เตรียมจ้างงาน 1,400คน ยักษ์ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ไต้หวันตั้งฐานผลิตในไทย

12 ธ.ค. 2567 | 09:09 น.
991

เตรียมจ้างงาน 1,400คน ยักษ์ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ไต้หวันตั้งฐานผลิตในไทย บีโอไอเผยมีมูลค่าเงินลงทุนเฟสแรก 10,500 ล้านบาท ตั้งโรงงาน 2 แห่งที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง

บริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ไต้หวันอย่างบริษัท ยูนิค อินทิเกรตเต็ด เทคโนโลยี จำกัด ตัดสินใจทุ่มเงินกว่า 10,000 ล้านบาท ตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวนั้น นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) ระบุว่า คณะกรรมการนโยบายอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงแห่งชาติพิจารณาโครงการซึ่งได้รับมอบอำนาจจากบอร์ดบีโอไอ ได้อนุมัติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนโครงการผลิตอุปกรณ์และโมดูลสำหรับเครื่องจักรผลิตเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำ ของกลุ่ม Foxsemicon Integrated Technology Inc. (FITI) ในเครือของฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) หนึ่งในผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดของโลกจากไต้หวัน 
 

และเป็นซัพพลายเออร์สำคัญของบริษัท Applied Materials ผู้ผลิตเครื่องจักรสำหรับผลิตเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำระดับโลก โดย Foxsemicon ได้ยื่นขอรับการส่งเสริมในนามบริษัท ยูนิค อินทิเกรตเต็ด เทคโนโลยี จำกัด มีมูลค่าเงินลงทุนในเฟสแรก 10,500 ล้านบาท ตั้งโรงงาน 2 แห่งที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง 

โดยเป็นโรงงานแห่งที่ 4 ในโลกของกลุ่ม Foxsemicon โดยก่อนหน้านี้มีโรงงานอยู่ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา

สำหรับกลุ่ม Foxsemicon เป็นบริษัทไต้หวันที่เป็นผู้นำในการผลิตอุปกรณ์สำหรับเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์แบบครบวงจร มีขีดความสามารถตั้งแต่การวิจัยและพัฒนา การออกแบบ การผลิตชิ้นส่วน อุปกรณ์และโมดูลสำหรับเครื่องจักร โดยอาศัยจุดแข็งด้านเทคโนโลยีการผลิตที่มีความแม่นยำสูง และการผสมผสานระหว่างระบบเครื่องกล ระบบไฟฟ้า และระบบอัตโนมัติเข้าด้วยกัน 
 

ซึ่งโรงงานในประเทศไทยจะมีการจ้างงานบุคลากรไทยกว่า 1,400 คน เพื่อผลิตอุปกรณ์และโมดูลที่มีความแม่นยำสูงสำหรับเครื่องจักรสำคัญที่ใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำ (Wafer Fabrication) ซึ่งคาดว่าจะสร้างมูลค่าส่งออกกว่า 6,000 ล้านบาทต่อปี และในระยะเริ่มต้นจะมีการใช้วัตถุดิบในประเทศในสัดส่วนกว่า 25% ของมูลค่าวัตถุดิบทั้งสิ้น โดยจะเพิ่มมากขึ้นในระยะต่อไป   

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้มีบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เริ่มเข้ามาลงทุนในไทย ทั้งการออกแบบวงจรรวม (IC Design) การทดสอบ Wafer และ IC โดยบริษัท Analog Devices และการผลิตชิปต้นน้ำโดยบริษัท Hana เชื่อมั่นว่าจากนี้ไป จะมีการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่รัฐบาลได้ตั้งบอร์ดเซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติ ซึ่งจะมีการกำหนดโรดแมป เป้าหมายที่ชัดเจนในแต่ละระยะ และมาตรการขับเคลื่อนในทุกมิติ 

รวมถึงการพัฒนาบุคลากร และการปรับปรุงระบบนิเวศที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็นฐานรองรับการลงทุนเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งจะเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมหลักอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล โทรคมนาคม ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ หรืออุปกรณ์การแพทย์ในอนาคต