วันนี้ (28 ตุลาคม 2567) นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาตร์ เปิดเผยว่า จากผลสำรวจข้อมูล ณ วันที่ 23 ต.ค. 67 ซึ่งจัดทำโดย Reuters ร่วมกับ IPSOS ระบุว่า มลา แฮร์ริส มีคะแนนนิยมนำทรัมป์ที่ 46.0% ต่อ 43.0% ขณะที่ผลสำรวจซึ่งจัดทำโดย Five-Thirty-Eight ระบุว่า แฮร์ริสมีคะแนนนิยมนำทรัมป์ที่ 48.2% ต่อ 46.4% โดยมีเพียง 5.4% ยังไม่ตัดสินใจเลือก อย่างไรก็ตาม คะแนนนิยมอยู่ในระดับใกล้เคียงกันมาก ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดระยะเวลาก่อนการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 5 พ.ย. 67
ทั้งนี้ กมลา แฮร์ริส มีนโยบายของแฮร์ริสมุ่งเน้นลดค่าใช้จ่ายสำหรับชนชั้นแรงงาน ควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ เพิ่มสวัสดิการสังคม ควบคุมราคายา/ค่ารักษาพยาบาล/พลังงานในประเทศ ซึ่งหากแฮร์ริสชนะเลือกตั้ง คาดว่าการดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศและการค้าระหว่างประเทศจะเป็นไปในทิศทางเดิม
ขณะเดียวกัน ยังต้องติดตามว่าจะมีการประกาศนโยบาย หรือมาตรการเพิ่มเติมหรือไม่ อาจมีการส่งเสริมความร่วมมือด้านเทคโนโลยีกับพันธมิตรในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการลงทุน อาจมีแนวโน้มใช้มาตรการทางภาษีกับจีนนุ่มนวลกว่าทรัมป์ แต่ก็ยังอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงกับจีนอย่างเลี่ยงไม่ได้
ไทยอาจจะได้ประโยชน์จากผลดีต่อการลงทุนในประเทศโดยเฉพาะด้านพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานชีวมวล ซึ่งอาจเปิดโอกาสให้บริษัทไทยที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้เข้าร่วมลงทุนในสหรัฐฯ รวมถึงการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่จะนำมา เช่น การผลิตแบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูง
ขณะเดียวกัน นโยบายของ กมลา แฮร์ริส อาจส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยี 5G และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งเปิดโอกาสให้บริษัทโทรคมนาคม และซอฟต์แวร์ของไทยเข้าร่วมในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก รวมถึงโอกาสในการร่วมทุนระหว่างบริษัทไทยและสหรัฐฯ ในอุตสาหกรรมที่เป็นอนาคตต่าง ๆ เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ (AgriTech) ซึ่งเป็นจุดแข็งของไทย
สำหรับ นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนอุตสาหกรรมสีเขียว ส่งผลให้ไทยอาจต้องปรับเพิ่มมาตรการ การผลิตเพื่อให้รักษาส่วนแบ่งตลาดภายในสหรัฐฯ ซึ่งจะก่อให้เกิดต้นทุนส่วนเพิ่มที่เลี่ยงไม่ได้ รวมถึง การสนับสนุนยูเครน และอิสราเอลส่งผลกระทบทางอ้อมต่อต้นทุนพลังงานและความไม่มั่นคงของเศรษฐกิจโลกในทางอ้อม และการไม่เผชิญหน้า ทางเศรษฐกิจกับจีนโดยตรงส่งผลให้สหรัฐฯ อาจต้องประสานความร่วมมือกับชาติพันธมิตรซึ่งส่งผลให้ไทยอาจจำเป็นต้องมี จุดยืนในฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ด้าน โดนัลด์ ทรัมป์ นโยบายของทรัมป์มุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศสอดคล้องกับการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ส่งผลต่อเนื่องให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นโดยเปรียบเทียบและจะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกของไทย ซึ่งหากทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง
ทั้งนี้ อาจเห็นการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญในด้านนโยบายการต่างประเทศและจุดยืนบนเวทีความมั่นคงโลกในด้านภูมิรัฐศาสตร์ (ลดการให้ความช่วยเหลือประเทศที่อยู่ในพื้นที่ขัดแย้ง เช่น ยูเครน และลดบทบาทของสหรัฐฯ ในการสนับสนุนความมั่นคงในเวทีโลกอย่าง NATO)
ขณะที่ การเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญในด้านนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ การใช้มาตรการปกป้องทางการค้าของสหรัฐฯ จะเข้มข้นขึ้น รวมถึงสงครามการค้ากับจีนจะทวีความรุนแรงมากขึ้น มาตรการภาษีนำเข้าซึ่งมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนอาจเพิ่มมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี
ทั้งนี้ ไทยอาจจะได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังไทยความต้องการสินค้าทดแทนสินค้าจีนจากไทยในตลาดสหรัฐฯ ที่อาจเพิ่มขึ้น และอาจได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีอาจส่งผลทางอ้อมให้ไทยมีต้นทุนในการปรับปรุง มาตรฐานการผลิตให้สอดคล้องกับสหรัฐฯ เพื่อรักษาในตลาดสหรัฐฯ
ทั้งนี้ หากทรัมป์ได้รับชัยชนะ นโยบาย "America First" อาจส่งผลให้การลงทุนจากสหรัฐฯ ในประเทศไทยลดลง โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการผลิต การใช้มาตรการจูงใจทางภาษี เพื่อดึงการลงทุนกลับสู่สหรัฐฯ อาจทำให้บริษัทสหรัฐฯ ที่มีฐานการผลิตในไทยอาจจะพิจารณาย้ายกลับประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย
ขณะเดียวกัน อาจเกิดการชะลอตัวของการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ สู่ไทย ซึ่งอาจส่งผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในระยะยาว การลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) และนวัตกรรม จากบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ ในไทยอาจลดลง รวมถึงอาจเกิดการจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงบางประเภท เช่น เซมิคอนดักเตอร์หรือเทคโนโลยี 5G ซึ่งอาจส่งผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของไทย