อัพเดท! เงินดิจิทัล หมื่นบาท เฟส 2 เปิดให้ผู้สูงวัยรับสิทธิ์

09 ธ.ค. 2567 | 06:07 น.
9.8 k

กระทรวงการคลังเตรียมแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เฟส 2 เฉพาะผู้สูงอายุ 60+ ที่ยังไม่เคยได้รับสิทธิ์ คาดกลุ่มเป้าหมาย 3 ล้านราย

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เฟส 2 สำหรับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป หากเป็นผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ เข้าเงื่อนไข ไม่มีทรัพย์สิน และรายได้เกินเกณฑ์ที่กำหนดไว้ รวมทั้งยังไม่ได้รับสิทธิจากการดูแลกลุ่มเปราะบางในเฟสแรก ก็จะได้รับเงิน 10,000 บาท ซึ่งประมาณการว่ามีประชาชนกลุ่มเป้าหมาย 3 ล้านกว่าราย 

“ประชาชนที่ลงทะเบียนร่วมโครงการดิจิทัล วอลเล็ต มีจำนวน 36-40 ล้านคน แล้วหักคนที่ได้รับสิทธิออกไป 13-14 ล้านคน ซึ่งเฟส 2 นี้ ก็จะดูจำนวนประชาชนที่ลงทะเบียนไว้อายุ 60 ปีขึ้นไป แล้วก็จะไปดูเงื่อนไขว่าเข้าเกณฑ์ที่โครงการกำหนดกี่ราย ยืนยันว่าจะไม่มีประชาชนที่ได้รับสิทธิผ่านโครงการซ้ำซ้อนแน่นอน”

ทั้งนี้ หากเดินหน้าแจกเงินดิจิทัล เฟส 2 สำหรับผู้สูงอายุแล้ว จะเหลือจำนวนประชาชนที่ยังไม่ได้ดูแลอยู่ประมาณ 23-24 ล้านคน โดยจำนวนดังกล่าวนี้ กระทรวงการคลังก็จะเดินหน้าตรวจสอบคุณสมบัติต่อไป ว่าผ่านเงื่อนไขโครงการตามที่กำหนดหรือไม่ ขณะที่กลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟน จะเป็นกลุ่มที่ดูแลลำดับสุดท้าย หากระบบมีความพร้อมแล้ว จะเปิดให้ลงทะเบียนต่อไป

“เราประเมินว่ากลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟน ส่วนหนึ่งอยู่ในกลุ่มเปราะบาง ที่ดำเนินการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ไปก่อนหน้านี้แล้ว 13-14 ล้านคน ขณะที่ผู้ได้รับสิทธิไปแล้วในกลุ่มเปราะบาง กรณีที่ยังไม่ได้เข้ามาดำเนินการผูกพร้อมเพย์ ประมาณ 4-5 หมื่นราย หากไม่ดำเนินการภายในวันที่ 19 ธ.ค.นี้ ก็จะดำเนินการตัดสิทธิตามเงื่อนไขโครงการ”

ส่วนกรณีที่สภาพัฒน์ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 นี้ จะขยายตัวได้ 2.8% ขณะที่กระทรวงการคลังประเมินว่าขยายตัวได้เพียง 2.7% นั้น เนื่องหน่วยงานประเมินผลของการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วทั้ง 2 หน่วยงานก็ต้องมาวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกัน

สำหรับการประเมินผลแจกเงินดิจิทัล ตามโมเดลสภาพัฒน์นั้น มองว่ากลุ่มเปราะบางที่ได้รับเงิน 10,000 บาท ใช้เงินหมดทันที ขณะที่กระทรวงการคลังมองว่าประชาชนกลุ่มดังกล่าวจะทยอยใช้จ่าย 

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังจะมีการประเมินผลการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท อย่างละเอียดว่ามีผลต่อเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง ซึ่งถือเป็นครั้งแรก สำหรับการประเมินโครงการที่ดำเนินการลักษณะนี้ เนื่องจากเดิมหน่วยงานเศรษฐกิจแต่ละแห่งจะมีการประเมินผลโดยใช้โมเดลของตัวเอง 

ทั้งนี้ ได้มีการสำรวจ ผ่าน 3 หน่วยงาน ได้แก่ มหาวิทยาลัยหอการค้า ที่สำรวจในฝั่งผู้ประกอบการ สวนดุสิตโพล สำรวจภาคประชาชน และสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งได้มีการไปเก็บตัวอย่างทุกหมู่บ้าน อำเภอ และตำบล 

“เมื่อได้ข้อมูลชุดดังกล่าวมาแล้ว กระทรวงการคลัง และสภาพัฒน์จะเป็นผู้วิเคราะห์เอง เพื่อประเมินความคุ้มค่า และผลต่อเศรษฐกิจ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนธ.ค.67 นี้”