ค่ายรถแจกหนักโบนัส 8 เดือน "โตโยต้า"นำทีม แบงก์-การบินอู้ฟู่-อสังหาฯรอลุ้น

20 ธ.ค. 2567 | 03:06 น.
1.5 k

ตรวจแถวแจกเงินโบนัสปี 67 ค่ายรถยนต์คึกคัก แม้ยอดขายร่วง“โตโยต้า-อีซูซุ” นำทีม จ่ายสูงสุด 8 เดือน บวกเงินพิเศษ กลุ่มการบินไม่น้อยหน้า ทอท. สูงสุด 8 เดือน วิทยุการบิน 4 เดือน กลุ่มแบงก์พาณิชย์-แบงก์รัฐ ยังอู้ฟู่ เฉลี่ย 4-6 เดือน ภาคอุตสาหกรรม 2- 7 เดือน ด้านอสังหาฯ รอลุ้น

เศรษฐกิจไทยในรอบปี 2567 ต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงทั้งจากในและนอกประเทศที่ถาโถมเข้ามาอย่างหนักหน่วง ซึ่งทั้งปีนี้ ทุกสำนักพยากรณ์คาดเศรษฐกิจ หรือจีดีพีไทยจะขยายตัวได้ไม่ถึง 3% ส่วนใหญ่คาดขยายตัวเฉลี่ยที่ 2.6-2.8% โดยภาคการท่องเที่ยว และภาคการส่งออก ยังเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในรอบปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันกำลังซื้อของคนไทยในภาพรวมยังชะลอตัว จากยังมีภาระหนี้ครัวเรือนสูง ทั้งจากหนี้ในระบบ (16 ล้านล้านบาท) หนี้นอกระบบ (3 ล้านล้านบาท) เฉลี่ยมีหนี้ต่อคน(ไม่รวมเอกชน) เฉลี่ยอยู่ที่ 428,571 บาท อย่างไรก็ดีแม้เศรษฐกิจ และกำลังซื้อของคนไทยยังไม่ดีนัก แต่จากการสำรวจการแจกเงินพิเศษประจำปี หรือเงินโบนัสให้กับพนักงานในหลายกลุ่มธุรกิจพบว่า ยังคงมีการแจกเงินโบนัสเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจกันอย่างคึกคัก

รถยนต์ยอดร่วงแต่โบนัสไม่แผ่ว

โดยในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเป็นสินค้าราคาสูงที่เป็นตัวบ่งชี้กำลังซื้อของคนไทยได้เป็นอย่างดี จากการสำรวจของ “ฐานเศรษฐกิจ” พบว่า แม้ตลาดรถยนต์ในประเทศปี 2567 จะมียอดขายที่ลดลง โดยคาดภาพรวมจะมียอดขายไม่ถึง 6 แสนคัน ต่ำสุดในรอบ 15 ปี โดยหลังจากผ่านไป 11 เดือน(ม.ค.-พ.ย.67) ยอดขายร่วงถ้วนหน้า ทั้งโตโยต้า ติดลบ 17.5% อีซูซุ ลดลง 45.4% ฮอนด้า ตกไป 20.3%

อย่างไรก็ตาม เมื่อสำรวจโบนัส และเงินพิเศษประจำปี ซึ่งส่วนใหญ่เจรจากับสหภาพแรงงานจบไปตั้งแต่ต้นปีแล้ว พบว่า บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยังแจกโบนัสหนักเหมือนทุก ๆ ปี

โตโยต้า-อีซูซุ จ่ายสูงสุด 8 เดือน

สำหรับโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ให้โบนัส 8 เดือน และเงินพิเศษอีก 45,000 บาท เช่นเดียวกับ อีซูซุ มอเตอร์ (โรงงานผลิต) 8 เดือน โดยแบ่งเป็น 3 งวด คือจ่ายในเดือนเมษายน 2567 จำนวน 1 เดือน แถมเงินเที่ยวสงกรานต์อีก 40,000 บาท จากนั้นเดือนพฤษภาคมให้อีก 2 เดือน และปิดท้ายเดือนธันวาคมนี้ 5 เดือน รวมเป็น 8 เดือน

ด้านฮอนด้า ออโตโมบิล ประเทศไทย จ่ายโบนัส 6.25 เดือน พร้อมเงินพิเศษ 37,000 บาท, มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย โบนัส 5.5 เดือน บวกเงินพิเศษ 45,000 บาท ส่วนซูซูกิ มอเตอร์ ประเทศไทย ที่กำลังปรับโครงสร้างธุรกิจ เตรียมปิดโรงงานผลิตอีโคคาร์ที่ จ.ระยอง และปีหน้าจะหันมานำเข้ารถทั้งหมดจากอินโดนีเซีย และญี่ปุ่น ขณะยอดขาย 11 เดือนที่ผ่านมา ทำได้ 5,333 คัน ลดลง 52.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของก่อน แต่ผู้บริหารยืนยัน ยังมีโบนัส 3.5 เดือน

ค่ายรถอเมริกัน “ฟอร์ด” ที่ยอดขายตกไป 43.3% แต่ในส่วนโรงงานเอฟทีเอ็ม การผลิตลดลงไปเพียงเล็กน้อยประมาณ 7% เพราะยังมีการส่งออกเป็นหลัก สรุปแจกโบนัส 6.03 เดือน พร้อมเงินพิเศษ 28,000 บาท

ค่ายรถแจกหนักโบนัส 8 เดือน \"โตโยต้า\"นำทีม แบงก์-การบินอู้ฟู่-อสังหาฯรอลุ้น

การบิน-ท่องเที่ยว ไม่น้อยหน้า

ในธุรกิจการบิน และภาคการท่องเที่ยว บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. จ่ายโบนัสพนักงานในปีงบประมาณ 2567 (ต.ค.66-ก.ย.67) ในอัตรา 8 เดือน โดยจ่ายโบนัสในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา เนื่องจากผลประกอบการปีงบประมาณ 2567 (สิ้นสุด ก.ย.67) มีกำไร 19,182 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 118% เทียบกับช่วงเดียวกันปี 2566 ที่มีกำไร 8,791 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่เคยได้รับโบนัส 7 เดือน

บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) พนักงานได้รับเงินรางวัลพิเศษ จากการตั้งใจในการทำงาน 4 เดือน โดยแบ่งจ่ายเป็น 2 งวด งวดแรกจ่ายเมื่อเดือนเมษายน และงวดที่ 2 เมื่อเดือนตุลาคม 2567 ซึ่งเป็นการจ่ายครั้งแรก หลังจากไม่ได้จ่ายมา 2 ปีติดกันจากผลกระทบโรคระบาดโควิด-19

สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ได้โบนัสไปแล้ว 1.5 เดือน โดยจ่ายไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา และคาดว่าจะได้อีกก้อนในสิ้นเดือนธันวาคม แต่ยังไม่สรุปว่าจะเป็นเท่าไหร่

ส่วนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จ่ายค่าตอบแทนให้พนักงาน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการทำงาน 2 เดือน โดยงวดแรกจ่ายในเดือนพฤศจิกายน 2567 ส่วนอีกงวดจะจ่ายในปีหน้า และการบินไทย จ่ายเงินพิเศษครั้งเดียวให้พนักงาน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการทำงาน 55,000 บาท ซึ่งหักภาษีแล้วจะเหลือราว 5 หมื่นบาท

ขณะที้ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จ่ายโบนัสพนักงานขั้นต่ำ 1.7 เดือน และจะมีโบนัสเอ็กซ์ตร้าสำหรับหน่วยงานสำคัญซึ่งอาจจะเกิน 2 เดือน จะจ่ายในสิ้นเดือนธันวาคมนี้

ภาคผลิตอู้ฟู่-ไดกิ้นฯ 7 เดือน

สำหรับในภาคอุตสาหกรรมการผลิต เครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) และซีพีเอฟ ระบุจ่าย 2 เดือนในสิ้นปีนี้ ส่วนบริษัท ไดกิ้น อินดีสทรีส์(ประเทศไทย) จำกัด จ่ายโบนัสให้พนักงาน 7 เดือน เงินบวกอีก 18,000 บาท และเงินพิเศษ อีก 3,000 บาท,บริษัท มิตซูบิชิ เอลเลเวเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้โบนัส 5.2 เดือน บวกเงินพิเศษ 28,000 บาท ค่าครองชีพ 3,656 บาท ขึ้นเงินเดือน 3.7%, มิตซูฯอมตะชลบุรี จ่าย 7.5 เดือน บวกเงินพิเศษ 20,000 บาท, บริษัท ทรัยโม เฟส 7 อมตะชลบุรี โบนัส 3 เดือน บวกเงินพิเศษ 70,000 บาท

บริษัทไทยฮั้วยางพารา จ่ายโบนัส 2-3 เดือนในช่วงช่วงไตรมาส 1/2568, กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย จ่าย 1 เดือนสิ้นปีนี้ และลุ้นโบนัสตามผลประกอบการในเดือนมีนาคม 2568

ศรีไทยฯยอดหดยังจ่าย 1.5 เดือน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการ บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) เผยว่า ภาพรวมกิจการของศรีไทยฯในประเทศครึ่งปีแรกมีแนวโน้มเติบโตดี แต่เริ่มชะลอตัวในครึ่งปีหลัง เนื่องจากราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ค่าเงินบาทที่แข็งค่า และกำลังซื้อที่อ่อนลง ส่งผลให้ยอดขายโดยรวมทั้งปีคาดว่าจะใกล้เคียงกับปีก่อนหรือลดลงเล็กน้อย ขณะที่กำไรคาดว่าจะหดตัวจากปีที่ผ่านมา

สำหรับกิจการในต่างประเทศ โดยเฉพาะในเวียดนาม คาดว่ายอดขายและผลประกอบการจะลดลงประมาณร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลจากวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์และอุทกภัยในหลายพื้นที่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการบริโภคการใช้จ่ายของประชาชนที่ลดลง

“ในปีนี้ บริษัทจะจ่ายโบนัสประจำปีในอัตรา 1.5 เท่าของเงินเดือนตามนโยบายของบริษัทตามปกติ โดยมีกำหนดจ่ายในวันสิ้นปี” นายสนั่น กล่าว

ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกรรมการ บริษัท มหาบูรพาผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทมียอดขายลดลง จากการแข่งข้นด้านราคาจากสินค้าจีนในตลาดต่างประเทศที่เข้มข้นมาก อย่างไรก็ดีบริษัทจะยังคงมีโบนัสให้พนักงาน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ แต่โบนัสที่จะให้คงไม่หวือหวา

กลุ่มแบงก์เฉลี่ย 4-5 เดือน

ด้านกลุ่มธนาคารพาณิชย์ แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้จะชะลอตัว แต่ธนาคารพาณิชย์ยังเป็นกลุ่มที่สามารถทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง โดยพบว่า กำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ทั้ง 11 แห่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) มีกำไรสุทธิงวด 9 เดือนแรกของปี 2567 รวม 192,440 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.47% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 184,207 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นและมีการตั้งสำรองหนี้ลดลง

สำหรับการจ่ายโบนัสของธนาคารพาณิชย์ ส่วนใหญ่จะจ่ายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ รวมถึงการปรับขึ้นเงินเดือนด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะจ่ายโบนัสเฉลี่ย 4-5 เดือน ขณะที่ธนาคารรัฐจะจ่ายช่วงเดือนเมษายน เฉลี่ยประมาณ 5-6 เดือน

อสังหาฯ 1-3 เดือน-รายใหญ่รอลุ้น

ด้านภาคอสังหาริมทรัพย์ เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีโบนัสอู้ฟู่ในช่วงรุ่งเรือง ซึ่งหลายค่ายแบรนด์ดัง มักจ่ายสูงสุดมากถึงกว่า 10 เดือน แต่ปัจจุบันแม้สถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัว แต่แทบทุกค่ายยังจ่ายโบนัสและเงินขวัญถุงต่อเนื่อง แต่อาจลดน้อยลง เช่น 1-3 เดือน

นายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการบริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ระบุว่า บริษัท ยังคงจ่ายโบนัสให้เหมือนเดิมอย่างน้อย 1-2 เดือน ขึ้นอยู่กับผลงานและไซต์โครงการแม้ว่าผลประกอบการในปีนี้ของบริษัทจะปรับลดลงตามภาวะตลาดและเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ทั้งนี้เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับพนักงาน

เช่นเดียวกับ บริษัทรับสร้างบ้านหรู นายอนันต์กร อมรวาที กรรมการผู้จัดการ บริษัท มาสเตอร์ แปลน 101 จำกัด เผยว่า บริษัทยังมีโบนัสและเงินพิเศษให้เหมือนทุกปี โดยจ่ายขั้นต่ำ 3 เดือนขึ้นไปในเดือนมกราคม 2568 แม้ภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านราคา 20 ล้านบาทขึ้นไปในปี 2567 เริ่มชะลอตัวตามเศรษฐกิจก็ตาม

ขณะที่นายวรวุฒิ กาญจนกูล ประธานบริหาร บริษัท ดับบลิวเฮ้าส์ จำกัด กล่าวว่า ปีนี้ บริษัทผลประกอบการยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ดังนั้นจึงไม่มีโบนัสหรือการปรับขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงาน