ผวา “ทรัมป์” ดูดทุนกลับสหรัฐ บิ๊กมะกันชะลอปักฐาน ขึ้นภาษีจีนสินค้าทะลักไทย

20 พ.ย. 2567 | 04:14 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ธ.ค. 2567 | 16:48 น.

บิ๊กเอกชนจับตานโยบาย “ทรัมป์” ประกาศดึงทุนมะกันย้ายกลับประเทศ กระทบลงทุนไทย ลุ้นค่ายยักษ์ใหญ่ดาต้า เซ็นเตอร์-คลาวน์ อิเล็กทรอนิกส์ชะลอดูทิศทาง อีกด้านจ่อขึ้นภาษีสินค้าจีน 60-100% บีบคลื่นสินค้าแดนมังกรจ่อทะลักเข้าไทยครั้งใหญ่ สรท.ห่วงส่งออกไทยปี 68 ฟัดเดือดราคา

จากหนึ่งในหลายนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ใช้ในการหาเสียงจนชนะการเลือกตั้งเป็นว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐอเมริกา ในด้านการลงทุน ทรัมป์ประกาศจะดึงทุนสหรัฐทั่วโลก ให้ย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ และในด้านการค้า ประกาศจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีน 60-100% และขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศอื่น ๆ 10-20% จากคำประกาศดังกล่าว แม้ทรัมป์จะยังไม่ได้ก้าวสู่ตำแหน่งอย่างเต็มตัว (คาดสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง 20 ม.ค. 2568) แต่ผลกระทบก็เริ่มเกิดขึ้นแล้ว

“ทรัมป์” ลั่นดึงทุนกลับประเทศ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทรัมป์ มีนโยบายชัดเจนว่าต้องการ Make America Great Again คือต้องการสร้างเศรษฐกิจของสหรัฐให้แข็งแกร่ง โดยการส่งเสริมให้ไปเปิดโรงงานและมีการจ้างแรงงานในสหรัฐเพิ่มขึ้น โดยสิทธิประโยชน์หลักในการส่งเสริมการลงทุนคือ จะลดภาษีนิติบุคคลจาก 21% เหลือ 15% เพื่อดึงดูดการลงทุนให้ย้ายฐานกลับประเทศ (Reshoring)

ทั้งนี้ในสมัยที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี (ทรัมป์ 1) ได้เรียกนักลงทุนสหรัฐมาพูดคุยเพื่อล็อบบี้ให้ย้ายฐานกลับ ซึ่งในส่วนของประเทศไทยต้องจับตามองเช่นกัน เพราะเวลานี้มีกิจการ/โครงการ ของนักลงทุนสหรัฐด้านดาต้า เซ็นเตอร์ คลาวด์เซอร์วิส อุตสาหกรรมดิจิทัล เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอื่น ๆ ได้ประกาศแผนการลงทุนในไทย ได้มาขอรับการส่งเสริม หรือได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมลงทุนแล้วหลายราย

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

“ทรัมป์จะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในต้นปีหน้า ซึ่งถึงเวลานั้นเราต้องจับตาดูว่านโยบายที่ได้ประกาศไว้ในช่วงหาเสียงกับที่จะทำจริงจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ ในส่วนของประเทศไทยต้องจับตาดูว่าการลงทุนของสหรัฐ พวกดาต้าเซ็นเตอร์ คลาวด์เซอร์วิส และกิจการอื่น ๆ ที่กำลังเข้ามา ทั้งที่อยู่ระหว่างการขอรับการส่งเสริม กำลังจะได้รับใบส่งเสริม หรือได้รับอนุมัติการส่งเสริมแล้วและกำลังจะลงทุน

ถ้าทรัมป์มาอาจจะเรียกไปคุย หรือล็อบบี้ให้กลับไปลงทุนที่สหรัฐหรือเปล่า ซึ่งไม่ใช่เฉพาะสหรัฐที่อยู่ในประเทศไทย แต่รวมถึงนักลงทุนสหรัฐที่อยู่ในทุกประเทศ ขณะที่ผลต่อเนื่องตามมา ณ เวลานี้ นักลงทุนสหรัฐก็เฝ้าจับตาดูว่านโยบายของทรัมป์ หากเข้ามาแล้วจะเป็นอย่างไร ตอนนี้ก็ชะลอเพื่อรอดูความชัดเจน”

ห่วงสินค้าไทยถูกเหมาโหลกีดกัน

อย่างไรก็ดี ในอีกด้านหนึ่งจากที่ทรัมป์ประกาศจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีน 60-100% ในแง่การลงทุน มองว่าจะเป็นโอกาสดีในการย้าย /ขยายฐานการผลิตของจีนในหลาย ๆ อุตสาหกรรมมายังอาเซียน ซึ่งรวมถึงประเทศไทย อาทิ สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า แผงวงจรพิมพ์ (PCB) รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ยางล้อรถยนต์ และอื่น ๆ ที่เวลานี้ยังไหลเข้ามาต่อเนื่อง

แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือ ในสมัย “ทรัมป์ 1” ก็มีการพูดว่า การลงทุนของจีนในประเทศอื่น ๆ เพื่อสวมสิทธิ์ หรือสวมโควตาเพื่อส่งออกไปสหรัฐ จะมีการติดตามอย่างใกล้ชิด ในเบื้องต้นยังไม่รู้ว่าทรัมป์จะใช้มาตรการหนักหรือเบาแค่ไหน หากใช้มาตรการหนัก สินค้าจีนที่ผลิตในไทยหรือในประเทศอื่น ๆ อาจจะถูกเก็บภาษีเท่ากับสินค้าที่ส่งออกจากจีนไปสหรัฐโดยตรง ที่อาจจะถูกเรียกเก็บเพิ่ม 60-100%

ที่น่าเป็นห่วงคือโรงงานของคนไทยที่ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันกับจีนที่ส่งออกไปสหรัฐ อาจจะถูก “เหมาโหล” ถูกกีดกันการค้า หรือถูกขึ้นภาษีสูงตามไปด้วย เหมือนที่เคยเกิดขึ้นแล้วในสินค้ายางล้อรถยนต์ และแผงโซลาร์เซลล์ โดยสินค้าที่มีความเสี่ยงอาจถูกจับตามองในเวลานี้คือรถยนต์ EV ที่ค่ายรถยนต์จีนเข้ามาลงทุนในไทยแล้วหลายค่าย

ผวา “ทรัมป์” ดูดทุนกลับสหรัฐ บิ๊กมะกันชะลอปักฐาน ขึ้นภาษีจีนสินค้าทะลักไทย

สินค้าจีนจ่อทะลักไทยครั้งใหญ่

นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า หากทรัมป์ขึ้นภาษีสินค้าจีนอีก 60-100% ตามที่หาเสียง จะส่งผลให้สินค้าจีนเข้าสู่ตลาดสหรัฐได้ลดลง จากมีต้นทุนที่สูงขึ้น ที่ต้องจับตาใกล้ชิดคือ จะส่งผลให้สินค้าจีนยิ่งไหลทวนหรือทะลักเข้ามาในตลาดเอเชีย และอาเซียน รวมถึงไทยมากขึ้นกว่าในสมัยประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะทำให้ไทยขาดดุลการค้าจีนเพิ่มขึ้น ถือเป็นสถานการณ์ที่น่ากังวล ซึ่งเวลานี้จีนถือเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย (ไม่นับรวมอาเซียน) หากไทยไม่มีมาตรการป้องกันที่ดีพอจะส่งผลกระทบผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยที่ทำตลาดในประเทศจะปิดตัวมากขึ้น

“นอกจากผู้ประกอบการในประเทศที่จะได้รับผลกระทบแล้ว ในตลาดส่งออกที่อาเซียนเป็นตลาดใหญ่ของไทย (สัดส่วนการส่งออก 23%) จากที่สินค้าจีนจะทะลักเข้ามามากขึ้น จะทำให้ไทยส่งออกไปอาเซียนได้ลดลง”

บีโอไอมองวิกฤตเป็นโอกาส

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า จากว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีนโยบาย Make America Great Again โดยประกาศจะดึงทุนสหรัฐกลับไปลงทุนในประเทศ ในข้อเท็จจริงสหรัฐยังต้องพึ่งพาซัพพลายเชนจากอาเซียนและประเทศพันธมิตรอื่น ๆ ในเรื่องวัตถุดิบ และชิ้นส่วนประกอบต่าง ๆ ขณะที่จีนจะถูกสหรัฐเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเพิ่ม จึงมีความจำเป็นต้องหาแหล่งผลิตนอกประเทศ รวมถึงหาผู้ร่วมทุน ลดสัดส่วนความเป็นจีน เพื่อลดความกดดันและลดความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันการค้าของสหรัฐ

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

ทั้งหมดนี้จะเป็นโอกาสของไทยในการดึงการลงทุนจากทั้งสหรัฐและจีน เฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ของไทยที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เซมิคอนดักเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง แบตเตอรี่ระดับเซลล์ รถ EV ดาต้าเซ็นเตอร์ และบริการคลาวด์มาตรฐานสูง รวมถึงกิจการที่สนับสนุนความเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ เช่น สำนักงานภูมิภาค ศูนย์จัดหาชิ้นส่วน และวัตถุดิบระหว่างประเทศ และศูนย์กระจายสินค้าระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ดีจากที่ช่วง 9 เดือนแรกปีนี้มีนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ (FDI) เข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนแล้วจำนวน 2,195 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 46 มีมูลค่าเงินลงทุน 722,528 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 42 ซึ่งในแง่ของจำนวนโครงการและเงินลงทุนเติบโตอย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงศักยภาพและพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดีของประเทศไทย รวมถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อนโยบาย และมาตรการ สนับสนุนต่าง ๆ ของภาครัฐ ตลอดจนการดึงดูดการลงทุนเชิงรุกของรัฐบาลและบีโอไอ

“การส่งเสริมการลงทุนไทยในปี 2567 ยังมีแนวโน้มที่ดี คาดทั้งปีจะมีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมไม่ต่ำกว่า 8 แสนล้านบาท สูงสุดในรอบ 10 ปี ส่วนในปี 2568 คาดจะยังขยายตัวต่อเนื่อง”

เดินหน้าดึงลงทุนจีน

ล่าสุดระหว่างวันที่ 19 -22 พฤศจิกายน 2567 นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการส่งเสริมการลงทุน จะนำคณะบีโอไอพร้อมด้วยผู้แทนภาคเอกชน เดินทางโรดโชว์ ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน

ทั้งนี้จะมีการหารือกับนักลงทุนชั้นนำของจีนเป็นรายบริษัท เพื่อเจรจาแผนการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น การผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถ EV การผลิตแบตเตอรี่ในระดับเซลล์ ธุรกิจบริหารจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้ว อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง และอุปกรณ์โทรคมนาคม การผลิตบรรจุภัณฑ์ชีวภาพจากวัตถุดิบทางการเกษตรในประเทศไทย เป็นต้น

ส่งออกยุคทรัมป์แข่งเดือดราคา

ด้าน นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า นโยบายดึงทุนสหรัฐกลับไปลงทุนในประเทศ มองว่า หากเป็นสินค้าไฮเทคโนโลยีที่ใช้คนไม่มากมีโอกาสเป็นไปได้ แต่หากเป็นสินค้าที่ใช้แรงงานปานกลาง หรือเข้มข้น มองว่าอย่างไรก็ยังต้องลงทุนอยู่ในแถบภูมิภาคอาเซียน และอินเดียที่มีแรงงาน และต้นทุนไม่สูงมากนัก เพราะหากเป็นสินค้าหรืออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานปานกลางหรือเข้มข้น โอกาสที่จะไปตั้งในสหรัฐคงมีน้อย จากค่าแรงสูง ขณะที่ตัวเลขการว่างงานของสหรัฐเวลานี้ต่ำเพียง 3.8-4.0% เท่านั้น

อย่างไรก็ดีในส่วนของภาคการส่งออกของไทยในปี 2567 ยังลุ้นตัวเลขการขยายตัวได้ที่ 2.5-3.0% จากที่ต้นปีทุกสำนักพยากรณ์คาดจะขยายตัวได้เพียง 1-2% โดยล่าสุดการส่งออกของไทยช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ขยายตัว 3.9% (รูปดอลลาร์สหรัฐ) โดยกลุ่มสินค้าที่ยังขยายตัวได้ดี และมีส่วนช่วยมากในการดันตัวเลข อยู่ในกลุ่มสินค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มอาหาร

ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)

“คาดการส่งออกของไทยปี 2567 ในรูปดอลลาร์สหรัฐน่าจะได้ถึง 293,000 ล้านดอลลาร์ และในรูปเงินบาท มองไว้ที่ 10 ล้านล้านบาท ซึ่งเงินบาทที่อ่อนค่าลงในเวลานี้อยู่ที่ระดับ 34 -35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐไม่มีผลต่อความสามารถในการแข่งขันหรือรับออเดอร์มากในช่วงเดือนที่เหลือของปีนี้ เพราะมากกว่า 90% รับออเดอร์ไปแล้ว และอยู่ช่วงการผลิต และส่งมอบปลายปี”

สำหรับทิศทางแนวโน้มการส่งออกไทยในปี 2568 เบื้องต้นคาดยังขยายตัวเป็นบวก โดยภาคเอกชนจะมีการหารือกับกระทรวงพาณิชย์ในเดือนธันวาคม เพื่อประเมินสถานการณ์และตั้งเป้าหมายการส่งออกร่วมกัน ในเบื้องต้นคาดการส่งออกในปีหน้า จะมีการแข่งขันด้านราคากันอย่างรุนแรง เฉพาะอย่างยิ่งในตลาดสหรัฐในยุคโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากทุกประเทศ ถือเป็นอีกหนึ่งปีที่ท้าทาย