“กรมปศุสัตว์” ตั้ง 4 ผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชนนั่งกรรมการเอ้กบอร์ด

31 ส.ค. 2567 | 17:15 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ส.ค. 2567 | 17:16 น.

กรมปศุสัตว์ ตั้ง 4 ผู้ทรงคุณภาคเอกชน นั่งกรรมการเอ้กบอร์ด เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ ให้สมดุล ตลอดห่วงโซ่ ไม่เดือดร้อนกับผู้บริโภค

เนื่องด้วยกรรมการภาคเอกชในคณะกรรมการคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (เอ้กบอร์ด) ที่ได้รับการแต่งตั้งตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 ได้ครบวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 ตามความในข้อ 5 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ จึงต้องมีการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งกรรมการภาคเอกชนให้ครบตามองค์ประกอบของคณะกรรมการต่อไป

แหล่งข่าวจากกรมปศุสัตว์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงกระบวนการคัดเลือกกรรมการภาคเอกชนในเอ้กบอร์ด  ซึ่งประกอบด้วย 1.ผู้แทนสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่จำนวน 1 คน โดยคัดเลือกจาก 4 สมาคม ได้แก่ สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่, สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้, สมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ และสมาคมการค้า ผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยภาคกลาง  ผลการคัดเลือกได้แก่ นายมงคล พิพัฒสัตยานุวงส์  นายกสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่  และเจ้าของกิจการฟาร์มไก่ไข่  บริษัท ชุนเซ้ง ฟาร์ม จำกัด

2.ผู้แทนสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่จำนวน 1 คน โดยคัดเลือกจาก 5 สหกรณ์ คือ สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่เชียงใหม่-ลำพูน จำกัด, สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ลุ่มแม่น้ำน้อย จำกัด, สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ แปดริ้ว จำกัด, สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ชลบุรี จำกัด และสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่สุพรรณบุรี  ได้แก่ นายสิริพงศ์ ตระการกมล  ประธานกรรมการสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่เชียงใหม่ –ลำพูน จำกัด

3.ผู้แทนผู้ค้า จำนวน 1 คน โดยคัดเลือกจาก 3 สมาคมและ 1 ชมรม คือ สมาคมผู้ผลิต อาหารสัตว์ไทย, สมาคมธุรกิจเวชภัณฑ์สัตว์, สมาคมการค้าผู้ค้าไข่ไทย และชมรมผู้ค้าส่งไข่ไก่กรุงเทพมหานคร ได้แก่  นายนพพร อเนกบุณย์  กรรมการสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย  และผู้จัดการฝ่ายขายอาหารสัตว์ บจก.แหลมทองเกษตรภัณฑ์ และอุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่พันธุ์

 4. ผู้แทนผู้ประกอบการ จำนวน 1 คน โดยคัดเลือกจากบริษัทผู้ผลิตพันธุ์ไก่ไข่ จำนวน 16 บริษัท ได้แก่ นายพรชัย เอี่ยมสงวนจิตต์  ผู้อำนวยการ บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และเลขาธิการกองทุนพัฒนาอุตสาหกรรมไก่ไข่

สำหรับหน้าที่ของเอ้กบอร์ด มีหน้าที่ดูแลไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ทั้งระบบ การกำหนดโควตานำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ เพื่อไม่ให้ล้น และขาดแคลน ทำให้ตลาดมีความสมดุล เกษตรกรอยู่ได้ และผู้บริโภคไม่เดือดร้อนจนได้รับผลกระทบทำให้ราคาไข่ไก่แพง หรือขาดตลาด