คลังปัดขายหุ้นหลายหมื่นล้าน ร่วมกองทุนซื้อคืนรถไฟฟ้า

19 ต.ค. 2567 | 12:04 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ต.ค. 2567 | 12:05 น.

คลังเผย “คมนาคม” ยังเงียบ ถกตั้งกองทุนรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ปัดเตรียมขายหุ้นหลายหมื่นล้านบาท หาเงินซื้อคืนรถไฟฟ้า ด้านนักวิเคราะห์ชี้ แหล่งเงินสำคัญ เหตุก้อนใหญ่หลักแสนล้านบาท คุ้มค่าลงทุนหรือไม่

ประเด็นที่น่าติดตามอย่างใกล้ชิดคือ กรณีนายกรัฐมนตรี “แพทองธาร ชินวัตร” สั่งการให้เร่งหาข้อสรุปนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลังศึกษาแนวทางจัดตั้งกองทุนและจัดหาแหล่งเงินเพื่อนำไปซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนมาเป็นของรัฐ 

นายธิบดี วัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมยังไม่ได้เข้ามาหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง แต่คาดว่ากระทรวงคมนาคมจะส่งหนังสือเข้ามาหารืออย่างเป็นทางการเร็วๆนี้ 

นายธิบดี วัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)

ส่วนวงเงินที่ซื้อคืนรถไฟฟ้า เพื่อดำเนินนโยบาย 20 บาทตลอดสายจะสูงถึง 3 แสนล้านบาทนั้น นายธิบดีกล่าวว่า ยังไม่สามารถระบุตัวเลขได้ เนื่องจากข้อมูลรายละเอียดเหล่านี้อยู่กับกระทรวงคมนาคม ซึ่งกระทรวงการคลังไม่ได้เป็นผู้ศึกษาตัวเลข

อย่างไรก็ตาม หลักการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) จะนำกระแสเงินสดของรายได้มาจัดตั้งกองทุน อาจจะจดทะเบียนหน่วยลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้ รูปแบบคล้ายๆ กับการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทยหรือ Thailand Future Fund (TFFIF)

TFFIF ระดมทุนจากประชาชน แล้วนำเงินจำนวนดังกล่าวนี้มาซื้อคืนรถไฟฟ้าบางสาย เพื่อให้รัฐบาลสามารถกำหนดราคาตั๋วตลอดสายได้ จากนั้นนำเอากระแสเงินสดจากรายได้ค่ารถไฟฟ้ามาคืนผลตอบแทนให้กับประชาชน 

“การตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน อาจต้องมีทุนประเดิม ซึ่งหลักการจะมีเม็ดเงินจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่อาจจะนำรายได้ของปีล่าสุดมาเป็นทุนประเดิม และระดมทุนจากประชาชน แล้วนำเงินไปซื้อคืนสัญญาบริหารรถไฟฟ้า โดยจะมีขั้นตอนในการแก้ไขกฎหมาย” นายธิบดีกล่าว

ส่วนประเด็นที่กระทรวงการคลังเตรียมขายหุ้นทั้งในและนอกตลาด มูลค่าหลายหมื่นล้านบาท หลายฝ่ายจับตาว่า จะนำวงเงินดังกล่าวมาช่วยอุดหนุนโครงการซื้อคืนรถไฟฟ้าด้วยหรือไม่ นายธิบดี กล่าวยืนยันว่า ไม่ใช่ โดยแนวทางการขายหุ้นที่กระทรวงการคลังถืออยู่ เนื่องจากเป็นภาระ เมื่อพิจารณาแล้วไม่มีความคุ้มค่า และไม่สอดคล้องกับภารกิจของกระทรวงการคลัง

"ส่วนใหญ่เป็นหุ้นที่กระทรวงการคลังได้มาโดยนิติเหตุ หรือบางแห่งได้มาจากการนำหุ้นเข้าตลาดของภาคธุรกิจ หากมีรายได้ที่เราได้มาจากการขายหุ้นดังกล่าว ก็ต้องนำส่งเข้ารายได้แผ่นดิน อย่างไรก็ตาม ในการขายหุ้นนั้น ต้องดูเวลาที่เหมาะสม รวมทั้งราคาด้วย ไม่สามารถทำได้โดยง่าย จะต้องดูหลายๆ มิติ” นายธิบดีกล่าว

ด้านนายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐาน บริษัทหลักทรัพย์ ลิเบอเรเตอร์ จำกัด (Liberator)ได้ให้มุมมองว่า ดูเหมือนว่าโครงการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายของรัฐบาลค่อนข้างเอาจริงพอสมควร ซึ่งจากนี้ก็ต้องรอดูว่า การจัดการแหล่งเงินทุนจะทำได้มากน้อยแค่ไหน เพราะด้วยเม็ดเงินก้อนใหญ่มูลค่าหลักแสนล้านบาท ซึ่งสูงพอสมควร

ด้านนายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐาน บริษัทหลักทรัพย์ ลิเบอเรเตอร์ จำกัด  

ล่าสุดภาครัฐฯ ได้ทำการศึกษาการดำเนินงาน โดยได้พูดถึงความเป็นไปได้ที่จะรูปแบบการตั้งกองทุนซื้อคืนรถไฟฟ้า ที่เป็นการระดมทุนจากประชาชนทั่วไปให้เข้ามาลงทุน รวมถึงส่วนแบ่งรายได้จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.), เงินจากองทุนอนุรักษ์พลังงาน และงบประมาณประจำปี

ตลอดจนเงินที่ได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดในพื้นที่รถติดที่คาดว่า จะมีรถเข้ามาในพื้นที่สำคัญ เช่น ถนนสีลม, รัชดา และสุขุมวิท ที่รถติดกว่า 700,000 คันต่อวัน ซึ่งคาดว่าจะจัดเก็บได้กว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี 

ทั้งนี้กองทุนที่จะจัดตั้งจะมีระยะเวลาลงทุน 30 ปี  แต่ยังมีส่วนต้องขอความเห็นจากกฤษฎีกาในการออกกฎหมายเพื่อขอจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดในพื้นที่ กทม. เพื่อนำเงินที่ได้มาซื้อสัมปทานรถไฟฟ้านำกลับมาเป็นของรัฐ และเพื่อทำให้ภาครัฐสามารถกำหนดราคาค่าโดยสารได้

อย่างไรก็ดี ตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนและยังอยู่ในกระบวนการศึกษา เบื้องต้นคาดว่า กว่าจะได้เห็นข้อสรุปที่เป็นรูปธรรม อาจกินเวลาไปถึงไตรมาส 2-3 ปี 2568 

“ส่วนตัวมองว่า สิ่งสำคัญที่สุดในขณะนี้ คือ เรื่องของการจัดหาแหล่งเงินทุน เพื่อมาสนับสนุนการซื้อสัมปทานรถไฟฟ้านำกลับมาเป็นของรัฐ รัฐบาลอาจต้องไปชั่งน้ำหนักด้วยว่าการลงทุนดังกล่าวคุ้มค่าหรือไม่ ประชาชนจะได้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหนเมื่อเทียบกับการนำเอาเงินไปกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านอื่นๆ” นายวิจิตรกล่าว 

ทั้งนี้ นักลงทุนอาจมีความกังวลใจว่า เมื่อมีการดึงสัมปทานรถไฟฟ้านำกลับมาเป็นของรัฐ โมเมนตัมในเชิงของผู้ประกอบการ อย่าง บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผลออกมาอาจไม่ได้ดีนักหากจะเวนคืนรถไฟฟ้าจากเอกชนทั้งหมด เพราะจะทำให้ผู้ประกอบการที่ได้รับสัมปทานอยู่นั้นเสียเปรียบ 

แต่ในความเห็นส่วนตัวแล้วมองว่า การดึงสัมปทานรถไฟฟ้านำกลับมาเป็นของรัฐ ถ้าทำจริงต้องเป็นการซื้อคืนจากผู้รับสัมปทานเดิม ดังนั้นแล้วทั้ง BTS และ BEM จะได้รับเงินก้อนมาจำนวนมาก ซึ่งอาจเป็นเงินสดหรืออะไรก็ตามแต่ อีกทั้งหลังจากคืนสัมปทานแล้วก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องแบกรับต้นทุนค่าใช้จ่ายและการบริหารจัดการเดินรถไฟฟ้าอีกแล้ว

ทั้งนี้ คงต้องไปรอดูกันอีกว่า หลังจากที่ BTS และ BEM ได้รับเงินมาแล้วจะวางแผนนำไปบริหารจัดการต่ออย่างไร เพื่อเป็นการต่อยอดธุรกิจ และชดเชยรายได้และกำไรในส่วนที่จะต้องสูญเสียไป ทำให้มองว่าหลังจากคืนสัมปทานแล้วจะเป็นอานิสงส์เชิงบวกต่อหน้าหุ้นในระยะสั้นๆ ได้มากกว่า 

“มองว่าโครงการรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสายของรัฐ ค่อนข้างเอาจริงพอสมควร การศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดหาแหล่งเงินทุนจำนวนมหาศาล มูลค่าหลักแสนล้านบาท"

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐอาจต้องชั่งน้ำหนักความสำคัญด้วยว่าประชาชนได้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหนเมื่อเทียบกับการนำเงินไปกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอื่นๆ นักลงทุนอาจมองว่าจะเป็นเรื่องที่กดดัน BTS-BEM แต่ส่วนตัวมองว่า การดึงสัมปทานรถไฟฟ้ากลับ ต้องเป็นการซื้อคืน ฉะนั้น BTS-BEM จะได้รับเงินก้อนจำนวนมากบุ๊คเข้ามา ซึ่งจะดีกับหน้าหุ้นดังกล่าว

สำหรับความเคลื่อนไหวของหุ้น BTS-BEM เมื่อวันที่ 18 ต.ค.67 

  • BTS ปิดซื้อขายที่ 4.52 บาท ลดลง 0.06 บาท หรือ ลดลง 1.31% มีมูลค่าการซื้อขาย 401.64  ล้านบาท โดยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap.) ที่ 59,517.73 ล้านบาท 
  • BEM ปิดซื้อขายที่ 8.20 บาทลดลง 0.10 บาท หรือลดลง  1.20% มีมูลค่าการซื้อขาย 392.51 ล้านบาท โดยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap.) ที่ 125,337 ล้านบาท 

 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,037 วันที่ 20 - 23 ตุลาคม พ.ศ. 2567