เปิดพอร์ต 1.6 หมื่นล้าน “พิชญ์ โพธารามิก” เจ้าของ JAS

12 พ.ย. 2567 | 13:13 น.
อัปเดตล่าสุด :13 พ.ย. 2567 | 08:36 น.
1.1 k

เปิดพอร์ต “พิชญ์ โพธารามิก” เจ้าของ JAS ที่คว้าลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีก เอฟเอคัพ ครองอาณาจักร 3 บริษัท มูลค่ารวม 16,615 ล้าน

ชื่อของ "พิชญ์ โพธารามิก" ถูกพูดถึงอีกครั้ง หลัง บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ประกาศคว้าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกและเอฟเอคัพมูลค่า กว่า 19,167 ล้านบาท  

โดยที่ประชุมบอร์ดอนุมัติให้เข้าทำรายการเพื่อให้ได้รับสิทธิแต่เพียงผู้เดียว ในการถ่ายทอดสดภาพและเสียงรายการฟุตบอลพรีเมียร์ลีกและเอฟเอคัพ บนอินเทอร์เน็ตทีวี (Internet TV) และ ดิจิทัล ทีวี (Digital TV) รวมถึงชุดวิดีโอสั้น (Clips package)  3 ฤดูกาล

พิชญ์ โพธารามิก เจ้าของ JAS คว้าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีก

เริ่มตั้งแต่ต้นฤดูกาลฟุตบอลพรีเมียร์ลีกที่ 2025/2026 หรือ 6 ฤดูกาล ในกรณีที่บริษัท ได้รับแจ้งจาก The Football Association Premier League Limited (FAPL) เป็นลายลักษณ์อักษรภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2567 ในประเทศไทย สปป.ลาว และกัมพูชา มูลค่ารวมทั้งสิ้น 559,980,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 19,167 ล้านบาท

"พิชญ์ โพธารามิก" ครองอาณาจักร 3 บริษัท

จากข้อมูลการถือครองหุ้นในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ พิชญ์ถือครองหุ้นใหญ่ใน 3 บริษัท รวมมูลค่าหุ้นที่ถือในทั้ง 3 บริษัท 16,615.48 ล้านบาท ได้แก่

1. บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ถือหุ้น 4,474,467,987 หุ้น คิดเป็น 52.07% มูลค่าหุ้นที่ถือ ณ 11 พ.ย. 2567 จำนวน 10,649.23 ล้านบาท

2. บริษัท จัสมิน เทเลคอม ซิสเต็มส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JTS ถือหุ้น 34,598,700 หุ้น คิดเป็น 4.90%  มูลค่าหุ้นที่ถือ ถือ ณ 11 พ.ย. 2567 จำนวน  2,439.21 ล้านบาท

3. บริษัท โมโน เน็กซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ MONO ถือหุ้น 2,004,000,000 หุ้น คิดเป็น 57.73% มูลค่าหุ้นที่ถือ ถือ ณ 11 พ.ย. 2567 จำนวน 3,527.04 ล้านบาท

ผลประกอบการไตรมาส 2/2567 ของทั้ง 3 บริษัทในไตรมาส 2/2567

JAS

  • รายได้รวม 1,985.04 ล้านบาท
  • กำไรสุทธิ 209.93 ล้านบาท
  • สินทรัพย์รวม 16,268.63 ล้านบาท
  • มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด 4,678.47 ล้านบาท

JTS  

  • รายได้รวม 1,448.54 ล้านบาท 
  • กำไรสุทธิ 324.79 ล้านบาท
  • สินทรัพย์รวม 2,847.40 ล้านบาท
  • มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด 707.40 ล้านบาท

MONO

  • รายได้รวม 975.25 ล้านบาท
  • ขาดทุนสุทธิ 73.61 ล้านบาท
  • สินทรัพย์รวม 3,891.51 ล้านบาท
  • มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด 149.63 ล้านบาท

เส้นทางธุรกิจของ พิชญ์ โพธารามิก

ย้อนกลับไปพฤศจิกายน 2546 ขณะที่ "อดิศัย โพธารามิก" ผู้เป็นบิดา นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หุ้นหุ้นบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) 27.23% และวอร์แรน JAS-W อีก 41.45% รวมทรัพย์สินกว่า 2,600 ล้านบาท ที่อดิศัยถืออยู่ถูกส่งต่อไปยังพิชญ์

จุดเริ่มต้นของ "โมโน กรุ๊ป"

ในปี 2545 พิชญ์เริ่มจากธุรกิจ Venture Capital ในยุค ดอทคอมบูม พร้อมทั้งเปิดพื้นที่ 3,000 ตารางเมตรในอาคารจัสมิน จัดเป็น Co-Working Space ฟรีสำหรับธุรกิจเริ่มต้นและนักศึกษา

ภายใต้การนำของพิชญ์ โมโนกรุ๊ปขยายอาณาจักรครอบคลุมทั้งเว็บไซต์ดัง อาทิ mthai.com, yenta4.com ไปจนถึงธุรกิจบันเทิงอย่างนิตยสาร Gossip Star, CANDY และ Gossip TV รวมถึงค่ายหนัง "โมโน ฟิล์ม" และค่ายเพลง "โมโน มิวสิค"

จุดเปลี่ยนสำคัญคือการก้าวสู่ธุรกิจทีวีดิจิทัลผ่าน MONO29 ด้วยงบพัฒนาคอนเทนต์กว่า 800-900 ล้านบาท

พิชญ์เลือกใช้กลยุทธ์แบบดุดัน ทุ่มซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์และซีรีส์จนสร้างความสั่นสะเทือนในวงการ พร้อมต่อยอดสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ "ดูหนังดอทคอม"

นอกจากนี้ ยังขยายสู่ธุรกิจกีฬาผ่าน "โมโน สปอร์ต" กับทีมบาสเก็ตบอล "โมโนแวมไพร์" และรายการอลัวร์ซ่าที่สร้างเสียงฮือฮา รวมถึงการขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศทั้งอินโดนีเซีย เกาหลี เวียดนาม และฮ่องกง

ขณะเดียวกัน พิชญ์ยังพลิกโฉมจัสมินที่เคยถูกมองว่าเป็น "เสือนอนกิน" งานสัมปทานรัฐ หลังรับตำแหน่ง CEO ในปี 2551 ด้วยวัย 35 ปี รุกตลาดอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง จนสร้างปรากฏการณ์การแข่งขันด้านบรอดแบนด์ที่เปลี่ยนโฉมหน้าอินเทอร์เน็ตไทย

พิชญ์ โพธารามิก

คดีที่เคยเกิดขึ้น

พิชญ์ เคยถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สั่งปรับ 6.67 ล้านบาท ในความผิดที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558 เข้าหลักเกณฑ์การครอบงำกิจการ ซึ่งต้องทำคำเสนอซื้อ หรือเทนเดอร์ ออฟเฟอร์แต่กลับไม่ยื่นทำคำเสนอซื้อ

ระหว่างวันที่ 22 ธันวาคม 2558 ถึง 8 กุมภาพันธ์ 2560 พิชญ์ ไม่ได้รายงานการได้มาและจำหน่ายไป หุ้นบริษัท จัสมิน เทเลคอม ซิสเต็มส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JTS ซึ่งอยู่ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของผู้อื่น 2 ราย เมื่อบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของบุคคลทั้งสองรวมกันมีจำนวนการถือครองหุ้นข้ามเส้นเกิน 5% ของทุนจดทะเบียน

กันยายน 2562 พิชญ์ เคยถูก ก.ล.ต.ดำเนินมาตรการลงโทษในทางแพ่ง ในความผิดใช้ข้อมูลภายในแสวงหาประโยชน์จากการซื้อขายหุ้น JTS โดยปรับนายพิชญ์ เป็นเงิน 58.77 ล้านบาท

ปลายเดือนตุลาคม 2562 ก.ล.ต.ได้ดำเนินมาตรการทางแพ่ง สั่งปรับพิชญ์กับพวก ในความผิดฐานสร้างราคาหุ้น JAS และหุ้น บริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ MONO รวมเป็นเงิน 160 ล้านบาท

ย้อนวีรกรรม JAS ทิ้งประมูลคลื่น 4G

บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด บริษัทลูกของ JAS ภายใต้การนำของพิชญ์ โพธารามิก เคยสร้างวีรกรรมให้วงการโทรคมนาคมไทยในปี 2558 ด้วยการชนะการประมูลคลื่น 4G ย่าน 900 MHz ด้วยมูลค่าสูงถึง 75,654 ล้านบาท หลังการประมูลที่กินเวลายาวนานถึง 33 ชั่วโมง

แม้พิชญ์จะประกาศก้องว่า "เราไม่ได้มาเล่นๆ" และอยู่ระหว่างเจรจากับธนาคารกรุงเทพ เพื่อขอหนังสือค้ำประกัน แต่เมื่อถึงกำหนดชำระเงินงวดแรก 8,040 ล้านบาทในวันที่ 21 มีนาคม 2559 JAS กลับไม่ปรากฏตัว นำไปสู่การถูกปรับ 644 ล้านบาท และถูกขึ้นบัญชีดำห้ามเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่อีก

ต่อมา เอไอเอสได้เข้ารับช่วงต่อคลื่นดังกล่าวด้วยราคาเดิม ภายใต้คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 16/2559 และล่าสุดในปี 2566 เอไอเอสยังได้เข้าควบรวมกิจการทริปเปิลที บรอดแบนด์ ธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้านของ JAS มูลค่า 28,371 ล้านบาท