KEY
POINTS
ในวันที่ 11 ธ.ค. 67 นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ประกันสังคม โดยจะมีการเสนอให้ปรับสูตรการคำนวณบำนาญชราภาพซึ่งอาจทำให้ต้องมีการใช้จ่ายงบประมาณที่มากขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์ของกองทุนประกันสังคม ที่หากคำนวณตามคณิตศาสตร์ประกันภัยแล้ว เงินกองทุนฯมีโอกาสที่จะเหลือ 0 บาท ภายในระยะเวลาไม่เกิน 30 ปี ต่อจากนี้ นั่นหมายความว่า ผู้ประกันตนมากกว่า 24 ล้านคน เสี่ยงที่จะไม่มีเงินดูแลจากกองทุนในยามแก่ชรา
รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน คณะกรรมการประกันสังคม ให้สัมภาษณ์กับรายการ ‘ฐานทอล์ก’ เปิดเผยแผนการปรับเปลี่ยนสูตรคำนวณบำนาญชราภาพครั้งสำคัญ จากเดิมจะเป็นการนำเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายก่อนเกษียณมาคิดเป็นฐานเงินบำนาญ เปลี่ยนเป็นการเฉลี่ยรายได้ตลอดอายุการทำงานของผู้ประกันตน เพื่อแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในระบบเดิม ที่ผู้ประกันตนบางรายได้รับเงินบำนาญลดลงอย่างมาก เนื่องจากฐานเงินเดือนช่วงท้ายต่ำลง
ตัวอย่างเช่น ผู้ประกันตนที่มีฐานเงินเดือน 15,000 บาทในช่วงต้นของการประกันตน แต่เมื่อใกล้เกษียณมีผู้ประกันตนหลายรายถูกปรับลดฐานเงินเดือน หรือบางรายไม่มีรายได้ โดยเฉพาะในช่วง 60 เดือนสุดท้าย ก็จะทำให้ได้รับเงินบำนาญที่น้อยมาก ๆ บางรายรับเงินบำนาญเพียง 2,000-3,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น
“หากเปลี่ยนสูตรใหม่ การเฉลี่ยตลอดอายุการทำงานจะทำให้ผู้ประกันตนได้รับเงินบำนาญที่สอดคล้องกับรายได้จริงมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้ คาดว่าจะใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นราว 800-1,000 ล้านบาทต่อปี แต่จะสร้างความเป็นธรรมและดึงดูดผู้ประกันตนกลับเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้มากขึ้น”
ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ โดยในไม่กี่ปีข้างหน้า จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าแรงงานในระบบอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะทำให้รายจ่ายของกองทุนประกันสังคมเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ
ข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคมระบุว่า ปี 2566 รายรับของกองทุนอยู่ที่ประมาณ 293,215 ล้านบาท ขณะที่รายจ่ายอยู่ที่ 156,779 แต่ในไตรมาสแรกของปี 67 รายรับของกองทุนอยู่ที่ 100,862 ล้านบาท ส่วนรายจ่ายอยู่ที่ 49,374 ล้านบาท ซึ่งดูจากตัวเลขแล้วยังมีรายได้ที่เพียงพอรายจ่าย
ขณะเดียวกันเงินสมทบสะสม และผลประโยชน์สะสมจากการลงทุน ย้อนหลัง 10 ปี (ปี 2558-2567) ยังคงมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างปี 2566 มูลค่าของกองทุนฯ อยู่ที่ 2,439,912 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2567 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 2,586,369 ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ระบุว่า นิ่งนอนใจไม่ได้ เพราะมูลค่าของกองทุนกำลังจะเข้าสู่รูปแบบระฆังคว่ำ
“ปัจจุบัน เราอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่อนาคตมันจะลดลง เพราะแรงงานลดลง ตามการคำนวณคณิตศาสตร์ประกันภัย กองทุนฯ จะเป็น 0 บาท ภายในเวลา 26 ปี ดังนั้น การจัดการ Aging Society จำเป็นต้องมองประกันสังคมเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ รัฐบาลควรสนับสนุนเชิงงบประมาณอย่างต่อเนื่อง ไม่ต่างจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอื่น เช่น ถนนหรือระบบขนส่งสาธารณะ”
เพื่อเพิ่มความยั่งยืนของกองทุนประกันสังคม สำนักงานประกันสังคมได้เริ่มปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุน โดยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น สินทรัพย์นอกตลาด (Private Equity) และการลงทุนในต่างประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาสินทรัพย์ในประเทศ
ข้อมูลการลงทุนปัจจุบัน :
เป้าหมายการลงทุนใหม่ตั้งไว้ที่ผลตอบแทน 5.3% ต่อปี ซึ่งจะช่วยยืดอายุกองทุนออกไปได้ 3-4 ปี และหากผลตอบแทนแตะ 7% ต่อปี จะสามารถขยายอายุกองทุนไปได้มากกว่า 10 ปี โดยการที่จะไปถึงจุดนั้น ต้องขยายการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงให้ได้มากขึ้น ซึ่งเฟสแรกได้เริ่มดำเนินการแล้วให้ลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มเป็น 40% และวางแผนขยายสู่ 50% ในอนาคต
“หากเราสามารถเพิ่มผลตอบแทนได้เพียง 1% เช่น จาก 5% เป็น 6% จะหมายถึงรายได้เพิ่มขึ้น 20,000-30,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งสามารถนำไปลงทุนต่อยอดและขยายสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนได้มากขึ้น” รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าว
หนึ่งในประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงในขณะนี้คือการเพิ่มค่ารักษาพยาบาลในระบบประกันสังคม โดยเฉพาะการปรับค่า Adjust RW สำหรับผู้ป่วยในจาก 8,000 บาทเป็น 12,000 บาท ซึ่งจะเพิ่มต้นทุนให้กองทุนปีละ 4,000-9,000 ล้านบาทในปี 2571
ปัจจุบันค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลในกองทุนฯ คิดเป็น กว่า 80% ของรายจ่ายในกองนี้ หากไม่มีระบบตรวจสอบที่เข้มงวด อาจทำให้เงินกองทุนติดลบเร็วขึ้น สิ่งสำคัญคือการออกแบบระบบตรวจสอบ (Audit) ที่โปร่งใส เพื่อให้การเบิกจ่ายสอดคล้องกับความเป็นจริง ลดการรั่วไหล และรักษาความมั่นคงระยะยาว
การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของสำนักงานประกันสังคมในครั้งนี้สะท้อนถึงความพยายามในการยกระดับระบบประกันสังคมให้ตอบโจทย์ความเป็นธรรม และเตรียมพร้อมรับมือกับสังคมผู้สูงอายุในอนาคต ขณะที่ผู้ประกันตนกว่า 24 ล้านคนทั่วประเทศจับตามองว่าการปรับเปลี่ยนเหล่านี้จะสร้างผลกระทบเชิงบวกได้มากน้อยเพียงใด