัฒนามากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ออกพันธบัตรไทยไประดมทุนในตลาดโตเกียวที่ชื่อว่า “ซามูไร บอนด์” หลายต่อหลายครั้ง และก็ได้ประสบความสำเร็จทุกครั้ง รวมทั้งในตลาดยุโรปและสหรัฐด้วย

พันธบัตรที่ไทยเราไปออกในต่างประเทศตามเมืองที่มีตลาดเงินตลาดทุนใหญ่ๆ นั้น ก็ได้เข้าไปอยู่ในตลาดการซื้อขายพันธบัตรของเขาและเป็นที่รู้จักและเชื่อถือของนักลงทุนต่างประเทศ ถ้าจะถามว่าในสมัยสามสี่สิบปีก่อนทำไมต่างชาติเขาจึงเชื่อถือคำตอบก็เพราะเขามั่นใจว่ารัฐบาลไทยบริหารประเทศได้ดีน่าเชื่อถือ หากรัฐบาลเราด้อยความน่าเชื่อถือเมื่อใด แม้เรายังไปออกพันธบัตรในต่างประเทศได้อยู่ แต่ดอกเบี้ยหรือที่เรียกว่าคูปองที่เราต้องเสนอให้เขาจนยอมเสี่ยงซื้อพันธบัตรเราก็ต้องสูงขึ้น และสูงขึ้นไปเรื่อยตราบเท่าที่เรายังด้อยความน่าเชื่อถือเช่นทุกวันนี้

อยากจะกล่าวก่อนจบก็คือว่าด้วยเหตุที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ในโลกนี้มีความต้องการใช้เงินมากกว่าภาษีที่สามารถเก็บได้ รัฐบาลก็ต้องไปกู้เงินจากตลาดในประเทศของตนมาใช้ทุกปี เช่นในปีงบประมาณ 2568 นี้ รัฐบาลต้องกู้เงินโดยการออกพันธบัตรมาชดเชยการคลังขาดดุลถึง 865,700 ล้านบาท นั่นก็คือการบริหารการคลังแบบขาดดุลโดยการออกพันธบัตรตามกรอบที่กฎหมายของตนเองกำหนดไว้ 

โดยที่พันธบัตรที่รัฐบาลออกเป็นตราสารหนี้ที่มั่นคงสูงสุดในประเทศสำหรับประชาชนและนักลงทุน จึงมีอัตราดอกเบี้ยต่ำสุด และถือเป็นตราสารหนี้ที่มีกฎหมายบังคับให้บรรดาสถาบันการเงินที่รับฝากเงินและให้สินเชื่อทุกแห่งต้องถือไว้เป็นทุนสำรองให้ได้ตามที่ธนาคารชาติกำหนดภายใต้กรอบของกฎหมาย เพื่อให้เกิดความมั่นคงและน่าเชื่อถือของผู้ฝากเงิน ดังนั้น พันธบัตรรัฐบาลที่กู้มาชดเชยการขาดดุลส่วนใหญ่จึงถือไว้โดยทั้งสถาบันการเงินไทยและต่างประเทศที่เปิดธนาคารพาณิชย์อยู่ในประเทศไทย 

พันธบัตรไทยที่หมุนเวียนอยู่ในตลาดตราสารหนี้ไทยที่มีการซื้อขายหมุนเวียนอยู่ในตลาดรอง (Secondary Market) ในทุกวันนี้ยังรวมถึงพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทยหรือธนาคารชาติด้วย ซึ่งธนาคารชาติจะใช้พันธบัตรที่ออกมาให้สถาบันการเงินซื้อนี้ เป็นเครื่องมือในการบริหารสภาพคล่องของภาวะการเงินทั้งประเทศ กล่าวคือเมื่อใดที่เห็นว่าปริมาณเงินในระบบมีมาก ธนาคารชาติก็จะออกพันธบัตรไปขายดูดเงินเข้า และเมื่อใดที่เห็นว่าปริมาณเงินมีมากเกินไป ก็จะเข้าไปซื้อพันธบัตรในตลาดรองผ่านคู่ค้าหลักที่เรียกว่า Primary Dealer ที่อยู่กับสถาบันการเงินต่างๆกลับมา 

นี่คือกระบวนการในการทำให้เงินไหลเวียนอยู่ได้เพื่อเป็นเส้นเลือดในการบริหารเศรษฐกิจและการเงินของประเทศแบบที่ทั่วโลกใช้กันอยู่ พิสดารกว่านี้ผมคิดไม่ออกจริงๆครับ