ก้าวใหม่ “การบินไทย” หลังพ้นแผนฟื้นฟู ทวงคืนมาร์เก็ตแชร์ ขยายฝูงบิน 150 ลำ

11 ธ.ค. 2567 | 10:37 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ธ.ค. 2567 | 10:58 น.

การบินไทยอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างทุนจะแล้วเสร็จในเดือนธ.ค.นี้ เพื่อเตรียมออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ และกลับเข้ามาซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไตรมาส 2 ปีหน้า ซึ่งก้าวใหม่ หลังออกจากแผนฟื้นฟู จะมีทิศทางในการเดินหน้าธุรกิจอย่างไร ชาย เอี่ยมศิริ ซีอีโอการบินไทย มีคำตอบ

หลังจากเมื่อวันที่ 19-21 พ.ย.ที่ผ่านมาการบินไทยได้เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน เพื่อรองรับการแปลงหนี้เป็นทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งผู้ถือหุ้นเดิมของการบินไทยทั้งกระทรวงการคลัง เจ้าหนี้หุ้นกู้ เจ้าหนี้สถาบันการเงินได้แปลงหนี้เป็นทุนทั้งในแบบภาคบังคับที่ศาลกำหนด การแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มทุน แบบสมัครใจ และการแปลงดอกเบี้ยตั้งพักใหม่เป็นทุน แล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น

เจ้าหนี้การบินไทยใช้สิทธิ์แปลงหนี้เป็นทุน 5.3 หมื่นล้าน

โดยกระทรวงการคลังใช้สิทธิตามแผนฟื้นฟู 100% ขณะที่เจ้าหนี้หุ้นกู้ และเจ้าหน้าสถาบันการเงิน ใช้สิทธิ 24.5 % ตามแผน และยังมีต้องการเกิน 3 เท่าอีกด้วย โดยที่ผ่านมามีจำนวนหุ้นที่จัดสรรสำหรับการแปลงหนี้เป็นทุนรวม 20,989.4 ล้านหุ้น มูลค่าที่แปลงหนี้เป็นทุนอยู่ที่ 53,453.2 ล้านบาท ส่งผลให้การบินไทยมีส่วนของทุนเป็นบวกอยู่ที่ 18,000 ล้านบาทแล้ว

การปรับโครงสร้างทุนของการบินไทย

ขายหุ้นเพิ่มทุนไม่เกิน 9.8 พันล้านหุ้น

ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน อีกไม่เกิน 9,822.5 ล้านหุ้น ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมก่อน ถ้าเหลือก็จะขายให้แก่พนักงานการบินไทย และบุคคลในวงจำกัด ( Private Placement) ตามลำดับ คิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 44,004.7 ล้านบาท ราคาเสนอขาย 4.48 บาทต่อหุ้น เปิดจองและชำระเงินในวันที่ 6 – 12 ธ.ค.นี้ เพื่อให้การบินไทยออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2568

ตั้งเป้าธุรกิจเติบโต 4%

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงทิศทางการบินไทยหลังออกจากแผนฟื้นฟู การบินไทยต้องกลับมาเติบโตอย่างยั่งยืน โดยตั้งเป้าการเติบโตไว้ที่ 4% กลยุทธสำคัญ คือ การปรับกระบวนโครงสร้างเครือข่ายทางการบิน ซึ่งในอดีตการบินไทยจะเน้นการขายตั๋วแบบจุดต่อจุด หรือ พ้อยท์ทูพ้อยท์ เช่น การขายตั๋วจาก 10 จุดบินในยุโรปเข้ากรุงเทพฯ แต่จริงๆโอกาสมีมากกว่านั้น

ชาย เอี่ยมศิริ

เราจึงเพิ่มการขายผู้โดยสารแบบคอนเน็กติ้งไฟล์ต จากกรุงเทพฯผู้โดยสารต่อไปยังประเทศในกลุ่ม CLMV เอเชีย ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นรูปแบบการขายเน็ตเวิร์ค และการร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรต่างๆทั้งกลุ่มสตาร์อัลไลแอนซ์และนอกกลุ่มสตาร์อัลไลแอนซ์ เพื่อจะทำให้สายการบินอัตราการบรรทุกที่เพิ่มขึ้นได้มากกว่าปัจจุบันที่อยู่ที่ 80%

ทวงคืนมาร์เก็ตแชร์ เพิ่มเป็น 35% ในอีก 5 ปีข้างหน้า

เป้าหมายสำคัญคือต้องกลับมาเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในการทำธุรกิจขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งในอดีตเมื่อปี 2556 การบินไทยมีส่วนแบ่งตลาด ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อยู่ที่ 42% จากเครื่องบิน 100 ลำ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับสายการบินโฮมเบสของโลกมี แต่ที่ผ่านมาด้วยความที่การบินไทยประสบปัญหาขาดทุนมา ทำให้ต้องยกเลิกเส้นทางต่างๆที่ขาดทุนมากๆไป การลดกำลังการผลิตของการบินไทย ในขณะที่สายการบินอื่นๆโตขึ้น ทำให้จนถึงปี 2566

การบินไทยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 28% จากเครื่องบิน 70 ลำ เป้าหมายคือ ในอีก 5 ปีข้างหน้า เราต้องกลับมามีนส่วนแบ่งตลาดเพิ่มเป็น 35% ด้วยเครื่องบินจำนวน 143 ลำในปี 2572 โดยล่าสุดในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 เรามีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 26% ด้วยเครื่องบิน 77 ลำ

การบินไทยขยายฝูงบิน 150 ลำในปี 2576

การบริหารจัดการต้นทุนเป็นหัวใจ การเกิดโควิดทำให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ทำให้มีการเจรจายกเลิกสัญญาเช่าเครื่องบินที่ไม่มีประสิทธิภาพออกไป และเจรจาเครื่องบินที่เป็นไปตามยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจในอนาคต โดยในระยะยาวในปี 2576 การบินไทยจะเหลือเครื่องบิน 4 แบบ เป็นเครื่องบินลำตัวกว้าง 3 แบบ และลำตัวแคบ 1 แบบ จากจำนวนฝูงบินรวม 150 ลำ ในปี 2576 เป็นเครื่องบินลำตัวแคบ 52 ลำ เครื่องบินลำตัวกว้าง 98 ลำ

การจัดหาฝูงบินใหม่ที่เกิดขึ้นเราดูจากความต้องการในการทำธุรกิจและแนวโน้มของอุตสาหกรรมการบินของโลก โดยชี้ชัดว่าภูมิภาคเอเชีย จะเติบโตสูงสุดภายใน 20 ปีข้างหน้านี้ ที่ผ่านมาเราเรียกผู้ผลิตเครื่องบินและเครื่องยนต์ของโลก ได้แก่ โบอิ้ง, แอร์บัส, จีอี ,โรลส์-รอยซ์ และ Pratt&Whitney เข้ามาหารือโดยบอกชัดเจนว่าการจัดหาเครื่องบินจะดีลตรงกับผู้ผลิต 5 รายนี้เท่านั้นจะไม่คุยกับหน่วยงานใดหรือบุคคลใด และถ้าทราบว่ามีความพยายามล็อบบี้ไม่ว่าระดับใด ถ้ามีผลสะท้อน เราจะยุติการเจรจาทันที และแต่ละผู้ผลิตก็ไปเสนอรายละเอียดกลับมา

การบินไทย

เมื่อผู้ผลิตเสนอ proposal กลับมา การบินไทยไม่ได้ดูแค่ราคาถูกอย่างเดียว แต่ดูเรื่องค่าใช้จ่ายการซ่อมบำรุง รวมกันในอีก 12 ปีข้างหน้าด้วย เพื่อเลือกข้อเสนอที่ดีที่สุด จึงเป็นที่มาที่การบินไทยลงนามกับโบอิ้งในการจัดหาเครื่องบิน 80 ลำ เป็นโบอิ้ง 787 จำนวน 45 ลำ และอีก 35 ลำยังเป็นออปชั่น มีสิทธิที่จะเลือกได้ในอนาคต วิธีการจัดหายังไม่ได้ระบุว่าจะเป็นในรูปแบบใด

เพราะเป็นการตัดสินใจในอนาคต ที่ต้องพิจารณาจากหลายปัจจัย เช่นกระแสเงินสด ถ้ามีเงินสดก็ไม่จำเป็นต้องเช่าซื้อ และยังได้เจรจาและทำข้อตกลงกับ Lessor (ผู้ให้เช่าเครื่องบิน) เพื่อจัดหาเครื่องบินลำใหม่แอร์บัส เอ 321 จำนวน 32 ลำ

ทั้งนี้เครื่องบินโบอิ้ง 787 จำนวน 45 ลำ ล็อตแรกจะเข้ามาก่อน 30 ลำ ในช่วงปลายปี 2570 กระบวนการนี้ใช้เวลา 9 เดือน เราทำอย่างโปร่งใส ไม่มีนายหน้า ทำให้ได้เครื่องบินที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ แตกต่างจากกระบวนการจัดหาเครื่องบินในอดีตที่ใช้เวลา 3-4 ปี ทำให้กว่าเครื่องบินจะได้ก็ตกรุ่นไปแล้ว

เครื่องบินโบอิ้ง 787 ที่การบินไทยจะรับมอบเข้ามา ไม่มีเฟิร์สคลาส เพราะมองว่าเทรนด์โลกเปลี่ยน ประกอบกับเก้าอี้ในชั้นธุรกิจ วันนี้ผลิตภัณฑ์ก็ไม่ต่างจากเฟิร์สคลาสมากเหมือนในอดีต นอกจากนี้การบินไทยจะปรับปรุงฝูงบินที่เรามี อย่างโบอิ้ง 777-300 ER จำนวน 14 ลำ ซึ่งจะเป็นเก้าอี้บิสิเนสคลาสรุ่นใหม่ล่าสุดที่ยังไม่มีใครใช้เลย และการปรับปรุงเก้าอี้ชั้นธุรกิจของแอร์บัสเอ 320 จำนวน 20 ลำที่เคยเป็นของไทยสมายล์เดิม ซึ่งจะทำให้ต่อไปการบินไทยจะมีโปรดักส์ที่ดีและแข่งขันได้

นอกจากนี้การบินไทยยังจะเน้นการปรับปรุงช่องทางการขาย ที่จะเน้นขายตรงผ่านเว็บไซด์ของการบินไทย การขายผ่านเอเย่นต์ออนไลน์ การขายตรงของการบินไทย ให้เพิ่มขึ้น ขณะที่ช่องทางการขายผ่านเอเย่นต์ทัวร์ก็จะลดลง ซึ่งตั้งเป้าเพิ่มช่องทางขายจากการขายตรงเพิ่มจาก 33% ในปีที่ผ่านมา เพิ่มเป็น 35% และจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ โดยในปีหน้าการบินไทยจะมีการปรับปรุงโมบายด์ แอพพลิเคชั่น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจองตั๋วเครื่องบิน

รวมถึงการให้ความสำคัญในการควบคุมค่าใช้จ่าย ที่ผ่านมาการบินไทยลดพนักงานจาก 3 หมื่นคน วันนี้เหลือ 1.7 หมื่นคน ซึ่งการรับพนักงานเพิ่มส่วนใหญ่จะเป็นฝ่ายปฏิบัติการบิน ซึ่งเราจะควบคุมค่าใช้จ่ายบุคคลากรต่อรายได้ให้เหมาะสม ในอดีตเคยอยู่ที่ 23% วันนี้เป้าหมายอยู่ที่ 13% เพื่อให้การบินไทยกลับมาเติบโตอย่างเข้มแข็งยิ่งกว่าเดิม

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,049 วันที่ 1 - 4 ธันวาคม พ.ศ. 2567