พลังงานดัน เจรจา OCA รับมือก๊าซอ่าวไทยขั้นวิกฤต ลดนำเข้า LNG เหตุค่าไฟพุ่ง

08 พ.ย. 2567 | 13:56 น.
อัปเดตล่าสุด :08 พ.ย. 2567 | 14:15 น.

ผู้เชี่ยวชาญพลังงาน ชี้ปริมาณสำรองก๊าซของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง เข้าขั้นวิกฤต วางแผนจัดหาก๊าซถึงปี 2580 ต้องนำเข้า LNG กว่า 50% ราคาผันผวนเป็นต้นเหตุค่าไฟฟ้าพุ่งทะยาน เร่งหาทางออก จี้รัฐบาลเดินหน้าเจรจา OCA หาก๊าซราคาถูก ทดแทนนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี

“ฐานเศรษฐกิจ “ จัดงานสัมมนา “พลังงานราคาถูก.. ทางรอดเศรษฐกิจไทย” โดยได้รับเกียรติจาก นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อดังกล่าว พร้อมทั้งเปิดเวทีเสวนาหัวข้อ “ทางรอด พลังงานไทย ในช่วงเปลี่ยนผ่าน” ได้รับเกียรติจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน มาแลกเปลี่ยนถ่ายทอดประสบการณ์ และทิศทางนโยบาย เพื่อหาทางออกร่วมกันในการจัดหาแหล่งพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ ในราคาที่เป็นธรรมและมีเสถียรภาพ

ไทยเจอวิกฤตก๊าซขาดแคลน

ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมและพลังงานแห่งประเทศไทย ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องเร่งจัดหาแหล่งพลังงาน โดยเฉพาะแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ยังมีความจำเป็นในช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงาน เนื่องจากเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยที่สุด เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงฟอสซิลประเภทอื่น

ขณะที่ปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติของประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง จนเข้าขั้นวิกฤตและไม่มีการค้นพบแหล่งก๊าซใหม่มาตั้งแต่ปี 2548 ขณะที่ปริมาณก๊าซจากแหล่งในอ่าวไทย และแหล่งนำเข้าจากเมียนมาและเขตพัฒนาร่วม (JDA) ลดลงอย่างน่ากังวล ส่งผลให้ประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มากขึ้น กระทบโดยตรงต่อค่าไฟฟ้าของประชาชนและภาระงบประมาณของรัฐ

นอกจากนี้ รายได้จากการจัดเก็บภาษีที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเลียมยังลดลง กระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริง (real sector) และบริษัทผู้รับสัมปทานหลายแห่งเริ่มชะลอการลงทุนหรือลดการจ้างงาน

พลังงานดัน เจรจา OCA รับมือก๊าซอ่าวไทยขั้นวิกฤต ลดนำเข้า LNG เหตุค่าไฟพุ่ง

แนวทางการจัดหาแหล่งพลังงานสำคัญ จึงเป็นเรื่องของการเร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ( Overlapping Claims Area หรือ OCA) ภายใต้กรอบ MoU ปี 2544 เป็นทางออกที่สำคัญ เนื่องจากเป็นแหล่งที่มีศักยภาพ คาดว่าอาจมีปริมาณก๊าซสำรองประมาณ 9 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท สามารถช่วยลดการนำเข้า LNG ที่มีราคาผันผวนได้อย่างมาก และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ

อีกทั้ง การวางท่อก๊าซจากพื้นที่ OCA เชื่อมเข้ากับท่อในอ่าวไทยก็สามารถทำได้ในเวลาเพียง 3-5 เดือน เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานมีความพร้อมอยู่แล้ว ซึ่งจะส่งผลให้การใช้ประโยชน์จากท่อในทะเลเต็มความสามารถมากขึ้น และจะช่วยลดราคาเนื้อก๊าซได้อีกทางหนึ่ง

“ท่อส่งก๊าซในอ่าวไทยที่มีความสามารถในการส่งก๊าซถึง 3,800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ปัจจุบันใช้งานเพียง 65% หากเพิ่มปริมาณการใช้ก๊าซผ่านท่อ จะช่วยลดค่าบริการผ่านท่อและทำให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพมากขึ้น"

ดร.คุรุจิต ชี้ให้เห็นอีกว่า วิกฤตรัสเซียบุกยูเครนในปี 2565 ส่งผลให้ราคาก๊าซ LNG พุ่งสูงขึ้นถึง 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู ทำให้ไทยต้องนำเข้า LNG ในราคาก๊าซที่สูงลิ่ว เป็นช่วงวิกฤต ทำให้ค่า Ft เพิ่มขึ้นถึง 8 บาทต่อหน่วย และเป็นภาระต่อค่าไฟฟ้าของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาพลังงานของไทย เพื่อไม่ให้กระทบเศรษฐกิจในระยะยาว จึงจำเป็นต้องเร่งเจรจาเขตไหล่ทวีปทับซ้อนเพื่อเพิ่มปริมาณสำรองก๊าซในประเทศ ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย รวมถึงความกล้าหาญของรัฐบาลในการตัดสินใจเชิงนโยบาย เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

ก๊าซฯมีความจำเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน

ดร.อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์ นักวิชาการด้านนโยบายพลังงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ช่วงของการเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่พลังงานสะอาดนั้น ก๊าซธรรมชาติยังถือว่ามีความสำคัญ แต่ปริมาณก๊าซในอ่าวไทยลดลงต่อเนื่อง เห็นได้จากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ระบุว่า การผลิตก๊าซในอ่าวไทยของไทยและบนบกจะลดลงเหลือเพียง 1,702 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในปี 2580

จากปัจจุบันผลิตที่ 2,645 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งจะส่งผลให้ต้องนำเข้า LNG ในราคาที่ผันผวนในปริมาณที่มากขึ้น 1,768 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในปี 2580 จากปัจจุบันนำเข้า 923 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

“หากไทยนำเข้า LNG ปริมาณ 10 ล้านตันในปี 2565 อ้างอิงราคา spot จะเกิดส่วนต่างของราคากับราคาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในอ่าวไทย ทำให้ต้นทุนก๊าซฯ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึง 33.15 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู และส่งผลให้ต้นทุนเชื้อเพลิง ในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นถึง 595,129 ล้านบาทต่อปี”

เพื่อลดภาระการนำเข้า LNG จึงจำเป็นต้องจัดหาจากแหล่งก๊าซที่มีศักยภาพ ซึ่งหนีไม่พ้นพื้นที่ OCA ที่คาดว่าจะมีก๊าซธรรมชาติ 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต และน้ำมันดิบ 300 ล้านบาร์เรล ที่จะมาตอบโจทย์ราคาก๊าซ และยังสามารถสร้างเศรษฐกิจให้กับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ปิโตรเคมี ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นผลบวกต่อประเทศไทย หากมองภาพสังคม สามารถสร้างทักษะ แรงงานที่มีฝีมือ และภาครัฐจะได้ภาษีจากการผลิตปิโตรเลียมด้วย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ภาครัฐควรต้องไปเจรจาต่อคือ การให้สิทธิสัมปทานบริษัทข้ามชาติตั้งแต่ 50 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศไทย ภาครัฐควรเจรจาบริษัทพลังงานข้ามชาติว่าจะให้สิทธิบริษัทพลังงานไทยร่วมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้หรือไม่

หวังก๊าซ OCA บรรจุในแผนพลังงานชาติ

นายสาร์รัฐ ประกอบชาติ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ตามแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) ของสนพ. ยังไม่ได้นำการจัดหาก๊าซจากแหล่ง OCA มาบรรจุอยู่ในแผน เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนในการเจรจา แต่มองว่า OCA มีความสำคัญและจำเป็น เนื่องจากจะเป็นแหล่งก๊าซขนาดใหญ่ ต้นทุนเนื้อก๊าซมีราคาไม่สูงเกินไป และราคาไม่ผันผวนเมื่อเทียบกับ LNG

หากสามารถเดินหน้าได้อย่างเป็นรูปธรรม ก็จะสอดคล้องกับแผนพลังงานชาติที่ต้องการก๊าซฯ ในระยะยาว แต่หาก OCA ยังไม่เกิดขึ้น การบริหารจัดการก๊าซ LNG แบบสัญญาระยะยาวก็จำเป็นและต้องมีสัดส่วนที่มากขึ้น เนื่องจากจะได้ราคาที่ถูกกว่าซื้อจากตลาดจร

นายวุฒิกร สติฐิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ก๊าซธรรมชาติยังมีความสำคัญในช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงาน เนื่องจากการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนยังเติบโตไม่เต็มที่ ดังนั้น การจัดหาแหล่งก๊าซจึงมีความจำเป็น หากรัฐบาลสามารถเจรจาพื้นที OCA ได้สำเร็จ ก็จะเป็นผลดีต่อประเทศ เพราะอยู่ใกล้กับแหล่งก๊าซที่ไทยพัฒนาในปัจจุบัน ลักษณะทางธรณีวิทยาก็ใกล้เคียงกัน มีโครงสร้างท่อก๊าซฯ รองรับอยู่แล้ว

ดังนั้น การเจรจาพื้นที่ OCA และแบ่งผลประโยชน์ปิโตรเลียมภายใต้ MOU 44 นั้น จะทำให้เกิดความมั่นคงของประเทศและมีราคาสมเหตุสมผลมากขึ้น และมีราคาต้นทุนที่ถูกลงได้เมื่อแหล่งพลังงานถูกนำมาใช้จะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ถือว่าได้ประโยชน์ทั้ง 2 ประเทศ

“ในอนาคตยังไม่สามารถทราบได้ว่า การเจรจาจะสำเร็จหรือไม่ ซึ่งประเทศจะต้องมีทางเลือกสำรอง เพราะเชื่อว่าการใช้ก๊าซ LNG ยังคงเป็นทางเลือกที่สามารถเดินหน้าต่อได้ทันที”

จี้รัฐบาลตั้งทีมเจรจา

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สะท้อนให้เห็นว่า การเจรจาพื้นที่ OCA มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน เพราะไม่มียุคไหนที่บรรยากาศระหว่าง 2 ประเทศดีขนาดนี้ และมองว่าเรื่องนี้ไม่ควรเป็นเรื่องการเมือง และเรื่องเกาะกูดไม่เกี่ยวกับ OCA ในสนธิสัญญาบอกไว้ชัดเจน ควรเดินหน้าตามกรอบ MOU 44 แต่ถ้ายกเลิกเรื่องจะไม่จบ รัฐบาลควรตั้งทีมเจรจาที่ได้รับการยอมรับ หาผู้ที่มีบารมี มีทีมที่เป็นข้าราชการประจำซัพพอร์ต มีเวทีสื่อสาร พูดคุย สร้างความเข้าใจกับทุกฝ่ายแบบ Focus Group เพื่อมารับฟังซึ่งกันและกัน

“ที่ผ่านมามีอดีตรัฐมนตรีพลังงานทั้งในและของต่างประเทศ ให้เร่งเดินหน้าการเจรจา และพัฒนาประโยชน์ ตามหลัก JDA แบบโปร่งใส เพื่อสร้างความเชื่อมั่น สร้างประโยชน์ให้กับประเทศ เพราะเวลานี้ไทยบอบช้ำเพียงพอแล้ว ทั้งจากปัญญาเศรษฐกิจภายในประเทศ และเศรษฐกิจโลก”

นายสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี นักวิชาการอิสระ เปิดเผยผลการศึกษา ปัญหาพื้นที่ที่มีการอ้างสิทธิ ทับซ้อนกันระหว่างไทยและกัมพูชา : ข้อพิจารณาเรื่องเขตแดนทางทะเลและการแบ่งปันผลประโยชน์ในทรัพยากรปิโตรเลียม ว่า สำหรับการเจรจาของพื้นที่ OCA นั้น ในผลการศึกษามีข้อเสนอแนะว่า การดำเนินการตาม MOU 2544 ควรมีการเจรจาต่อเนื่องเพื่อแบ่งเขตแดนทางทะเล และกำหนดข้อตกลงในการพัฒนาทรัพยากรร่วมกัน โดยใช้แนวทางที่เป็นกลางและไม่ยึดติดกับแนวคิดแบบชาตินิยม

ทั้งนี้เพื่อการลดความตึงเครียดทางการเมือง ควรมีการสร้างความเข้าใจระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศ โดยให้ข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจนเกี่ยวกับประโยชน์ที่ทั้งสองประเทศจะได้รับจากการพัฒนาทรัพยากรในพื้นที่ทับซ้อน

อีกทั้ง ควรนำแนวทางการพัฒนาร่วมระหว่างไทยและมาเลเซีย มาเป็นแบบอย่างที่ดีในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาททางทะเล การนำแนวทางนี้มาใช้กับกัมพูชาจะช่วยให้การเจรจาเป็นไปอย่างราบรื่นและสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศ ควรมีการพิจารณาและทบทวนข้อตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการอ้างสิทธิในเขตแดนทางทะเล เพื่อให้การเจรจาเป็นไปตามกฎหมายสากลและเกิดความยุติธรรมทั้งสองฝ่าย