รายงานข่าวจากการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) เผยว่า ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย พร้อมผู้บริหาร กยท. ได้ให้การต้อนรับ Ms. Li Suman รองประธานสภาที่ปรึกษาทางการเมืองประชาชนจีน (CPPCC) ประจำเมืองชิงเต่า และคณะผู้แทนการค้าการลงทุนจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อร่วมประชุมเจรจาการลงทุนซื้อขายยางธรรมชาติ พร้อมขับเคลื่อนความร่วมมือทางการค้าอย่างเป็นรูปธรรม
ดร.เพิก กล่าวว่า การประชุมเจรจาความร่วมมือในครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือที่ดีที่จะช่วยยกระดับมูลค่าให้กับยางพาราของประเทศ
"ทั้งนี้ไทยในฐานะประเทศผู้ผลิตยางพาราหลักของโลก จะทำให้เกิดประโยชน์กับทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของไทยและจีนตลอดห่วงโซ่อุปทานอย่างแน่นอน นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสอันดีในการต่อยอดความร่วมมือด้านอื่น ๆ ในอนาคตร่วมกัน เนื่องจากจีนเป็นประเทศผู้นำเข้าและผู้ผลิตยางรายใหญ่ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาและสร้างการเติบโตของอุตสาหกรรมด้านยางพาราทั้ง 2 ประเทศควบคู่ไปพร้อมกัน"
ด้านนายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อเดือนกันยายน ที่ผ่านมา ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ได้นำคณะผู้บริหาร กยท. พร้อมด้วยผู้นำคณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางระดับประเทศ ได้เข้าร่วมประชุมและศึกษาดูงาน ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเจรจาความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนด้านยางพาราระหว่างไทยและจีน
สำหรับในวันนี้ กยท. ได้มีโอกาสต้อนรับ Ms. Li Suman รองประธานสภาที่ปรึกษาทางการเมืองประชาชนจีน (CPPCC) ประจำเมืองชิงเต่า และคณะผู้แทนการค้าการลงทุนจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมจัดประชุมเจรจาความร่วมมือและร่วมลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงระหว่าง กยท. และตัวแทนที่ได้รับอนุญาตจากสมาคมอุตสาหกรรมหมุนเวียนยางชิงเต่าของจีน เพื่อร่วมกันหารือและกำหนดแนวทางความร่วมมือทางการค้าด้านยางพาราระหว่างไทยและจีนให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
อีกทั้งยังเป็นการเชื่อมสัมพันธ์และสร้างพันธมิตรอันดีกับประเทศคู่ค้าด้านยางพาราที่สำคัญในระดับสากลอีกด้วย
Ms. Li Suman กล่าวว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจาก กยท. และขอบคุณสำหรับการสนับสนุนความร่วมมืออย่างเหนียวแน่นด้านยางพาราไทยตลอดเวลาที่ผ่านมา สำหรับเมืองชิงเต่าเป็นเมืองชายฝั่งทางภาคเหนือของจีนที่มีการทำอุตสาหกรรมด้านยางพาราจำนวนมากและกินส่วนแบ่งทางการตลาดมากเป็นอันดับต้น ๆ ของจีน
อีกทั้งยังมีความต้องการวัตถุดิบยางพาราธรรมชาติเพื่อนำไปใช้ในกระบวนการผลิตภาคอุตสาหกรรมด้านยางพารา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางรถยนต์ ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลกที่เมืองชิงเต่าให้ความสำคัญ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเจรจาความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นการสร้างพันธมิตรทางการค้าด้านยางพาราที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าทางการค้าระหว่างประเทศร่วมกันได้
นายสุขทัศน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการเจรจาความร่วมมือทางการค้าด้านยางพาราในครั้งนี้ ทางจีนได้ตกลงร่วมกันกับ กยท. ในการทำสัญญาซื้อขายยาง โดยมีเป้าหมายการส่งผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติ จำนวน 200,000 ตัน ในระยะเวลา 12 เดือน
ความร่วมมือทางการค้าในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับยางพาราไทย เนื่องจากประเทศจีนเป็นประเทศจุดหมายปลายทางที่สำคัญอย่างมากในการส่งออกยางพารา โดยเฉพาะเขตเมืองชิงเต่า ซึ่งเป็นเมืองชายฝั่งของจีนที่รายล้อมไปด้วยกลุ่มผู้นำอุตสาหกรรมผลิตยางรถยนต์มากมาย และมีความต้องการใช้วัตถุดิบยางพาราปริมาณมากเพื่อนำไปใช้ในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมต่อไป