เปิด 10 อันดับคู่ค้าไทยในเอเปค จีนเบอร์หนึ่ง 9 เดือนไทยขาดดุล 1.1 ล้านล้าน

14 พ.ย. 2567 | 15:58 น.
อัปเดตล่าสุด :18 พ.ย. 2567 | 12:15 น.

ส่องการค้าไทย-เอเปค 9 เดือนปี 67 พุ่ง 11.4 ล้านล้านบาท จีน สหรัฐ ญี่ปุ่น มาเลเซีย ไต้หวัน คู่ค้ารายใหญ่ 5 ใน 10 อันดับแรก ขณะไทยขาดดุลการค้าจีนมากสุด 1.1 ล้านล้านบาท จับตา “ทรัมป์”ความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ ตัวแปรค้าโลกปี 68

การประชุมผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอชีย-แปซิฟิก (เอเปค / APEC) ครั้งที่ 31 ณ กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู ระหว่างวันที่ 10-18 พฤศจิกายน 2567 ถือเป็นอีกหนึ่งวาระการประชุมที่สำคัญของโลกที่มีผู้นำประเทศ / เขตเศรษฐกิจเข้าร่วม โดยในส่วนของไทยมี นางสาวแพทองธาร  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นำคณะเข้าร่วมการประชุม

สำหรับกลุ่มเอเปค ปัจจุบันมีสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ ประกอบด้วย  ออสเตรเลีย, บรูไนดารุสซาลาม, แคนาดา, ชิลี, จีน, ฮ่องกง, อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, มาเลเซีย, เม็กซิโก, นิวซีแลนด์, ปาปัวนิวกินี, เปรู,ฟิลิปปินส์, รัสเซีย, สิงคโปร์, ไต้หวัน,ไทย, สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม มีประชากรรวมกันคิดเป็นสัดส่วน 44% ของประชากรโลก และมีขนาดเศรษฐกิจเป็นสัดส่วน 58% ของ GDP โลก หรือ 44% ของการค้าโลก

สำหรับเปรูที่เป็นเจ้าภาพในปีนี้ เป็นคู่ค้าของไทยในลำดับที่ 63 โดยในปี 2566 การค้าไทย-เปรู มีมูลค่ารวม 17,033.14 ล้านบาท โดยไทยส่งออก 10,224.49 ล้านบาท นำเข้า 6,808.67 ล้านบาท ไทยเกินดุลการค้า 3,415.85 ล้านบาท เปรูถือเป็นประตูการค้าสำคัญของไทยไปยังภูมิภาคลาตินอเมริกา

วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งเอเปค มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาและส่งเสริมการค้าในระดับพหุภาคี และสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาค และของโลก เพื่อลดอุปสรรคและอำนวยความสะดวกทางการค้า (สินค้าและบริการ) และการลงทุนระหว่างสมาชิกให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก (WTO) โดยเอเปคไม่ใช่เวทีเจรจาการค้า แต่เป็นเวทีสำหรับการปรึกษาหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่ประเทศสมาชิกสนใจ

การประชุมเอเปค ครั้งที่ 31 ณ สาธารณรัฐเปรูในปีนี้ ภายใต้หัวข้อหลัก Empower. Include.Grow เน้นเชื่อมโยงการค้าการลงทุน การเติบโตที่ยั่งยืน ยืดหยุ่น และครอบคลุมคนทุกกลุ่ม APEC อย่างไรก็ดีในการประชุมเอเปคในทุกครั้งผู้นำหลายประเทศ รวมถึงผู้นำของไทยจะใช้เป็นโอกาสในการหารือระดับทวิภาคีกับผู้นำของประเทศต่าง ๆ รวมถึงผู้นำภาคเอกชนของประเทศคู่เจรจาเพื่อขยายการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน

ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อมูลจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร ในปี 2566 การค้าไทย-เอเปค มีมูลค่าการค้า 13.99 ล้านล้านบาท โดยไทยส่งออก 6.95 ล้านล้านบาท นำเข้า 7.03 ล้านล้านบาท  ไทยขาดดุลการค้าเอเปค 83,336 ล้านบาท

เปิด 10 อันดับคู่ค้าไทยในเอเปค จีนเบอร์หนึ่ง 9 เดือนไทยขาดดุล 1.1 ล้านล้าน

ล่าสุดช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 การค้าไทย-เอเปค มีมูลค่ารวม 11.41 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.72%  โดยไทยส่งออก 5.57 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.79% นำเข้า 5.83 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.62% ไทยขาดดุลการค้า 261,811 ล้านบาท

คู่ค้ารายใหญ่ 10 อันดับแรกของไทยในเอเปค ได้แก่ จีน, สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, ไต้หวัน, เวียดนาม, อินโดนีเซีย, ออสเตรเลีย, สิงคโปร์ และฮ่องกง ตามลำดับ ในจำนวนนี้ ไทยขาดดุลการค้าจีนมากสุด 1.16 ล้านล้านบาท รองลงมาเป็นไต้หวัน ขาดดุล 450,932 ล้านบาท และญี่ปุ่น ขาดดุล 143,871 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับสินค้าส่งออก 10 อันดับช่วง 9 เดือนแรกของไทยไปยังกลุ่มเอเปค ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ มูลค่า 430,771 ล้านบาท, เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 367,184 ล้านบาท, ผลิตภัณฑ์ยาง  172,711 ล้านบาท, เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ  144,352 ล้านบาท, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล 117,955 ล้านบาท

เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ 107,539 ล้านบาท, อัญมณีและเครื่องประดับ 104,717 ล้านบาท, น้ำมันสำเร็จรูป 100,611 ล้านบาท, เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ 91,388 ล้านบาท และสินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ 90,103 ล้านบาท

ขณะสินค้านำเข้า 10 อันดับแรกของไทยจากกลุ่มเอเปค ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า มูลค่า 620,616 ล้านบาท, เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ 495,056 ล้านบาท, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ 442,965 ล้านบาท, เคมีภัณฑ์ 401,786 ล้านบาท, เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 367,249 ล้านบาท

เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์  310,580 ล้านบาท, น้ำมันดิบ 296,106 ล้านบาท, สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ 259,442 ล้านบาท, เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ 243,652 ล้านบาท และ เครื่องใช้ไฟฟ้า 205,690 ล้านบาท

ทั้งนี้ การค้า การลงทุนของไทยกับกลุ่มเอเปค คาดหวังจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ โดยที่ประเทศสมาชิกจับตาตัวแปรสำคัญที่อาจส่งผลกระทบนับจากนี้คือการเข้ามาดำรงตำแหน่งของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐอเมริกา มหาอำนาจเบอร์ 1 ในเอเปค และของโลก รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายคู่ของโลกจะมีพัฒนาการไปอย่างไร