2 สัญญายางเอื้อจีนสุดลิ่มกยท.ใบ้กิน

08 ก.พ. 2561 | 20:37 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.พ. 2561 | 03:39 น.
กยท.สารภาพสิ้นไส้ 2 สัญญาซื้อขายยาง 6 แสนตันกับ “ไห่หนาน-ชิโนเคมกรุ๊ป” เสียค่าโง่ ฟ้องเรียกค่าเสียหายไม่ได้ เหตุสัญญาหละหลวม การตรวจสอบไม่รัดกุม แถมลักไก่เลิกสัญญา แต่ยังไม่แจ้งครม. สหภาพกัดไม่ปล่อย

แหล่งข่าวจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทางผู้บริหารระดับสูงสุดของกยท. ได้เขียนรายงานถึงคณะกรรมการบริหาร(บอร์ดการยางฯ) ถึงการซื้อขายยางพาราใน 2 สัญญา (ที่ทำให้ประเทศเสียประโยชน์) ได้แก่ 1. สัญญาซื้อขายยางระหว่างกยท.กับบริษัท ไห่หนาน รับเบอร์ กรุ๊ป (สิงคโปร์) ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ที่ได้รับมอบอำนาจจาก บจก. ไชน่า ไห่หนานฯ ประเทศจีน ให้เป็นตัวแทนซื้อขายยาง โดยมีผู้บริหารจากบริษัท เอ็มทีเซ็นเตอร์ เทรดฯ ใน ฐานะผู้รับมอบอำนาจเต็มจากบริษัท ไห่หนาน รับเบอร์ กรุ๊ป (สิงคโปร์) ดีเวลลอปเม้นท์ฯ เป็นดีลซื้อขายยางเก่าพ่วงยางใหม่ 4.08 แสนตัน ใน 2 โครงการคือ โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง แต่ส่งมอบยางรวมได้แค่ 3.5 หมื่นตัน

2.สัญญาระหว่างกยท.กับชิโนเคมกรุ๊ป ปริมาณยาง 2 แสนตัน แบ่งเป็นยางแผ่นรมควันชั้น 3 จำนวน 1.5 แสนตัน และยางแท่ง STR 20 จำนวน 5 หมื่นตัน กำหนดส่งมอบ 12 เดือน เฉลี่ยเดือนละ 1.66 หมื่นตัน ตามสัญญาเริ่มส่งมอบตั้งแต่เดือนมีนาคม 2559 สิ้นสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2560 (รวม 12 เดือน) ในสัญญายังระบุเป็นยางซื้อใหม่ ซึ่งสามารถส่งได้เพียงงวดแรกงวดเดียว พอจะส่งงวดที่ 2 มีปัญหาฝ่ายจีนอ้างสินค้าสูญหายตู้คอนเทนเนอร์ละ 1 ก้อน มีจำนวน 5 ตู้ หายไปทั้งหมด 5 ก้อน จึงขอให้แก้ปัญหาให้ได้ก่อน รวมทั้งอ้างสินค้าไม่มีคุณภาพ ในที่สุดทั้ง 2 สัญญาต้องเลิกรากันไป เรื่องนี้ กยท.ยอมรับว่าเสียค่าโง่ เพราะไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จากทั้ง 2 บริษัทได้เลย

TP15-3338-1 “ยกตัวอย่างสัญญาการซื้อขายระหว่างชิโนเคม กับกยท.เราเสียเปรียบมาก อาทิ กรณีเมื่อส่งยางไปที่ประเทศจีนแล้ว จะมีบริษัท C.I.Q ตรวจสอบคุณภาพ เมื่อเขาอ้างยางไม่ได้คุณภาพปฏิเสธการรับ ค่าใช้จ่ายในการขน กลับใครเป็นผู้จ่ายในสัญญาก็ไม่ได้ระบุ แล้วข้อตกลงการซื้อขาย ระบุชื่อบริษัท ผู้ประกอบการตามความต้องการของชิโนเคม กล่าวคือ ชิโนเคมไม่ต้องการซื้อขายยางจากกยท.โดยตรง แต่ต้องการซื้อยางจาก 6 บริษัทแปรรูปได้แก่ 1.บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด(มหาชน) (บมจ.) 2.บริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด (บจก.)3. บมจ.ไทยฮั้วยางพารา 4. บจก.ทองไทยรับเบอร์ 5.บจก. บี.ไรท์ รับเบอร์ และ 6.บจก.เต็กบีห้าง (ยางไทยปักษ์ใต้) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของชิโนเคม ซึ่งควรให้บริษัทนั้นๆ ลงนามในข้อตกลงเอง และออกค่าใช้จ่ายต่างๆ เอง ไม่ใช่ชิโนเคม ซื้อยางจากบริษัท แต่ให้กยท.เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย”

ส่วนสัญญาไห่หนาน ถือว่ามีความผิดพลาดอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะในโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชน (บัฟเฟอร์ฟันด์) เพื่อรับซื้อยางในราคาชี้นำตลาดสู่เป้าหมายที่ 60 บาท/กิโลกรัม (ยางแผ่นรมควันชั้น 3) ซึ่งการตั้งราคารับซื้อที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ และการผลิตยางหรือการแปรรูปยาง การเก็บรักษา การตรวจสอบคลังเก็บ การคัดเลือกคลังเก็บ การทำสัญญาประกันภัย ก็ไม่มีความชัดเจนไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้เมื่อความเสียหายเกิดขึ้นกับยางพารา

“จากที่กยท.ไม่มีแผนรองรับในการกำกับดูแลติดตาม ตรวจสอบ การบริหารงบประมาณโครงการให้เป็นไปอย่างรัดกุม และถูกต้องตามระเบียบการใช้งบประมาณ ทำให้ค่าใช้จ่ายสูงเกินความจำเป็น อย่างไรก็ดีการยกเลิกสัญญาการซื้อขายทั้ง 2 โครงการ ยังไม่ได้รายงานรัฐมนตรีใหม่ และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จากที่โครงการดังกล่าวมีมติ ครม.ควบคุม ดังนั้น การจะยกเลิกสัญญาอาจต้องได้รับความเห็นชอบจาก ครม.ก่อน”

ขณะที่นายจิตติน วิเศษสมบัติ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ (สร.) กยท. เผยความคืบหน้ากรณี กยท. จะมีการจัดจ้างเอกชนบริหารจัดเก็บค่าธรรมเนียมการส่งออกยางพารา (เซสส์) ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 มี 6 บริษัท ที่สนใจเข้าร่วมรับฟังคำชี้แจง ได้แก่ บจก.แพลทเนรา, บจก.ดาต้าวัน เอเชีย (ประเทศไทย), บจก.เอ็กเซลเล้นท์ (ประเทศไทย), บจก.โอเชียน ซอร์ส, บจก. เทลการ์ด และบจก.โลคัส เทเลคอมมูนิเคชั่น อิงค์ กำหนดการยื่นซองเอกสารข้อเสนอ ระหว่างวันที่ 2-4 เมษายน 2561 อัตราค่าจ้างไม่เกิน 5% ของค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บได้ ระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2561 ถึง 30 กันยายน 2566 จึงขอให้บอร์ด ทบทวนและยกเลิกการจ้างเอกชนเก็บเงินเซสส์ เพราะดูเสมือนว่าเป็นการปล้นเงิน ทำลายองค์กร และ ทำร้ายเกษตรกรชาวสวนยาง ที่แต่ละปีจัดเก็บได้เป็นหมื่นล้าน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,338 วันที่ 8 - 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว