เปิดสมุดปกขาว เอกชนชง 17 ประเด็นเร่งด่วน กางเป้าปั๊ม GDP โต 5%

28 ต.ค. 2567 | 15:35 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ต.ค. 2567 | 15:52 น.

เปิดประเด็นสำคัญภายใต้ “สมุดปกขาว” ข้อเสนอ กกร. ยื่นต่อนายกฯ “แพทองธาร ชินวัตร” จับตา 17 ประเด็นเร่งด่วนรัฐบาลรับลูก กระตุ้นเศรษฐกิจ กางเป้าหมายดัน GDP ไทย โต 5%

ประเด็นสำคัญภาคเอกชน โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เข้าหารือกับน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี วันที่ 28 ตุลาคม 2567 พร้อมกับยื่น “สมุดปกขาว” ซึ่งเป็นข้อเสนอของภาคเอกชน เกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ให้กับนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณานั้น 

ข้อเสนอของภาคเอกชนภายใต้ “สมุดปกขาว” มีเนื้อหาที่น่าสนใจหลายเรื่องจากการระดมความเห็นจากภาคธุรกิจในสาขาต่าง ๆ และจัดทำเป็นสมุดปกขาวข้อเสนอทางเศรษฐกิจเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลในการพิจารณาดำเนินการทั้งใน ระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว 
โดยมีประเด็นข้อเสนอเป็น 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ 

  • การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 
  • การช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 
  • การบริหารจัดการน้ำ 
  • การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว กระทบการส่งออกในภาคเกษตรและการผลิต หนี้ครัวเรือนสูง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมยังพึ่งพาการผลิตต้นทุนต่ำขาดนวัตกรรม และการพัฒนาทักษะแรงงานยังไม่ทันต่อความต้องการ โดยมีข้อเสนอระยะเร่งด่วน ได้แก่

1. มาตรการลดภาระค่าครองชีพประชาชนและต้นทุนของผู้ประกอบการ ทั้งการควบคุมราคา สินค้าพื้นฐานและบริการที่จำเป็น การตรึงราคาค่าไฟฟ้า น้ำมันดีเซล เพื่อลดต้นทุนผู้ประกอบการและลดภาระของประชาชน รวมถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำโดยเอกชนขอให้เป็นไปตามกลไกคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด และ คณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) 

รวมทั้งการแก้ไขปัญหาหนี้โดยเฉพาะหนี้เสียจากสินเชื่อรถยนต์ (กระบะ) ซึ่งถือเป็นเครื่องมือทำมาหากินของประชาชน จำเป็นต้องมีมาตรการ ผ่อนผันเพื่อบรรเทาภาระของประชาชนให้สามารถกลับมาประกอบกิจการได้

2. การลดราคาพลังงานและปรับโครงสร้างราคาพลังงาน และผลักดันให้มีการจัดตั้ง คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาพลังงาน (กรอ.พลังงาน)

3. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยแยกวิธีการให้เหมาะสมและใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ 

  • มุ่งเป้ากระตุ้นเศรษฐกิจไปยังกลุ่มเปราะบางเป็นสิ่งเร่งด่วนก่อน ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้ว 
  • ประชาชนกลุ่มที่ยังพอมีกำลังซื้อ สามารถดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะโครงการคูณสองเพื่อช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้เกิดขึ้นในระบบ เศรษฐกิจโดยรัฐบาลไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณมาก 
  • สำหรับกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง สามารถออกมาตรการดึงการจับจ่ายใช้สอยให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น เช่น มาตรการ Easy e-Receipt และมาตรการทางภาษีอื่น ๆ โดยรัฐไม่ต้องใช้งบประมาณ

4. กระจายงบประมาณไปยังภูมิภาคอย่างทั่วถึง กระตุ้นให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เร่งใช้จ่ายงบประมาณตามแผนงานโครงการที่มีอยู่ในแต่ละพื้นที่ เพื่อเป็นส่วนเสริมให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว

 

เปิดสมุดปกขาว เอกชนชง 17 ประเด็นเร่งด่วน กางเป้าปั๊ม GDP โต 5%

 

การช่วยเหลือธุรกิจ SME 

ปัจจุบัน SMEs ยังประสบปัญหา ในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ตลอดจนขาดการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ใน การปรับปรุงประสิทธิภาพและผลิตภัณฑ์ โดยมีข้อเสนอระยะเร่งด่วน ได้แก่

1. การเร่งสร้างความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการเพื่อให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศได้ โดยการศึกษาผลกระทบของสินค้าที่ทะลักเข้ามาในประเทศอย่างจริงจัง การใช้ Data Driven ส่งเสริมสินค้าไทยผ่าน Platform E-Commerce 

ควบคู่ไปกับการผลักดันสินค้าไทยออกไปในต่างประเทศ การจัด Priority สินค้าบางประเภทของไทยที่จำเป็นต้องมีมาตรการปกป้องและใช้เป็นมาตรฐานอย่างเท่าเทียมกับประเทศ อื่นๆ การเพิ่มมาตรการด้านการลงทุนโดยเน้นใช้ Local Content ให้มากที่สุด มีมาตรการควบคุมระบบชำระเงิน Payment ต่างชาติให้เข้าสู่ระบบที่ถูกต้อง ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย และการจัดเก็บภาษีแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างชาติ

2. สนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อ มาตรการค้ำประกันสินเชื่อ และกองทุนต่าง ๆ ทั้ง สสว. บสย. และธนาคารแห่งประเทศไทย

3. การส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ SME โดยมีมาตรการทางการเงินเพื่อเพิ่มสภาพ คล่องให้กับ SME ทั้งกลุ่มที่มีปัญหาเครดิตบูโรและอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้ โดยควรจัดสรรวงเงินเฉพาะเพื่อช่วยเหลือเพื่อประคองธุรกิจ และการผ่อนปรนเงื่อนไขการพิจารณาปล่อยสินเชื่อ สำหรับกลุ่มที่สามารถดำเนินกิจการได้ปกติ รัฐบาลควรมีมาตรการสินเชื่อ พิเศษดอกเบี้ยต่ำ ปรับเพิ่มระยะเวลาการผ่อนเป็นทางเลือก และการปรับลดค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อ 

รวมถึงมาตรการส่งเสริมและผลักดันผู้ประกอบการสู่ Smart SME เช่น จัดตั้งกองทุนเพิ่มผลิตภาพการผลิตด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ การจัดหาตลาดรองรับสินค้านวัตกรรม การจัด Event แสดงสินค้าไทยในต่างประเทศ สนับสนุนเงินทุนสำหรับการขอการรับรองด้านสิ่งแวดล้อมแก่ SME และการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อส่งเสริม Ease of Doing Business

4. Corporate digital ID ระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลสำหรับนิติบุคคล เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลที่จดเป็นทะเบียนนิติบุคคล ในการแก้ปัญหาบัญชีม้าที่เป็นบัญชีนิติบุคคล

 

เปิดสมุดปกขาว เอกชนชง 17 ประเด็นเร่งด่วน กางเป้าปั๊ม GDP โต 5%

 

การบริหารจัดการน้ำ 

ด้านการบริหารจัดการน้ำ เพื่อไม่ให้เกิดน้ำท่วมและน้ำแล้งซ้ำซาก มีข้อเสนอระยะเร่งด่วน ได้แก่

1. มาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการทางด้านการเงินและการลงทุน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถประกอบกิจการได้ในกรณีที่ประสบสถานการณ์ที่เกิดจากภัยพิบัติ

2. การบูรณาการหน่วยงานภาครัฐในการบริหารจัดการน้ำ การพัฒนาระบบแจ้งเตือนแบบ Real time ผ่านระบบโทรศัพท์มือถือ

3. การจัดตั้ง War Room ของรัฐบาลเพื่อสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ

4. ผลักดันให้มีการพัฒนาและเชื่อมต่อแหล่งน้ำทั่วประเทศ

 

เปิดสมุดปกขาว เอกชนชง 17 ประเด็นเร่งด่วน กางเป้าปั๊ม GDP โต 5%

 

การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน จะช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจทั่วประเทศ ส่งผลให้คนไทยมีงานที่มีคุณภาพ รายได้สูง และเศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ข้อเสนอระยะเร่งด่วน ได้แก่

1. ผลักดันและขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุนใน EEC โดยเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ให้แล้วเสร็จตามแผนงาน การจัดทำสิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจและดึงดูดการลงทุน และเสนอ ให้เพิ่มจังหวัดปราจีนบุรี เป็นอีก 1 จังหวัดที่รวมอยู่ในพื้นที่ EEC

2. การอำนวยความสะดวกด้านการถ่ายลำทางเรือในระบบคอนเทนเนอร์ ณ ท่าเรือแหลมฉบัง โดยขอพิจารณาจัดทำ Transshipment Sandbox เป็นระยะเวลา 1 ปี

3. การปกป้องผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยเฉพาะสินค้านำเข้าที่ไม่มีคุณภาพ และการทุ่มตลาด การส่งเสริมสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย สินค้าที่ได้รับการรับรอง Made in Thailand (MIT) และการส่งเสริมสินค้าไทยด้วยการโปรโมตซอฟต์พาวเวอร์

4. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบโลจิสติกส์ และการส่งเสริมการค้าชายแดน โดยเฉพาะ การเจรจากับเพื่อนบ้านเพื่อยกระดับจุดผ่านแดนทางการค้า การแก้ไขข้อจำกัดและ อุปสรรคการขนส่งสินค้าจากไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน การปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อ ส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพการนำเข้า - ส่งออกสินค้าทางอากาศ

5. เร่งรัดการปรับปรุง - ทบทวน กฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับและกระบวนงานที่เกี่ยวกับ การอนุญาต และการนำเทคโนโลยีมาใช้ในขั้นตอนการดำเนินงานทั้งหมดของภาครัฐ 

 

เปิดสมุดปกขาว เอกชนชง 17 ประเด็นเร่งด่วน กางเป้าปั๊ม GDP โต 5%

 

นอกจากนี้ในช่วงของการหารือ กกร. ยังเสนอ นายกฯ ฟื้นกลไกของการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) โดยกำหนดการจัดประชุม กรอ. อย่างสม่ำเสมอทุก ๆ 6 เดือน เพื่อให้ กรอ. เป็นกลไกสำคัญกับการแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้เต็มศักยภาพ โดยมีเป้าหมายให้จีดีพีไทยกลับมาเติบโตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3 – 5% ในอนาคตอันใกล้ต่อไป