นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ รัฐบาลจะมีความชัดเจนเรื่องการออกมาตรการแก้ไขหนี้ประชาชน ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์หนี้ครัวเรือนสูง อยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท วันนี้คนอ่อนเปลี้ย จากภาระหนี้ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี โดยมาตรการครั้งนี้จะเป็นการดูแลหนี้ทั้งธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินของรัฐ
ด้านนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในวันที่ 11 ธ.ค. 2567 กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถาบันการเงิน จะร่วมกันแถลงมาตรการแก้หนี้ของธนาคารพาณิชย์ ในส่วนของหนี้บ้าน รถ และเอสเอ็มอี
สำหรับเบื้องต้นจะมีผู้ร่วมแถลงข่าว ได้แก่ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และผู้บริหารสถาบันการเงิน
โดยรูปแบบของมาตรการแก้หนี้ ยกตัวอย่าง เช่น หากผู้เข้าร่วมมาตรการเป็นหนี้เสียสินเชื่อบ้าน ในช่วง 3 ปีที่เข้าโครงการ สามารถเลือกชำระค่างวดแบบเต็มจำนวนเดิม หรือเลือกผ่อนครึ่งหนึ่งก็ได้ โดยเงินที่ชำระมาจะนำไปตัดเงินต้น 100%
“รายละเอียดให้รอการแถลงข่าว เบื้องต้นเป็นวันที่ 11 ธ.ค. 2567 นี้ คาดว่าจะจัดที่ธปท. ส่วนตัวมองว่ามาตรการแก้หนี้ที่กำลังจะออกมาเป็นมาตรการที่ดี เนื่องจากปัจจุบันปัญหาการยึดบ้าน ยึดรถมีความรุนแรง ส่งผลเกี่ยวเนื่องไปยังซัพพลายเชนของธุรกิจเหล่านี้ด้วย”
ส่วนการลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (Financial Institutions Development Fund หรือ FIDF) เหลือ 0.23% จากเดิม 0.46% เพื่อตั้งกองทุนสำหรับมาตรการแก้หนี้นั้น มองว่าเป็นการออกแบบที่ดีแล้ว เนื่องจากเป็นกลไกที่จะทำให้เกิดการแข่งขันช่วยลูกหนี้ระหว่างสถาบันการเงิน
“เรื่องนี้ออกแบบไว้ดีแล้ว เพราะเงินถูกเก็บไว้เป็นกองกลาง ถ้าใครไม่ทำก็เหมือนลงเงินกองกลางฟรี แต่ใครทำได้เยอะก็กินเงินกองกลางได้มาก สมมติจะแก้หนี้ให้ 1 ราย ใช้เงิน 100 บาท แบงก์ก็มาใช้เงินกองกลางได้ 50 บาท และออกเอง 50 คือเป็นการแก้หนี้โดยใช้ต้นทุนของแบงก์แค่ครึ่งเดียว”
ทั้งนี้ การลดเงินนำส่งเข้ากองทุนฯ จะให้ยืดเวลาชำระหนี้ FIDF ออกไปอีก ถือเป็นสิ่งที่รัฐจะเสีย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การชำระหนี้ FIDF ใกล้จะครบวงเงินแล้ว เรามองว่า การลดเงินนำส่งเข้ากองทุน เพื่อยืดเวลาใช้หนี้ไป จะทำให้คนหายใจได้ ทำให้เศรษฐกิจหมุน ซึ่งมองในความคุ้มค่าส่วนนี้มากกว่า
ก่อนหน้านี้ นายนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การปรับโครงสร้างหนี้ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น จะได้รับการพักชำระดอกเบี้ยให้ 3 ปี จะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มหนี้บ้าน 2.หนี้รถยนต์ และ 3.เอสเอ็มอี โดยทั้ง 3 กลุ่มจะต้องเป็นหนี้เสียอายุไม่เกิน 1 ปี และต้องเป็นหนี้เสียภายใน 31 ต.ค.2567
“ทั้ง 3 กลุ่มมีจำนวนลูกหนี้ที่เข้าข่าย 2.3 ล้านบัญชี มูลหนี้รวม 1.31 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น กลุ่มหนี้บ้าน มีจำนวนลูกหนี้ที่เข้าข่ายจำนวน 4.6 แสนบัญชี มูลหนี้รวม 4.8 แสนล้านบาท กลุ่มหนี้รถยนต์ 1.4 ล้านบัญชี มูลหนี้รวม 3.7 แสนล้านบาท และกลุ่มหนี้เอสเอ็มอี มีลูกหนี้เข้าข่ายจำนวน 4.3 แสนบัญชี มูลหนี้รวม 4.54 แสนล้านบาท”
สำหรับอัตราดอกเบี้ยที่พักชำระหนี้ให้เป็นเวลา 3 ปีนั้น ทางกลุ่มสถาบันการเงินจะได้รับการชดเชยด้วยการลดอัตราเงินนำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ (FIDF) จากธนาคารพาณิชย์ ลงครึ่งหนึ่งเหลือ 0.23% ต่อปีจาก 0.46% ต่อปี เพื่อนำเงินนี้มาช่วยจ่ายดอกเบี้ยแทนทำให้ผู้ที่ชำระหนี้สามารถจ่ายชำระเงินต้น