“พิชัย” มั่นใจไทยส่งออกข้าวปี 67 พุ่ง 9 ล้านตัน มูลค่ากว่า 2.3 แสนล้านบาท

10 พ.ย. 2567 | 08:40 น.
อัปเดตล่าสุด :10 พ.ย. 2567 | 08:50 น.

“พิชัย” โชว์ตัวเลขส่งออกข้าว คาดปี 67 ทะลุ 9 ล้านตัน มูลค่ากว่า 2.3 แสนล้านบาท หลัง 9 เดือนแรก ส่งออกได้แล้วกว่า 7.4 ล้านตัน อินโดนีเซียนำเข้ามากสุด สั่งพาณิชย์จับมือเอกชนดันส่งออกข้าวไทยสร้างรายได้เกษตรกรต่อเนื่อง

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย ข้อมูลการส่งออกข้าวไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค.-ก.ย.) ว่า มีปริมาณ 7.45 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 22.13 และมีมูลค่า 172,019 ล้านบาท (ประมาณ 4,834 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 45.85

ทั้งนี้มีปัจจัยบวกจากประเทศผู้นำเข้าข้าวมีความต้องการนำเข้าข้าวเพื่อใช้บริโภคและเก็บเป็นสต๊อกเพื่อความมั่นคงทางอาหาร และเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งที่ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตข้าวในประเทศรวมถึงบรรเทาผลกระทบจากเงินเฟ้อด้านอาหาร

สำหรับทิศทางการส่งออกช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 ไทยมีผลผลิตข้าวนาปีออกสู่ตลาดทำให้ยังมีคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง โดยตลาดส่งออกข้าวไทยที่สำคัญ ได้แก่ อินโดนีเซีย นำเข้าข้าวจากไทยมากเป็นอันดับ 1 ที่ปริมาณ 1.09 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 14.66 ของปริมาณการส่งออกข้าวไทยทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ อิรัก (ร้อยละ 12.19) สหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 8.18) แอฟริกาใต้ (ร้อยละ 7.79) และฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 5.36)

“พิชัย” มั่นใจไทยส่งออกข้าวปี 67 พุ่ง 9 ล้านตัน มูลค่ากว่า 2.3 แสนล้านบาท

นายพิชัย กล่าวอีกว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศ และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ได้คาดการณ์ร่วมกันว่าในปี 2567 มีแนวโน้มส่งออกข้าวได้ถึง 9 ล้านตัน นำรายได้เข้าประเทศกว่า 6,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 230,000 ล้านบาท เนื่องจากยังคงมีผู้นำเข้าข้าวจากหลายประเทศที่ต้องการนำเข้าข้าวเพื่อรองรับกับความต้องการช่วงปลายปีสำหรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ประกอบกับผลผลิตข้าวนาปีของไทยที่กำลังออกสู่ตลาดมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากปีก่อนจากปริมาณน้ำสำหรับเพาะปลูกที่เพิ่มขึ้น

“ได้กำชับให้กรมการค้าต่างประเทศติดตามสถานการณ์การค้าข้าวโลกอย่างใกล้ชิดและจัดทำแผนผลักดันการส่งออกข้าวไทยภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” โดยรักษาตลาดเดิม เช่น แอฟริกาใต้ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ รุกตลาดใหม่รวมถึงตลาดที่มีศักยภาพ เช่นยุโรป แคนาดา และภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งมีแนวโน้มต้องการเพิ่มความมั่นคงทางอาหาร สอดรับกับนโยบายรัฐบาล”

 นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังมีแผนการจัดงานประชุมข้าวนานาชาติ Thailand Rice Convention (TRC) ซึ่งเป็นงานประชุมใหญ่ที่ผู้เชี่ยวชาญในวงการค้าข้าวโลกมาพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ตลาดข้าวโลกและเจรจาธุรกิจระหว่างกัน ซึ่งทั้งหมดจะเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยให้มีคำสั่งซื้อรองรับผลผลิตข้าวและสร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวไทย