“ทรัมป์” พลิกนโยบาย 360 องศา ลดโลกร้อนอืด กระทบปล่อยกู้กรีนไฟแนนซ์ไทย

08 พ.ย. 2567 | 04:10 น.
อัปเดตล่าสุด :08 พ.ย. 2567 | 10:56 น.
646

“ทรัมป์”ผงาดประธานาธิบดีคนที่ 47 ชี้นโยบายพลิกกลับ 360องศา จับตาลดโลกร้อนอืด ทรัมป์ไม่ช่วยจ่าย 1 ล้านล้านดอลลาร์ ดันประเทศกำลังพัฒนาสู่ Net Zero สะเทือนปล่อยกู้กรีนไฟแนนซ์ในไทย ฟันธงสินค้าจีนทะลักมากกว่าสมัยไบเดน เร่งผนึกกำลังอาเซียนรับมือ

 “โดนัลด์ ทรัมป์” คัมแบ็ก ได้กลับมานั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐอเมริกา ถือเป็นการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2 แบบเทอมเว้นเทอมเป็นคนแรกของสหรัฐในรอบ 130 ปี (ทรัมป์เป็นอดีตประธานาธิบดีคนที่ 45 ส่วนคนที่ 46 พลาดท่าให้กับโจ ไบเดน) หากไม่มีเหตุการณ์อะไรที่เป็นนัยสำคัญ นับจากนี้คาด "ทรัมป์" จะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม 2568 ท่ามกลางผู้นำทั่วโลก รวมถึงนายกรัฐมนตรี “แพทองธาร ชินวัตร” ของไทยได้ร่วมแสดงความยินดี และพร้อมให้ความร่วมมือในทุกด้าน

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ทั่วโลกรวมถึงไทยจับตาถึงผลกระทบที่จะตามมาหลังจากนี้ จากผลพวงที่ทรัมป์ได้สัญญาไว้ในการหาเสียงว่า หากได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ มี 7 นโยบายที่จะทำทันที เช่น การส่งผู้อพยพไร้เอกสารกลับประเทศ, จะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าต่างประเทศอย่างน้อย 10% และสินค้าจีนเพิ่มขึ้นอีก 60%, การลดกฎระเบียบด้านสภาพภูมิอากาศ, ยุติสงครามยูเครน เป็นต้น

สหรัฐเลี้ยวหัวกลับ 360 องศา

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การกลับมาของโดนัลด์ ทรัมป์ ในรอบนี้ นโยบายด้านต่าง ๆ เมื่อเทียบกับสมัยโจ ไบเดน ถือว่า “เลี้ยวหัวกลับ 360 องศา” โดย 4 ปีของไบเดน ส่วนหนึ่งของนโยบาย / มาตรการ ได้เน้นไปในเรื่องสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืน เรื่องคาร์บอนเครดิตเพื่อลดโลกร้อน ลดพลังงานจากฟอสซิล เน้นพลังงานสะอาด ส่งผลให้สถาบันการเงินต่าง ๆ ปล่อยพอร์ตสินเชื่อที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องเหล่านี้เป็นจำนวนมาก และการลงทุนของโลกก็ยึดโยงไปตามแนวทางเหล่านี้
“ทรัมป์” พลิกนโยบาย 360 องศา ลดโลกร้อนอืด กระทบปล่อยกู้กรีนไฟแนนซ์ไทย

ขณะที่ทรัมป์ ไม่ค่อยให้ความใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่สนับสนุน USCBAM โดยทรัมป์ในสมัยเป็นประธานาธิบดีสมัยแรกได้ยกเลิกกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อมหลายร้อยฉบับ และประกาศถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(ลดโลกร้อน) แต่ทรัมป์สนใจในเรื่องการขุดเจาะน้ำมัน และผลิตน้ำมันจากฟอสซิล ขุดเจาะก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น ถลุงเหล็กมากขึ้น ซึ่งหากทรัมป์กลับมาอาจมีการปรับเปลี่ยนโยบายแบบ 360 องศา

ผลพวงที่จะตามมาสำหรับประเทศไทยคือ กลุ่มอุตสาหกรรมหรือผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้ปรับตัว เพื่อนำสู่เรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) หากมีการเจรจากับสหรัฐ จะได้ประโยชน์ในการส่งออกสินค้าไปสหรัฐที่ไม่ต้องเข้มงวดในเรื่องนี้มากนัก หรืออาจขอขยายเวลาการบังคับใช้ออกไปได้

อานิสงส์ต่อมาคือ มีโอกาสที่รัฐบาลไทยจะรื้อฟื้นการเจรจากับสหรัฐ เพื่อนำไปสู่การจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) จากทรัมป์เน้นการเจรจาการค้าแบบทวิภาคีมากกว่าพหุภาคี เพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน เวลานี้มีหลายประเทศที่อยู่ระหว่างเจรจาเอฟทีเอกับสหรัฐ เช่น ไต้หวัน อินเดีย และจะขยายความร่วมมือกับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอังกฤษ ในกรอบเอฟทีเอที่มีอยู่ ซึ่งจะทำให้การค้าไทย-สหรัฐ ขยายตัวได้มากขึ้น และยังเป็นโอกาสดึงการลงทุนสหรัฐเข้าไทยได้เพิ่มขึ้น เช่น ในกลุ่มสินค้าอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ที่การผลิตในสหรัฐมีต้นทุนที่สูง

เรื่องความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์(Geopolitics) สงครามรัสเซีย-ยูเครน มีแนวโน้มคลี่คลายลง จากทรัมป์ประกาศจะเจรจากับประธานาธิบดีปูติน ของรัสเซีย เพื่อยุติสงคราม ส่วนสงครามในตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน และกลุ่มต่าง ๆ ในสมัยทรัมป์น่าจะยังเข้มข้นอยู่ เพราะทรัมป์ให้การสนับสนุนผู้นำอิสราเอล

สินค้าจีนทะลักไทยมากขึ้น

ด้านปัจจัยลบ สิ่งที่ไทยต้องระวังคือ สงครามการค้า และสงครามเทคโนโลยีสหรัฐ-จีน ในยุคทรัมป์จะรุนแรงมากขึ้น สิ่งที่ไทยต้องรับมือคือ สินค้าจีนจะทะลักมายังไทยและอาเซียนมากขึ้น จากสินค้าของจีนจะถูกเก็บภาษีเพิ่ม โดยทรัมป์ประกาศจะเก็บภาษีสินค้าจีนในทุกสินค้าเพิ่ม 60% ส่วนรถ EV จะเก็บเพิ่มถึง 200% ทำให้จีนต้องหาที่ระบายสินค้า จากจีนไม่มีนโยบายลดการผลิต ซึ่งจะทำให้สินค้าจีนทะลักมายังไทยเพิ่มขึ้นมากกว่าในสมัยไบเดน

นอกจากนี้ในประเด็นลดโลกร้อน ที่ในเวทีในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 29 (COP29) ที่ประเทศอาเซอร์ไบจาน มีวาระสำคัญที่จะผลักดันให้ประเทศที่พัฒนาแล้วใส่เงินตามเป้าหมาย 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ช่วยประเทศกำลังพัฒนาสู่ Net Zero ในยุคของทรัมป์ความเป็นไปได้ที่สหรัฐจะให้การสนับสนุนทางการเงินคงเป็นไปได้ยาก เพราะทรัมป์เน้นใช้งบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ

“มองว่าการปล่อยกู้กรีนไฟแนนช์ของสถาบันการเงินไทยในยุคทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ กรีนฟันด์รวมถึงหุ้นในกลุ่มพลังงานสะอาดไม่น่าจะเฟื่องฟูในสมัยทรัมป์ เพราะทรัมป์ยังเน้นสนับสนุนอุตสาหกรรมทั่ว ๆ ที่ยังปล่อยคาร์บอน เช่น เหล็ก น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ”

เปิดสินค้าไทยเสี่ยงถูกขึ้นภาษี

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากที่โดนัลด์ ทรัมป์ ได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ ถือมีความเสี่ยงต่อสินค้าไทยที่จะถูกขึ้นภาษีนำเข้าและถูกกีดกันการค้า จากช่วงที่ผ่านมาไทยเกินดุลการค้าสหรัฐต่อเนื่อง โดยสินค้าที่ไทยเกินดุลการค้าสูงและมูลค่าการส่งออกยังขยายตัวได้ดี เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เซมิคอนดักเตอร์ ยางล้อ และกลุ่มสินค้าเกินดุลปานกลาง และมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เช่น เครื่องปรับอากาศ โซลาร์เซลล์ เป็นต้น

“ทรัมป์เป็นนักธุรกิจ และเป็นคนพูดตรงไปตรงมา หากมีการขึ้นภาษีสินค้านำเข้า ไทยคงไม่เสียเปรียบมากเท่าจีน ที่จะถูกเก็บภาษีสูงขึ้นมากกว่า เช่น รถ EV จีนจะขึ้นภาษี 200% และจีนได้ย้ายฐานผลิตรถ EV มาไทย ดังนั้นไทยจะต้องไม่ทำให้สหรัฐฯรู้สึกว่า จีนแค่ย้ายฐานผลิตมา และยังใช้ซัพพลายเชนทั้งหมดจากจีนไม่ได้ใช้โลคอนคอนเท้นต์ส่วนใหญ่จากไทย ซึ่งอาจนำไปสู่การใช้มาตรการทางการค้าของสหรัฐกับไทยได้”

ดึงผลิตในสหรัฐ-ขึ้นภาษีนำเข้า

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า จากนโยบาย America First ของโดนัลด์ ทรัมป์ ประเมินเบื้องต้นสำหรับสถานการณ์ที่อาจเป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้น คือ 1.การผลิตอะไรก็ตามที่สหรัฐสามารถทำได้ในต่างประเทศ จะถูกดึงกลับไปผลิตที่สหรัฐ ส่วนสินค้าจากประเทศอื่นแน่นอนว่ากำแพงภาษีจะสูง 2.สหรัฐขาดดุลการค้ากับใครบ้าง ทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภคนำเข้าที่เกินดุลการค้าจะถูกขึ้นภาษี และแน่นอนว่าจะเริ่มที่สินค้าจีนเป็นอันดับแรก

“นโยบายของสหรัฐค่อนข้างชัดเจนว่า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หรือชิปต่าง ๆ ที่ผลิตจากจีน จะไม่ให้นำเข้าอย่างเด็ดขาดและไม่ให้เป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์ใดก็ตาม ไม่ว่าจะอ้อมไปยังไงก็ไม่มีทางเข้าสหรัฐได้ ขณะที่สินค้าประเภทอื่นจะต้องรอดูว่าอะไรมีความจำเป็นที่ต้องใช้ในสหรัฐ และต้องใช้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งอัตราภาษีคงแตกต่างกันไป”

อย่างไรก็ดี ต้องดูว่าทรัมป์จะมีนโยบายอะไรบ้างหลังจากนี้ ซึ่งแม้จะมีความเสี่ยงเรื่องภาษีนำเข้าแต่ก็ยังมีโอกาสที่ซ่อนอยู่ หากสินค้าจีนถูกปฏิเสธ แต่สินค้าจากประเทศอื่นยังไปได้ สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยจะต้องทำหลังจากนี้คือ การผลิตสินค้าที่ยังคงคอนเซ็ปต์ไม่ให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคในสหรัฐและในยุโรปได้ ที่สำคัญไทยต้องเตรียมรับมือกับสินค้าจีน ทั้งในประเทศและตลาดต่างประเทศ หากสินค้าจีนสามารถทดแทนสินค้าไทยได้ ซึ่งสงครามราคาจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน โดยสินค้าจีนได้เปรียบที่ราคาถูกกว่า

อาเซียนผนึกกำลังรับมือสินค้าจีน

นายนาคาญ์ ทวิชาวัฒน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และประธานคลัสเตอร์สุขภาพและความงาม กล่าวว่า จากโดนัลด์ ทรัมป์ มีนโยบายปิดกั้นสินค้าจากจีน และคาดในปี 2568 สินค้าจีนจะทะลักเข้ามาในไทยและประเทศในอาเซียนมากขึ้น ล่าสุดผู้ประกอบการบางส่วนจากหอการค้า สภาอุตสาหกรรม และสภาธุรกิจต่าง ๆ จาก 5 ประเทศอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ได้หารือกันภายใน

ทั้งนี้ได้มองไปถึงการช่วยเหลือกันภายในอาเซียน เกี่ยวกับการผลิตสินค้าเพื่อให้ต้นทุนลดลงไปกว่าเดิม หรือผลิตสินค้าเพื่อใช้กันเองในอาเซียนมากขึ้น เพราะหากมัวแต่แข่งขันกันเอง ขณะที่สินค้าราคาถูกจากจีนทะลักเข้ามา จะเกิดผลเสียอาจถึงขั้นปิดโรงงานได้ อีกทั้งต้องจับมือเป็นพาร์ทเนอร์หรือเป็นพันธมิตรกับจีนในบางส่วนด้วย เพื่อลดข้อเสียเปรียบทางด้านการค้า เพราะสุดท้ายเราก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงจีนได้

เหรียญ 2 ด้าน ไทยมีได้-เสีย

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า การกลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอีกครั้งของโดนัลด์ ทรัมป์ ไทยอาจเผชิญปัญหาจากนโยบาย “America First” ส่งผลให้เกิดความตึงเครียดทางการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะเกิดการกีดกันทางการค้าหรือ Trade War ที่จะกระทบต่อประเทศคู่ค้าของสหรัฐซึ่งรวมถึงไทย

“ทรัมป์มีนโยบายที่เน้นการปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐ ด้วยมาตรการที่เสมือน “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” โดยใช้กฎหมายในการจำกัดหรือกีดกันคู่แข่งทางการค้า โดยเฉพาะประเทศที่มีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐ ซึ่งส่งผลให้หลายประเทศรวมถึงไทย อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการทางการค้าของสหรัฐที่เข้มงวดมากขึ้น ในทางกลับกันก็อาจเป็นโอกาสให้ไทยดึงดูดการย้ายฐานการผลิตจากต่างประเทศมาสู่ประเทศไทย เนื่องจากทรัพยากร โครงสร้างพื้นฐาน และทักษะแรงงานที่สูงกว่าเวียดนาม รวมถึงไทยมีจุดเด่นในเรื่องของความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งอาจส่งผลให้ไทยมีความน่าสนใจมากขึ้นในสายตานักลงทุน”

นอกจากนี้ไทยยังมีโอกาสที่จะเป็นฐานการลงทุนใหม่สำหรับกลุ่มนักลงทุนจากตะวันออกกลางและแอฟริกา หากสถานการณ์ทางการค้าของกลุ่มประเทศเหล่านั้นมีความขัดแย้งกับสหรัฐ ซึ่งประเทศไทยอาจได้รับการพิจารณาเป็นศูนย์กลางของการค้าและการลงทุนในภูมิภาคนี้

ท่องเที่ยวสหรัฐ-ไทยไปต่อ

นายอดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า จาก “ทรัมป์” จะเป็นประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐ ในมุมมองตลาดการท่องเที่ยวของไทย คงไม่มีทางกระทบทางตรง และคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะสหรัฐเป็นตลาดระยะไกล ไม่มีพรมแดน และนโยบายด้านการเดินทางนั้นประเทศไทยเปิดกว้างให้สหรัฐเต็มที่อยู่แล้ว ส่วนนโยบายของสหรัฐมีต่อตลาดคนไทยไปอเมริกา ยังมองว่า คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตามประเทศไทย คงต้องมองตลาดท่องเที่ยวเอเชียแปซิฟิกเป็นหลัก จากระยะการเดินทางไม่ไกล เศรษฐกิจยังโตได้ดี ประเทศไทยยังคงเป็นเป้าหมายหลักในตลาดนี้ โดยต้องการยกระดับมาตรฐานซัพพลายเชน ของไทยให้มีความสะดวก รวดเร็ว และ ปลอดภัย Tourism Risk Management ที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง วางเป้าหมายอย่างมีกลยุทธ์ ที่ภาคปฏิบัติสามารถทำได้

ดอลลาร์แข็งค่า-เงินเฟ้อจ่อพุ่ง

นายวิชัย เบญจรงคกุล  กรรมการผู้จัดการใหญ่ และ ประธานบริหาร กลุ่มเบญจจินดา กล่าวว่าจาก ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง และจะได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ มีแนวโน้มเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่ามากขึ้น ขณะเดียวกันดอกเบี้ยในสหรัฐคงมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นอีก รวมถึงเงินเฟ้อ

ขณะที่จีนจะมาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น เพื่อสิทธิประโยชน์ทางการค้าของประเทศไทยในการส่งออกไปสหรัฐและยุโรป สงครามการค้าสหรัฐ และจีนจะแรงขึ้น ดังนั้นสินค้าทุกชนิดของจีนทะลักเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ขณะที่จีนจะนำเข้าสินค้าจากประเทศไทนน้อยลงและยังคงส่งเสริมให้คนจีนเที่ยวและใช้จ่ายในประเทศอีกด้วย

ส่วนรถยนต์ไฟฟ้า (EV) จีนที่ขายให้กับสหรัฐ และยุโรปที่ถูกกีดกันการค้า โดยตั้งกำแพงภาษีที่สูงขึ้นเมื่อรถจีนไปไม่ได้ หรือไปได้ลดลง จะทะลักมาสู่ตลาดเอเชียในราคาที่ถูกมากเพื่อระบายสต๊อก ซึ่งไทยต้องติดตามแบบแยกประเภท คือ สินค้าไทยแท้ สินค้าประกอบในไทย และสินค้าผ่านไทย (สินค้าผ่านเข้าไทยมาอาศัยสิทธิประโยชน์ทางการค้าแต่ทุกอย่างเป็นของต่างชาติหมด แม้แต่บริษัทดำเนินการในไทยก็โดยคนต่างชาติ)

AI มองบวก-ดาต้าเซ็นเตอร์ไหลเข้า

ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอแอพพ์เทคโนโลยี จำกัด (iAPP) ในฐานะนายกสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ไทย (AIEAT) กล่าวว่า ส่วนตัวมองมุมบวกต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยี และ AI ของไทย ภายหลังโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับชัยชนะกลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐในรอบใหม่ โดยสงครามการค้า และเทคโนโลยี ระหว่างสหรัฐ-จีนจะแรงขึ้น เพราะนโยบายของทรัมป์ชัดเจนต้องการกีดกันการค้าจากจีนโดยตั้งกำแพงภาษีเพิ่มขึ้น

ขณะที่ตลาด AI ในจีนเติบโตสูงขึ้นมาก ความต้องการ GPU หรือ หน่วยประมวลผลกราฟิกส์ เพื่อใช้ประมวลผล AI มากขึ้น ซึ่งดาต้าเซ็นเตอร์ ของจีนไม่เพียงพอรองรับ ทำให้ดาต้าเซ็นเตอร์ทั่วโลกแห่เข้ามาตั้งในไทยมากขึ้น ขณะที่บริษัท AI ของจีนมาเช่าใช้ดาต้าเซ็นเตอร์ และใช้บริการ GPU ในไทยมากขึ้น

ดิจิทัลไทยตั้งรับสหรัฐบุก

ส่วน นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ  ซีอีโอ กลุ่มบริษัท efrastructure Group จำกัด กูรูด้านอีคอมเมิร์ซ และดิจิทัลเซอร์วิสเมืองไทย กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวล และคิดว่าไทยควรหาทางรับมือ คือดุลการค้าไทย-สหรัฐ ที่ไทยยังเกินดุลสูง(ปี 2566 ไทยเกินดุลการค้าสหรัฐ 29,371 ล้านดอลลาร์) หลังจากทรัมป์ขึ้นเป็นประธานาธิบดีอาจมีการทบทวนเพื่อลดการเสียเปรียบดุลการค้ากับประเทศที่สหรัฐขาดดุล

นอกจากนี้ยังจะเห็นสินค้าและบริการดิจิทัลจากสหรัฐ ขยายเข้ามาในไทยมากขึ้น ซึ่งจะกระทบกับผู้ประกอบการไทยที่ต้องเตรียมตัวตั้งรับ ส่วนที่กังวลว่าจะทำให้สินค้าจีน ที่ถูกปิดกั้นจากสหรัฐ และหลั่งไหลเข้ามาภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งไทยมากขึ้นนั้น มองว่าขณะนี้รัฐบาลเริ่มตื่นตัว มีการตั้งการ์ดสูง เพื่อป้องกันการทะลักเข้ามาของสินค้าจีน

จับตาจีนกว้านซื้อที่ดินไทย

ด้านนายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สะท้อนว่า กรณีโดนัลด์ ทรัมป์ ก้าวขึ้นเป็นผู้นำสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง แน่นอนว่าจะเกิดผลกระทบไปทั่วโลก และต้องรอดูนโยบายที่แน่ชัดว่าจะมีอะไรเพิ่มเติมออกมา

อย่างไรก็ตาม ศัตรูทางการค้าหมายเลขหนึ่งของสหรัฐคือจีน ที่จะถูกสกัดทุกวิถีทาง จากกำแพงภาษีที่สูงกว่าประเทศอื่น ส่งผลให้ทุนจีนต้องหาทางออกโดยย้ายฐานการผลิตมายังประเทศในแถบอาเซียน รวมถึงประเทศไทย ที่กฎหมายไม่เข้มงวด โครงสร้างพื้นฐานดี ต้นทุนราคาที่ดิน ค่าแรงต่ำ เมื่อเทียบกับจีน

ทั้งนี้มองว่ารัฐบาลไทยต้องตั้งรับ และออกกฎหมายควบคุม ทั้งสินค้าราคาถูกจะส่งมาที่ไทยและอาเซียนมากขึ้น ทำให้เอกชนไทยเองได้รับผลกระทบ ที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้น จะเกิดการกว้านซื้อที่ดินลงทุนทั้งโรงงาน ที่อยู่อาศัยจะง่ายขึ้นโดยผ่านนอมินี เรื่องนี้รัฐบาลต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับกฎหมายที่ออกมา เพื่อให้สิ่งที่อยู่ใต้โต๊ะขึ้นมาอยู่บนโต๊ะ

"ที่น่ากังวลเกรงว่าไทยจะถูกหางเลข เพราะจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย (ส่งออก+นำเข้า) อีกทั้งหากไทยให้จีนหลบภัย ตั้งฐานการผลิต ผลที่ตามมาอาจถูกสหรัฐเพ่งเล็งและแซงชั่นได้"

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4043 วันที่  10 -13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567