ผ่าปัญหาคนจนไทย 2 ปี รายได้เพิ่ม 36 บาท สวนทางรายจ่ายพุ่ง

03 พ.ย. 2567 | 11:01 น.
920

ผ่าปัญหาคนจนไทย และสถานการณ์ความยากจนล่าสุด ในปี 2566 สศช.รายงานด้านรายได้ของครัวเรือนยากจน พบในช่วง 2 ปีที่ทำการสำรวจ รายได้เพิ่มขึ้นแค่ 36 บาท น่าห่วง 1 ใน 4 ครัวเรือนรายจ่ายพุ่ง

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สศช.ได้ รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ประจำปี 2566 โดยเมื่อตรวจสอบเรื่องสถานภาพทางเศรษฐกิจและการทำงานของ "คนจนไทย" ในด้านรายได้และค่าใช้จ่ายของครัวเรือนยากจน พบว่า แม้รายได้จะปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ครัวเรือนไทยที่ยากจนส่วนหนึ่งยังคงประสบปัญหาด้านรายได้ไม่เพียงต่อค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

 

ภาพประกอบข่าว สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี 2566 ด้านรายได้

 

สศช. รายงานข้อมูลว่า จากข้อมูลในปี 2566 ครัวเรือนยากจนมีรายได้ประจำเฉลี่ยต่อเดือนสูงขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 11,123 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีรายได้ 11,087 บาท หรือเพิ่มขึ้น 36 บาท คิดเป็นสัดส่วนการเพิ่มขึ้นที่ 0.32% สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างช้า ๆ 

โดยรายได้ที่เป็นตัวเงินมีมูลค่า 8,365 บาท ต่อเดือน เพิ่มขึ้นจาก 8,293 บาทต่อเดือน ในปี 2564 ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของค่าจ้างและเงินเดือน (Wages and Salaries) เฉลี่ยต่อครัวเรือนของภาคเกษตรกรรมที่มีคนจนส่วนใหญ่ทำงานอยู่

ทั้งนี้หากพิจารณาเฉพาะรายได้ที่เป็นตัวเงิน พบว่า โครงสร้างรายได้ของครัวเรือนยากจนและครัวเรือนที่ไม่ยากจนมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ครัวเรือนยากจนพึ่งพารายได้จากค่าจ้าง/เงินเดือน กำไรจาก การเกษตร และเงินช่วยเหลือจากภาครัฐเป็นหลัก ในขณะที่ครัวเรือนที่ไม่ยากจนมีรายได้หลักจากค่าจ้าง/ เงินเดือน กำไรจากธุรกิจนอกภาคเกษตร และกำไรจากการเกษตร 

สะท้อนให้เห็นว่า ครัวเรือนยากจนมีแนวโน้มเผชิญกับความไม่แน่นอนของรายได้มากกว่า เนื่องจากรายได้ถึง 43.70% มาจากกำไรจากการเกษตร ซึ่งได้รับอิทธิพลจากปัจจัยภายนอกที่คาดเดาได้ยาก และเงินช่วยเหลือจากภาครัฐและเงินโอนจากบุคคลอื่นที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้

ส่วนเรื่องค่าใช้จ่าย พบว่า ครัวเรือนยากจนมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 8,287 บาท คิดเป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อเดือนที่ 2,379 บาท โดยค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้จ่ายในด้านอาหารและเครื่องดื่ม 54.27% ตามมาด้วย ค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัย 16.78% และค่าเดินทางและการสื่อสาร 11.40% 

สำหรับการที่ค่าใช้จ่ายด้านอาหาร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตมีสัดส่วนสูงมากกว่าครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายทั้งหมด สะท้อนให้เห็นว่า ครัวเรือนยากจนมีข้อจำกัดในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายไปยังด้านอื่น ๆ ทำให้มีโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสะสมเงินออมได้น้อย 

อีกทั้งบ่งชี้ถึงความเปราะบางของครัวเรือนยากจนต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาอาหาร หากราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ของครัวเรือนยากจนอย่างมาก และอาจทำให้สภาพความยากจนรุนแรงขึ้นได้

 

ภาพประกอบข่าว สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี 2566 ด้านรายได้

 

อย่างไรก็ตามหากพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างรายได้ประจำกับรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือน ยากจน 12 พบว่า เกือบ 1 ใน 4 ของครัวเรือนยากจนมีรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย 

โดยในปี 2566 มีครัวเรือนยากจน จำนวน 1.58 แสนครัวเรือน ที่มีรายได้ประจำไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค หรือ คิดเป็น 23.08% ของครัวเรือนยากจนทั้งหมด ซึ่งปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากปี 2564 อยู่ที่ 18.77% โดยมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ประมาณ 1,456 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน หรือคิดเป็น 1.22 เท่าของรายได้ประจำ

สรุปปัญหาความยากจนคนไทย ปี 2566 

  • จำนวน "คนจนไทย" ลดลง จาก 3.79 ล้านคน ในปี 2565 มาอยู่ที่ 2.39 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนคนจน 3.41% ลดลงจากปีที่ผ่านมา ที่อยู่ที่ 5.43%
  • ดัชนีความยากจน หลายมิติมีค่าเท่ากับ 0.032 โดยสัดส่วนคนจนหลายมิติต่อประชากรทั้งหมดอยู่ที่ 8.76% คิดเป็นจำนวนคนจนหลายมิติประมาณ 6.14 ล้านคน และระดับความรุนแรงของความยากจนอยู่ที่ 37.06% 
  • ประชากรที่ไม่ได้เรียนหนังสือมีสัดส่วนคนจนมากที่สุดอยู่ที่ 9.51%
  • คนจน 97.53% ได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลจากภาครัฐในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง 
  • ผู้สูงอายุยากจนที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุลดลงเล็กน้อย จาก 96.16% ในปี 2565 เป็น 94.19% ในปี 2566 
  • สัดส่วนคนพิการยากจนที่ได้รับเบี้ยความพิการลดลงอย่างมาก จาก 81.34% ในปี 2565 เป็น 73.85% ในปี 2566