“นฤมล”ย้ำการปรับปรุงสุขภาพดินเพื่อความมั่นคงทางอาหาร

11 ธ.ค. 2567 | 13:58 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ธ.ค. 2567 | 14:08 น.

“รมว.นฤมล”เปิดประชุม United Nations decade on Soil Health เน้นย้ำการปรับปรุงสุขภาพดิน เพื่อความมั่นคงทางอาหารและการพัฒนาสู่อนาคตที่มั่นคง ยั่งยืน

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังได้เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมคู่ขนาน United Nations decade on Soil Health ซึ่งจัดขึ้นในงาน International Soil and Water Forum ณ โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ ว่า การประชุมดังกล่าวได้เน้นย้ำความสำคัญของการจัดตั้งทศวรรษแห่งสุขภาพดินภายใต้องค์การสหประชาชาติ (United Nations decade on Soil Health) เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสุขภาพดินต่อความมั่นคงทางด้านอาหารและโภชนาการ การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การบรรลุเป้าหมายความยั่งยืน และพัฒนาสุขภาพดินให้เป็นแนวทางการพัฒนาสูงความยั่งยืน 

                       “นฤมล”ย้ำการปรับปรุงสุขภาพดินเพื่อความมั่นคงทางอาหาร

“การประชุมที่เกิดขึ้นได้เน้นการปฏิบัติการจัดการดินที่ยั่งยืนและนวัตกรรมที่สนับสนุนผลิตภาพของดินและสุขภาพดิน พร้อมเรียกร้องประเทศสมาชิกให้ร่วมมือปรับปรุงสุขภาพดินเพื่อความมั่นคงทางอาหารและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

การประชุมคู่ขนาน United Nations decade on Soil Health เป็นเวทีสำหรับผู้บริหารระดับประเทศ นักวิชาการ และเกษตรกรได้นำเสนอแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในการกำหนดทิศทางระบบการจัดการสุขภาพดินเพื่อสร้างอนาคตที่ดีและเร่งดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”

                      “นฤมล”ย้ำการปรับปรุงสุขภาพดินเพื่อความมั่นคงทางอาหาร

นางนฤมล กล่าวต่อว่า ระหว่างการประชุมได้มีการเสวนา โดยผู้ช่วยรัฐมนตรีจากประเทศกัมพูชา อิหร่าน เปรู โตโก ตองก้า และ หมู่เกาะคุก ได้นำเสนอองค์ประกอบสำคัญที่เกี่ยวข้องการปรับปรุงสุขภาพดินของแต่ละประเทศ รวมถึงข้อเสนอในการจัดทำแผนการปรับปรุงสุขภาพดินในระดับโลก 

สลับด้วยการอภิปรายจากกลุ่มผู้แทนเกษตรกรจากประเทศไทย โคลอมเบีย เม็กซิโก และบูกีนา ฟาโซ ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางที่เป็นเลิศในการจัดการดินและนำเสนอความคิดและความคาดหวังให้แก่ผู้นำประเทศได้รับทราบถึงมุมมองของเกษตรกรในการปรับปรุงสุขภาพดิน 

การประชุมคู่ขนานในครั้งนี้ ได้เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมหารือในการดำเนินการขับเคลื่อนความร่วมมือ ในการจัดการดินเพื่อการเกษตรกรรม ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค และระดับโลกเพื่อนำไปสู่อนาคตที่มั่นคง ยั่งยืน และปราศจากความหิวโหยมากขึ้นสำหรับทุกคน