ติดอาวุธ AI เสริมแกร่งธุรกิจ แนะรัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เชื่อมโยงเอกชน

29 พ.ย. 2567 | 05:37 น.

ชี้ศักยภาพไทยกับ AI ยังตามหลังเพื่อนบ้าน “เอสเอ็มอี” เผยทักษะสูง โอกาสจ้างงานน้อย แนะภาครัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แวดวงการตลาดย้ำ AI มีคุณประโยชน์แต่ก็มีโทษมหันต์หากใช้งานผิดวิธี ส่วนธุรกิจเฮลท์แคร์ AI ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจคนไข้ ย่นระยะเวลา แต่ทดแทนคนไม่ได้

จากการจัดอันดับประเทศที่มีความสามารถทางด้าน AI ของโลก ปี 2024 (Global AI Index) จาก 83 ประเทศทั่วโลก พบว่าประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 43 ของโลก (อันดับที่ 3 ของอาเซียน) ขณะที่ประเทศฟิลิปปินส์อยู่ในอันดับที่ 67 ประเทศเวียดนามอันดับที่ 58 ประเทศอินโดนีเซียอันดับที่ 49 ประเทศมาเลเซียอันดับที่ 39 ประเทศอินเดียอันดับที่ 10 ประเทศญี่ปุ่นอันดับที่ 11 ประเทศเกาหลีใต้อันดับที่ 6 ประเทศสิงคโปร์อันดับที่ 3 ประเทศจีนอันดับที่ 2 โดยมีสหรัฐอเมริกาอันดับที่ 1

อย่างไรก็ดี แม้ประเทศไทยจะติดอันดับ 43 ของโลกด้านความสามารถด้าน AI แต่ “เอสเอ็มอี” ไทยยังตามหลังประเทศเพื่อนบ้านและมหาอำนาจด้านเทคโนโลยี

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวแสดงความคิดเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ดิจิทัลเทคโนโลยี และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นโอกาสที่ต้องเตรียมพร้อมรองรับการปรับเปลี่ยนเพื่อใช้ประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน และมีปัจจัยที่ต้องขับเคลื่อนสร้างระบบนิเวศเศรษฐกิจดิจิทัลและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) และ S-Curve ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายมิติในการนำ AI ไปใช้งาน

จากข้อมูล สสว. พบอุปสรรคสำคัญ 5 ด้านของเอสเอ็มอีในการนำเทคโนโลยีการผลิตและดิจิทัลขั้นสูงมาใช้ คือ 1. เงินทุน 29.5% 2. ขาดความตระหนักและความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล 21.6% 3. ความยากลำบากในการประเมินประโยชน์ของเทคโนโลยีใหม่ 17.6% 4. การลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ใช้เวลานานในการคุ้มทุน 9.3% 5. ขาดโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอ 6.6%

นอกจากนั้น เอสเอ็มอีที่มีการลงทุนพัฒนาทักษะแรงงานมีเพียง 8.3% เท่านั้น และส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่อบรม คือ Digital Marketing 67.4% ทักษะด้านการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ 31% การใช้งานระบบ POS 1.6%

ติดอาวุธ AI เสริมแกร่งธุรกิจ แนะรัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เชื่อมโยงเอกชน

อย่างไรก็ตามมีข้อเสนอแนะในการยกระดับการแข่งขันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยมีบทบาทสำคัญทั้งจำนวนที่มีถึง 99.5% ของผู้ประกอบการทั้งประเทศ และเอสเอ็มอีมีการจ้างงานในภาคเอกชนทั้งประเทศถึง 71% ได้แก่ สตาร์ทอัพและเอสเอ็มอี ควรแบ่งกลุ่มขนาดและลักษณะธุรกิจที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาทักษะ Digital literacy และ AI รวมทั้งรูปแบบเครื่องมือหรือแพลตฟอร์มที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาเพื่อแก้ไข ตอบโจทย์ความต้องการผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และสร้างการรับรู้เพื่อการเข้าถึงกลไกต่างๆอย่างทั่วถึง

แรงงานดิจิทัลและ AI ที่มีการแข่งขันสูง เอสเอ็มอีมีโอกาสน้อยในการจ้างงานกลุ่มที่มีทักษะสูงพร้อมทำงาน และอาจไม่คุ้มค่าในระยะเวลาสั้น การยกระดับแรงงานในกลุ่มที่ Up-skill ควรส่งเสริมให้ทุนพัฒนาแรงงานเป้าหมายและผู้ประกอบการเอื้ออำนวยความสะดวกในการพัฒนาเพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันด้วย

นโยบายส่งเสริมการใช้ AI ของภาครัฐ และลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มระดับชาติในการบริหารจัดการฐานข้อมูล เชื่อมโยงและวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญของประเทศ รวมทั้งการเชื่อมโยงกลไกรัฐแต่ละหน่วยงาน

เพื่อส่งเสริมเอสเอ็มอีนำดิจิทัลเทคโนโลยีและ AI ที่เหมาะสมไปใช้ปรับเปลี่ยนธุรกิจเพื่อเพิ่มผลิตภาพทางเศรษฐกิจ มีมาตรการสร้างการตระหนักรู้และแรงจูงใจให้ SME และภาคแรงงานทั้งในและนอกระบบเข้าสู่ระบบการยกระดับร่วมกันในการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และขยายโอกาสทางการตลาด เป็นต้น

ด้านนายภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มีเดียอินเทลลิเจนซ์ กรุ๊ป จำกัด หรือ MI กล่าวว่า การนำ AI มาใช้ในธุรกิจเอเจนซีช่วยเพิ่มทางเลือกของข้อมูลและคำตอบหลายๆ อย่าง รวมถึงการช่วยวางกลยุทธ์และค้นหาข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว โดยแต่ละสายงานในองค์กรสามารถใช้ประโยชน์จาก AI ได้

เช่น นักวางแผนสื่อจะได้รับข้อมูลเชิงลึกเพื่อการตัดสินใจที่ดีขึ้น ขณะที่สายงานที่เกี่ยวข้องกับการทำคอนเทนต์บนโซเชียลมีเดียสามารถใช้ AI ในการสร้างเนื้อหาเบื้องต้นและปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ สายงานด้าน creative ยังสามารถใช้ AI ในการปรับแต่งภาพและตัดต่อได้อย่างรวดเร็วและตรงตามความต้องการของลูกค้าในยุคนี้

“การนำ AI มาใช้มีความเสี่ยงหลายด้าน เช่น ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของข้อมูลและการตัดสินใจที่ผิดพลาดของ AI แม้ว่า AI จะมีคุณประโยชน์มากมาย แต่ก็มีโทษมหันต์หากใช้งานผิดวิธี ดังนั้นจึงควรใช้ AI เป็นเครื่องมือที่สามารถควบคุมได้ โดยต้องใช้ทักษะของเราในการตรวจสอบและปรับปรุงข้อมูลที่ได้จาก AI เนื่องจาก AI เกิดจากการเรียนรู้จากข้อมูลจำนวนมาก เราจึงไม่สามารถมั่นใจได้ว่า AI ที่สร้างขึ้นมานั้นจะถูกต้อง 100%”

นอกจากนี้ยังมองว่าการปรับตัวของเอกชนเมื่อ AI เข้ามามีบทบาทสำคัญในงานต่างๆ โดยมีการคาดการณ์ว่า 70% ของงานในปัจจุบันอาจถูกทดแทนด้วย AI การปรับตัวนี้ไม่ใช่การให้ AI เข้ามาแทนที่บทบาทของมนุษย์ แต่เป็นการเสริมทักษะและคุณภาพงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การเรียนรู้การใช้งานเอไออย่างลึกซึ้งและการประยุกต์ใช้ในฟังก์ชันต่างๆ เป็นสิ่งที่สำคัญเพื่อให้เกิดประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้

ที่สำคัญการนำ AI มาใช้คาดหวังผลลัพธ์ที่ชัดเจนคือการประหยัดต้นทุนในด้านงบประมาณ แรงงาน และเวลา โดยการใช้งาน AI อย่างถูกต้อง สามารถเพิ่มผลผลิตของงานได้ถึง 10 เท่า ซึ่งช่วยสร้างประสิทธิภาพและประสิทธิผลให้กับงานที่ทำ นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มคุณภาพของงาน เนื่องจาก AI สามารถดึงองค์ความรู้ที่มนุษย์อาจไม่สามารถเข้าถึงได้จากสมองของตนเอง

ขณะที่แพทย์หญิงณัฐธิดา แสงปราสาท ผู้ช่วยผู้อำนวยการ โรงพยาบาลวิมุต กล่าวว่า สำหรับโรงพยาบาลวิมุตเริ่มนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้ตั้งแต่โรงพยาบาลเปิดทำการเมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว เพื่ออ่านผลเอ็กซเรย์หรือวิเคราะห์โรคต่างๆ ร่วมกับการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งช่วยในการหาจุดบกพร่องของโรคและช่วยให้แพทย์อ่านผลได้แม่นยำ มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ขณะที่บริหารจัดการภายในโรงพยาบาลก็เริ่มนำ AI มาใช้ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2567 ที่ผ่านมา โดยนำเทคโนโลยี AI จะช่วยคัดกรองคนไข้ก่อนส่งคนไข้มาถึงมือแพทย์เพื่อทำการรักษา โดย AI ไม่สามารถวินิจฉัยโรคหรือวินิจฉัยอาการป่วยของคนไข้ได้

“เรียกได้ว่า AI ช่วยให้การตรวจคนไข้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดระยะเวลาในการตรวจรักษา ตรวจได้เยอะขึ้น ตรวจได้มากกว่าการตรวจแบบแมนนวลโดยคุณหมอเพียงอย่างเดียว โดยส่วนใหญ่จะใช้อยู่ในกลุ่มการอ่านผลเอ็กซเรย์ การทำแบบประเมินเพื่อคัดกรองคนไข้ เกี่ยวกับลักษณะอาการว่าควรจะเข้ารับการตรวจรักษากับแพทย์เฉพาะทางในแผนกไหน”

การใช้เทคโนโลยี AI ของโรงพยาบาลโรงพยาบาลวิมุตในช่วงที่ผ่านมาถือว่าเป็นไปได้ด้วยดี ยังไม่พบอุปสรรคและปัญหาอะไร แต่การใช้ AI ไม่สามารถประเมินผลได้แม่นยำ 100% ทำได้เพียงแค่ให้คำแนะนำในเบื้องต้นเท่านั้น ทุกกระบวนการและทุกขั้นตอนยังต้องอาศัยบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความชำนาญเป็นหลัก

แพทย์หญิงณัฐธิดา กล่าวว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลวิมุตถือว่ามีสถิติการพัฒนาและการใช้ AI ใกล้เคียงกับโรงพยาบาลชั้นนำอื่นๆ ซึ่งสามารถเพิ่มความสะดวกสบาย เข้าถึงการดูและสุขภาพของผู้คนได้ในเบื้องต้น อย่างคัดกรองคนไข้ในระดับ เขียว เหลือง แดง ก็ช่วยส่งคนไข้เข้าห้องฉุกเฉินได้ทันการณ์ ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นไปตามที่คาดหวัง ล่าสุดคือ ‘AN AN Bot’ ที่เป็น AI medical chatbot ช่วยให้คำปรึกษาและตอบคำถามของผู้ป่วยในเบื้องต้น โดยเริ่มใช้แล้วในปี 2567 และหลังจากนี้จะเห็นการลงทุนเรื่อง AI ของโรงพยาบาลวิมุตเพิ่มขึ้นอีกในปี 2568 เพื่อนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในโรงพยาบาลมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การใช้ AI ในธุรกิจเฮลท์แคร์ ยังไม่สามารถเข้ามาทดแทนบุคลากรที่เป็นมนุษย์ได้ และมนุษย์ยังต้องป้อนให้ข้อมูลให้กับ AI โดยผลตอบรับที่ได้จะเป็นข้อมูลสำหรับการพัฒนาต่อไปในอนาคต

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,048 วันที่ 28 - 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567