ลั่นขายยางชิโนเคมกำไรชัวร์ ‘เชาว์’ท้าขาดทุนลาออก/ควบ 3 หน่วยงานกยท.ยังวุ่น

12 พ.ค. 2559 | 16:00 น.
อัปเดตล่าสุด :12 พ.ค. 2559 | 17:25 น.
"เชาว์" ท้าลาออก หากขายยางชิโนเคม 2 แสนขาดทุน เผย กยท. มีแต้มต่อจีนให้ค่าพรีเมียม 3 หยวนต่อกก. ยันมีกำไรชัวร์ เตรียมตั้งบริษัทลูก ตาม พ.ร.บ.การยางฯ ทำธุรกิจซื้อขายยางครบวงจร มุ่งตลาดใหม่ลดพึ่งจีน อีกด้านปรับโครงสร้าง กยท. ควบรวม 3 หน่วยงานยังวุ่น วงในปูดเกษตรกร-พนักงาน นัดชุมนุม 11 พ.ค. จี้ผู้ว่าฯเคลียร์ปัญหาสงบศึก หวั่นกระทบบริหารยางทั้งระบบ

[caption id="attachment_52205" align="aligncenter" width="700"] 3 โมเดลการซื้อยางของ กยท.ป้อนชิโนคมกรุ๊ป 3 โมเดลการซื้อยางของ กยท.ป้อนชิโนคมกรุ๊ป[/caption]

นายเชาว์ ทรงอาวุธ รักษาการตำแหน่งรองผู้ว่าการด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิตยาง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.)รัฐวิสาหกิจใหม่ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงโครงการซื้อขายผลิตภัณฑ์ยางระหว่างฝ่าย กยท.กับชิโนเคมกรุ๊ปจากจีน ปริมาณ 2 แสนตัน โดยเป็นยางแผ่นรมควันชั้น 3 จำนวน 1.5 แสนตัน และยางแท่ง STR 20 จำนวน 5 หมื่นตัน กำหนดส่งมอบ 12 เดือน เฉลี่ยเดือนละ 1.66 หมื่นตัน ตามสัญญาเริ่มส่งมอบตั้งแต่เดือนมีนาคม 2559 สิ้นสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2560 (รวม 12 เดือน) นั้น ล่าสุดได้มีการส่งมอบสินค้างวดแรกแล้วจำนวน 1.66 หมื่นตัน ส่วนงวดที่ 2 ทางฝ่ายจีนต้องมาวางแอล/ซี เพื่อซื้อยางในงวดต่อไป ซึ่งหลังจากวางแอล/ซีแล้ว ทางกยท.จะซื้อยางจากเกษตรกรเพื่อส่งมอบต่อไป

"ผมมั่นใจว่าการซื้อขายยางให้กับชิโนเคม จะมีกำไรแน่นอน เพราะทางจีนให้ค่าพรีเมียมสินค้า 3 หยวน หรือประมาณ 15 บาทต่อกิโลกรัม ถ้าขายครบ 2 แสนตันแล้วขาดทุน ผมพร้อมที่จะลาออกทันที อย่างไรก็ดียอมรับว่าซื้อขายในลักษณะกึ่งองค์กรรัฐขยับตัวลำบากขาดความคล่องตัว ดังนั้นทาง กยท.จำเป็นที่จะต้องตั้งบริษัทลูกขึ้นมาเพื่อทำการซื้อขาย ซึ่งจะเป็นไปตามแผนดำเนินการตาม พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 ในการหาตลาดใหม่ เพื่อให้ราคายางในประเทศมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ได้แค่พึ่งตลาดจีนอย่างเดียว"

นายเชาว์ ขยายความอีกว่า ในสัญญากับชิโนเคมมีการตกลงขายผลิตภัณฑ์ยางที่ผลิตไม่เกิน 3 เดือน ซึ่งในจำนวนยางส่งมอบยางเฉลี่ยเดือนละ 1.66 หมื่นตัน แบ่งเป็น 10% ให้รับซื้อยางแผ่นรมควันที่ผลิตโดยเกษตรกรชาวสวนยางที่ได้รับการอนุมัติมาตรฐานการผลิต GMP ส่วนอีก 90% ของผลิตภัณฑ์ยางแต่ละชนิดให้ 7 บริษัทเป็นผู้ส่งมอบ ได้แก่ 1.บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) (บมจ.)2. บริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด (บจก.) 3.บจก. เซาท์แลนด์ฯ 4.บจก.ทองไทย 5.บจก.บี.ไรท์ 6. บจก. ยางไทยปักษ์ใต้ (เต็กบี้ห้าง) และ 7.บมจ.ไทยฮั้วยางพารา ล่าสุด บจก.ทองไทย ได้ขอถอนตัวจึงเหลืออีก 6 บริษัทที่จะผลิตส่งมอบ

ขณะที่แหล่งข่าวจาก กยท. เผย แนวทางดำเนินการในการรับซื้อยางป้อนชิโนเคมมี 3 แนวทาง ประกอบด้วย 1. กยท.ซื้อยางจากสถาบันเกษตรกร ทำสัญญาแบบ Long Term ในเงื่อนไขราคา F.O.B กับสถาบันเกษตรกร แนวทางที่ 2 กยท.ซื้อยางผ่านตลาดกลางทั้ง 6 แห่งและตลาดท้องถิ่น 108 แห่งตลาดในราคาตลาด และ 3.กยท.ทำสัญญาแบบ Long Term ในเงื่อนไขราคา F.O.B หรือซื้อตรงจากบริษัทผู้ผลิตโดยตรง(ดูตารางประกอบ)

ขณะที่ความคืบหน้าการปรับโครงสร้างของ กยท. โดยควบรวม 3 องค์กรเป็นหนึ่งเดียวได้แก่ องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) สถาบันวิจัยยาง (สวย.) และสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (ส.ก.ย.) ล่าสุด นายจิตติน วิเศษสมบัติ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึง นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่า กยท.เรื่องขอให้เพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งพนักงานให้รักษาการในตำแหน่งต่างๆ

สอดคล้องกับนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาการยางแห่งประเทศไทย ที่เผยว่า ปัญหาการปรับโครงสร้างของ กยท. โดยควบรวม 3 หน่วยงาน ยังมีการจัดสรรตำแหน่งไม่ลงตัว ซึ่งทราบว่าทางเจ้าหน้าที่ที่ได้รับผลกระทบ 3 หน่วยงาน รวมทั้งตัวแทนเกษตรกรจะนัดชุมนุมวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ที่ อ.ส.ย. บางขุนนนท์ แล้วจะเชิญผู้ว่ากยท.มาเจรจาเพื่อแก้ปัญหาภายในให้เสร็จสิ้น เพราะเกรงว่าการเปิดกรีดยางช่วงกลางเดือนพฤษภาคมนี้จะกระทบกับเกษตรกร และการบริหารยางพาราทั้งระบบจะมีปัญหาแน่นอน ส่วนวิธีการแก้ปัญหามองว่าง่ายมากโดยเสนอให้มีการแต่งตั้งรองผู้ว่า กยท. มาจาก 3 หน่วยงาน แล้วให้แต่ละหน่วยงานดูแลกันเองเชื่อว่าปัญหาจบแน่นอน เพราะงานไม่ซ้ำซ้อนกันอยู่แล้ว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,156 วันที่ 12 - 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2559