เกษตรกรโคขุน ขอบคุณรัฐ คุมเข้มสารเร่งเนื้อแดง สร้างเชื่อมั่นผู้บริโภค

28 พ.ย. 2567 | 18:04 น.
อัปเดตล่าสุด :28 พ.ย. 2567 | 18:18 น.

เกษตรกรโคขุน เมืองสุรินทร์ ขอบคุณกรมปศุสัตว์ห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงตลอดห่วงโซ่การผลิต สร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภค-ประเทศคู่ค้า ปกป้องอุตสาหกรรมโคขุนได้ทั้งระบบ

นางเคียงเดือน สงวนชื่อ  ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโคขุนสุรินทร์โกเบครบวงจร ตำบลสลักได อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์  เปิดเผยว่า จากปฏิบัติการขับเคลื่อนของกรมปศุสัตว์ ที่ห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงตลอดห่วงโซ่การผลิตโคขุน พร้อมสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรได้ตระหนักถึงอันตรายและผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นจากการใช้สารเร่งเนื้อแดง โดยมีการตรวจหาการใช้สารเร่งเนื้อแดงในโรงฆ่าสัตว์ โรงงานผลิตอาหารสัตว์ และฟาร์มเลี้ยงโคขุนทั่วประเทศได้เกิดประโยชน์ตลอดห่วงโซ่

ทั้งนี้ต้องขอบคุณกรมปศุสัตว์ที่ดำเนินการมาตรการเชิงรุก  ทั้งเฝ้าระวังการลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดงในโรงฆ่าสัตว์ โรงงานผลิตอาหารสัตว์ และฟาร์มเลี้ยงโคขุนทั่วประเทศ  และตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยปลอดจากสารเร่งเนื้อแดง  ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค รวมถึงประเทศคู่ค้า  และเป็นการปกป้องอุตสาหกรรมโคขุนทั้งระบบ รวมถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค  ซึ่งการเลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่ปลอดภัย สามารถสังเกตจากลักษณะเนื้อสัตว์ที่ไม่มีสีแดงเข้มผิดธรรมชาติ ไม่แห้งเหนียว หรือมีน้ำซึมออกมามากผิดปกติ

อย่างไรก็ดี แม้ว่าบราซิลจะมีความพยายามเปิดตลาดในสินค้าเกษตร รวมถึงเนื้อโค มายังประเทศไทยแบบถูกต้อง หลังเกิดเหตุการณ์การลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนในช่วงที่ผ่านมา  แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจหากอนุญาตให้มีการนำเข้ามาจริง เนื่องจากในต่างประเทศสามารถใช้สารเร่งเนื้อแดงได้โดยอิสระ และไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย  

สำหรับประเทศไทยสารเร่งเนื้อแดง เป็นสารต้องห้ามที่กรมปศุสัตว์ห้ามนำมาผสมในอาหารสัตว์ เนื่องจากส่งผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ จึงเป็นความเสี่ยงสำหรับผู้บริโภคคนไทย และผิดกฎหมายไทยที่ประกาศ “ห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงสัตว์อย่างเด็ดขาด” มานานกว่า 20 ปี ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ.2545 กระทั่งมีการปรับปรุงประกาศฯ เมื่อ พ.ศ.2559 เรื่องกำหนดวัตถุดิบที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ รวมถึงประกาศ กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2546