ผ่าแนวคิด "นฤมล ภิญโญสินวัฒน์" ดันเกษตรกรพ้นกับดัก"ยากจน"

06 ธ.ค. 2567 | 04:30 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ธ.ค. 2567 | 17:58 น.

หากเอ่ยชื่อ “ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” หรือ “อาจารย์แหม่ม” เมื่อ 7 ปีก่อน คงไม่มีใครคาดคิดว่าชื่อนี้ จะก้าวขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย ต่อจากคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯหญิงคนแรก

ทั้งนี้ ก็เพราะครอบครัว “อาจารย์แหม่ม” ไม่ได้มีพื้นเพทางการเมือง แต่เป็นครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน มีพี่น้อง 6 คน พ่อเป็นหลงจู๊ เซลล์ขายซีอิ๊ว (ตราเด็กสมบูรณ์) ส่วนแม่ เป็นแม่บ้านและมีอาชีพเสริมทำร้านอาหารขายแถวหน้าปากซอยบ้าน 

 ศ.ดร.นฤมลเล่าว่า ในวัยเด็ก ครอบครัวมีรายได้ไม่มาก และคิดเสมอว่า จะทำอย่างไรให้หลุดพ้นจากความยากลำบาก และให้ได้รับโอกาสเท่าเทียมกับคนอื่นที่มีความพร้อมมากกว่า ซึ่งความคิดในตอนนั้นคือ จะต้องตั้งใจเรียน เพราะมีความคิดว่า “การศึกษา” จะทำให้หลุดพ้นจากความยากจน

ผ่าแนวคิด \"นฤมล ภิญโญสินวัฒน์\" ดันเกษตรกรพ้นกับดัก\"ยากจน\"

บันไดขั้นแรก “นฤมล” สามารถสอบเอ็นทรานซ์เข้าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เป็นผลสำเร็จ ก่อนจะสอบชิงทุนไปศึกษาต่อจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (คณิตศาสตร์ประยุกต์) มหาวิทยาลัยรัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา, ปริญญาโท บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (เศรษฐศาสตร์ประยุกต์) และปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (การเงิน) จากวิทยาลัยวอร์ตันแห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา

หลังจบการศึกษาได้มาเป็นอาจารย์สอนที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า และเป็นที่ปรึกษาด้านการเงินและการบริหารความเสี่ยงทางการเงิน ทั้งธนาคาร ตลาดหลักทรัพย์ และกรรมการรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง ก่อนจะถูกพลเอกศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (สมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์) ชักชวนไปเป็นที่ปรึกษา ดูแลด้านกองทุนประกันสังคม ที่มีความเสี่ยงว่า เม็ดเงินจะมีไม่เพียงพอสำหรับผู้ประกันตนในอนาคต  

ต่อมาได้รับการติดต่อจากนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (สมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์) ชักชวนไปเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ให้ดูแลเรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และสินทรัพย์ดิจิทัลที่กำลังเพิ่งเกิดขึ้น จากนั้นได้ลาออก เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 ในนามพรรคพลังประชารัฐ ได้เป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อลำดับที่ 5 ของพรรค

 “เข้าสภา ประชุมได้ 2 เดือน ก็ถูกแต่งตั้งเป็นโฆษกรัฐบาลสมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ทำให้ได้เรียนรู้งานในระดับของรัฐบาล เรื่องงานบริหารราชการแผ่นดิน เรื่องของการต่างประเทศ และเรื่องการติดต่องานกับหน่วยงานต่างๆ”

 

ผ่าแนวคิด \"นฤมล ภิญโญสินวัฒน์\" ดันเกษตรกรพ้นกับดัก\"ยากจน\"

ปีถัดมา (ส.ค. 2563) ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ก็เริ่มมีประสบการณ์ในการบริหารหน่วยราชการ และในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย แต่เกิดอุบัติเหตุทางการเมือง และมีการฟอร์มทีมรัฐบาลใหม่ ได้รับการทาบทามจากรัฐบาล “แพทองธาร ชินวัตร” ให้มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ศ.ดร.นฤมล กล่าวว่า ในเวทีการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดินที่ผ่านมา สัดส่วนของผู้หญิงจะมีค่อนข้างน้อย แต่ช่วงนี้ดีขึ้น ช่วงที่เป็นรมช.ก็มีแค่ 3-4 คน ที่เป็นผู้หญิงจากคณะรัฐมนตรี 36 คน แต่มารัฐบาลนี้ด้วยความบังเอิญ หรือมีการจัดสัดส่วนให้ผู้หญิงเพิ่มมากขึ้น จึงมีถึง 8 คน ก็รู้สึกมีคนที่เข้าใจบทบาทของผู้หญิงในเวทีการเมืองมากขึ้น

“ส่วนตัวเชื่อว่า นักการเมืองไทยใจกว้าง รวมทั้งพี่น้องประชาชนก็ใจกว้างพอ ซึ่งจะเห็นว่า แม้ผู้หญิงที่เข้ามาทำงานการเมืองถึงจะมีไม่เยอะ แต่ก็มีความตั้งใจกันทั้งนั้น จึงอยากจะนำความรู้และประสบการณ์ที่มีมาช่วยในมิติที่เราสามารถจะช่วยได้”

อีกข้อจำกัดที่อยากจะบอกก็คือ หลายคนที่มองผู้หญิงมักจะบอกว่า ให้ไปทำเรื่องสตรีและเด็ก เรื่องยุติความรุนแรง เรื่องนี้ไม่ได้ต่อต้าน แต่บทบาทของผู้หญิงไม่น่าที่จะจำกัดอยู่แค่ตรงนั้น ความจริงเป็นผู้ชายก็สามารถที่จะเป็นปากเสียงให้กับสตรีและเด็กได้ ขณะที่ผู้หญิงก็สามารถไปทำหน้าที่เป็นตัวแทนด้านการพัฒนาอื่นๆ ได้เช่นเดียวกัน ก็อยากให้สังคมเปิดใจรับ”

สำหรับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นกระทรวงใหญ่ การบริหารงานหลายคนจะรู้สึกว่ายาก เพราะมีหลายสิ่งที่จะต้องไปเชื่อมโยงบริหารทำความเข้าใจ แต่สมัยนี้มองเป็นจังหวะที่ดีมาก เนื่องจากทีมงาน รัฐมนตรี และทีมงานทั้งหมดของกระทรวงฯเวลานี้เป็นทีมเดียวกัน เป็นครอบครัวเกษตรกรด้วยกัน ก็ไม่มีความขัดแย้งแม้จะมาจากต่างพรรค

ตัวอย่างในการจัดทำงบประมาณปี 2569 ถือเป็นครั้งแรกของกระทรวงเกษตรฯ ที่ทำงบประมาณแบบบูรณาการ โดยนำเป้าหมาย และผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกรเป็นที่ตั้ง แล้วนำทุกกรมเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำแผนเพื่อไปสู่เป้าหมายด้วยกัน จากในอดีตที่ผ่านมาแต่ละกรมก็จะมีแผนงาน แผนงบประมาณ และแผนบุคลากรของตัวเอง ทำให้ติดกรอบ แยกการบริหาร แยกการทำงาน ทั้งที่จริงองคาพยพในกระทรวงเกษตรฯ สามารถทำงานบูรณาการเพื่อไปสู่เป้าหมายที่ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรให้หลุดพ้นจากความยากจนได้

 

ผ่าแนวคิด \"นฤมล ภิญโญสินวัฒน์\" ดันเกษตรกรพ้นกับดัก\"ยากจน\"

ขณะเดียวกัน นอกจากบริหารงานภายในกระทรวงด้วยกันแล้ว ยังต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นด้วย ภายใต้สโลแกน “ตลาดนำ” กระทรวงเกษตรฯ ที่เป็นฝ่ายผลิต ก็ต้องทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ที่เป็นฝ่ายตลาดและต้องทำงานร่วมกับภาคเอกชนที่เป็นผู้ส่งออก หรือผู้รับซื้อต่างประเทศ ก็ต้องประสานงานกัน และต้องทำงานเชิงรุกด้วย

ศ.ดร.นฤมล กล่าวถึงหลักการในการทำงานว่า ช่วงเป็นอาจารย์สอน พูดอะไรนักศึกษาก็เชื่อหมด จึงต้องมั่นใจว่า สิ่งที่พูดออกไปต้องตรวจสอบได้ มีเอกสารอ้างอิง รวมถึงมีทฤษฎีต่างๆ รองรับ พอไปเป็นที่ปรึกษา ก็เป็นอีกบทบาทหนึ่ง พอเข้ามาอยู่ในวงการเมืองก็เป็นอีกแบบหนึ่ง การจะมาสร้างการยอมรับใหม่ ที่ได้ใช้เวลามา 7-8 ปีแล้ว ก็น่าจะพอไหว

ผ่าแนวคิด \"นฤมล ภิญโญสินวัฒน์\" ดันเกษตรกรพ้นกับดัก\"ยากจน\"

สิ่งที่ฝันอยากจะเห็นภาพเกษตรกรไทยในอนาคต ไม่ต้องการให้เกษตรกรมารับความเสี่ยงอยู่ฝ่ายเดียวอีกต่อไป ซึ่งไม่ว่ารัฐบาลใดก็พยายามแก้หนี้เกษตรกร ทำราคาสินค้าเกษตรให้สูง เพราะตราบใดที่รายได้ยังน้อยกว่าค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนการผลิต เกษตรกรก็จะยังไม่สามารถออกจากกับดักความยากจนได้ และยังต้องเผชิญความเสี่ยงมากมาย อาทิ ปลูกพืชไปแล้วไม่เป็นไปตามที่คาดหมาย ปลูกไปแล้วไม่มีน้ำ เกิดภัยแล้ง เกิดน้ำท่วม สร้างความเสียหาย

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,050 วันที่ 5 - 7 ธันวาคม พ.ศ. 2567