ลงทะเบียนรับเงินเยียวยาน้ำท่วมใต้ 9,000 บาท ใช้เอกสารอะไรบ้าง เช็คที่นี่

05 ธ.ค. 2567 | 14:06 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ธ.ค. 2567 | 14:06 น.
17.2 k

ลงทะเบียนรับเงินเยียวยาน้ำท่วมใต้ 9,000 บาท ใช้เอกสารอะไรบ้าง เช็คที่นี่ หลัง ครม. เห็นชอบอนุมัติการใช้จ่ายเงินตามหลักเกณฑ์เงื่อนไข และวิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือ ผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2567

คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบปัญหาอุทกภัย หรือน้ำท่วมภาคใต้ โดยเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทยรายงาน รวมถึงอนุมัติการเพิ่มกรอบเงินทดลองของจังหวัดจากจังหวัดละ 20 ล้านบาท เป็น 50 ล้านบาท ใน 6 จังหวัดที่ประสบอุทกภัย ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส

นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบอนุมัติการใช้จ่ายเงินตามหลักเกณฑ์เงื่อนไข และวิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือ ผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2567 กรณีที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ดินถล่ม น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง ไม่เกิน 7 วัน 

และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย หรือที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมขัง ติดต่อกันเกินกว่า 7 วัน ให้ความช่วยเหลืออัตราเดียว ครัวเรือนละ 9,000 บาท จากเดิมในพื้นที่ 57 จังหวัด เพิ่มขึ้นอีก 16 จังหวัด รวมถึงจังหวัดภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบ เป็นจำนวนเงิน 5,000 ล้านบาท โดยให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการเร่งด่วนต่อไป
 

สำหรับงบประมาณดังกล่าวเป็นเงินเยียวยาให้กับทุกจังหวัดที่ประสบภัย เป็นการจ่ายตามหลักเกณฑ์เดียวกับทุกภาคที่ประสบภัยในช่วงที่ผ่านมา สูงสุดครัวเรือนละ 9,000 บาท ซึ่งการประเมินความเสียหายจะใช้ 2 หลักเกณฑ์ ประกอบด้วย 

  • 1.เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย น้ำท่วมขังไม่เกิน 7 วัน
  • 2.กรณีน้ำท่วมขังเกิน 7 วัน

ด้านขั้นตอนการลงทะเบียนรับเงินเยียวยาน้ำท่วม 2567 ประกอบด้วย

  • ยื่นคำร้องด้วยตนเองที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ประสบอุทกภัย ซึ่งสามารถดำเนินการได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
     
  • ยื่นคำร้องออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ http://flood67.disaster.go.th

ส่วนเอกสารที่ต้องเตรียม ประกอบด้วย

  • บัตรประจำตัวประชาชน
  • สำเนาทะเบียนบ้าน (กรณีบ้านพักอาศัยที่มีทะเบียน)
  • บ้านเช่า ให้ใช้สัญญาเช่าบ้าน/หนังสือรับรองการเช่าจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  • กรณีอื่น ๆ เช่น บ้านพักอาศัยประจำแต่ไม่มีทะเบียนบ้าน ต้องมีการรับรองจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารท้องถิ่น และผู้นำชุมชน อย่างน้อย 2 ใน 3 คน

ถ่ายภาพผลกระทบน้ำท่วม

  • บ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย
  • เครื่องใช้ที่เสียหาย เช่น ประตูหน้าบ้าน หลังบ้าน รวมทั้งหลังคาบ้าน
  • พื้นที่เกษตรกร สวน ไร่ นา และอื่น ๆ
  • ภาพมุมกว้างโดยรวมที่ได้รับความเสียหาย