SCB EIC เปิดแผล 3 จุดอ่อนเศรษฐกิจไทย เสี่ยงถูกลดเครดิตเรตติง

17 ต.ค. 2567 | 16:24 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ต.ค. 2567 | 17:09 น.

SCB EIC เผยจุดอ่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทย: หนี้สาธารณะพุ่ง ธรรมาภิบาลน่ากังวล และการเติบโตต่ำ พร้อมชี้ทางออกเพื่อรักษาอันดับความน่าเชื่อถือ

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC ออกบทวิเคราะห์ ไทยเสี่ยงถูกลดเครดิตเรตติงจาก BBB+ หรือไม่ โดยประเมินว่า จุดอ่อนและความเสี่ยงของอันดับ Credit rating ไทย น่ากังวลขึ้นในหลายประเด็น โดยเฉพาะ ความยั่งยืนของหนี้ภาครัฐ เนื่องจากวินัยการคลังไทยไม่เข้มแข็งเช่นเดิม และการใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มสูงขึ้นแผนการขาดดุลงบประมาณในระยะปานกลางยังสูงกว่าระดับปกติ (ต่ำกว่า 3% ของ GDP) สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยจึงยังมีทิศทางเพิ่มขึ้น 

ขณะที่เสถียรภาพการเมืองและธรรมาภิบาล แม้ความเสี่ยงด้านสถานการณ์ทางการเมืองอย่างรุนแรงของไทยลดลงมากในระยะหลัง แต่ประเด็นทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาอาจส่งผลกระทบต่อการปรับอันดับดัชนีธรรมาภิบาลของไทย ซึ่ง Fitch ใช้เป็นดัชนีอ้างอิงในการประเมินเครดิตเรตติงประเทศ

นอกจากนี้อัตราการเติบโตและศักยภาพของเศรษฐกิจไทยต่ำกว่าภาพที่ Fitch ประเมินไว้เดิมค่อนข้างมาก จากปัญหาเศรษฐกิจไทยฟื้นช้า โตต่ำ และปัญหาเชิงโครงสร้างฉุดรั้งศักยภาพหลายด้าน

SCB EIC มีมุมมอง ดังนี้

ความกังวลต่อความยั่งยืนหนี้สาธารณะ

สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยมีทิศทางเพิ่มขึ้นรวดเร็วหลังวิกฤตโควิด เพราะไทยจำเป็นต้องออก พ.ร.ก. เงินกู้ 2 ฉบับในปี 2563 รวมเป็นวงเงินกว่า 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและเยียวยาประชาชน

ส่งผลให้หนี้สาธารณะไทยต่อ GDP จึงปรับสูงขึ้นมากจาก 41% ณ สิ้นปี 2562 เป็น 60.5% ณ ปีสิ้นงบประมาณ 2565 และมีการขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% เป็น 70% ต่อ GDP เพื่อเพิ่มพื้นที่การคลังในปี 2564

หลังผ่านวิกฤดโควิตในปี 2565-2566 ได้มีความพยายามจะลดขนาดการขาดดุลการคลังในระยะปานกลางให้กลับมาอยู่ในระดับไม่เกิน 3% ต่อ GDP หลังจากที่ขาดดุลงบประมาณสูงขึ้นมากถึง 5% และ 5.2% ของ GDP ในช่วงวิกฤติโควิดปี 2563 และ 2564 เพื่อรักษาวินัยการคลังและควบคุมให้แนวโน้มหนี้สาธารณะลดต่ำลงใกล้เพดานหนี้เดิม

SCB EIC ประเมินว่าในปี 2567 ความยั่งยืนของหนี้สาธารณะไทยกลับมาเป็นประเด็นกังวลอีกครั้ง เพราะวินัยการคลัง ไทยไม่เข้มแข็งเช่นเดิม

นอกจากสัดส่วนหนี้สาธารณะไทยต่อ GDP ไม่ปรับลดลงเหมือนช่วงหลังวิกฤติที่ผ่านมาทุกครั้ง แต่กลับมีทิศทางเพิ่มต่อเนื่องที่ 64% ของ GDP ณ ส.ค.  2567 และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกในระยะปานกลาง จากแนวโน้มการใช้จ่ายที่สูงขึ้น แต่จัดเก็บรายได้ไม่มากพอ

ขณะที่แผนการคลังระยะปานกลาง ณ วันที่ 28 พ.ค. 2567 คาดการณ์การขาดดุล งบประมาณสูงต่อเนื่องในช่วง 3.1-4.5% ต่อ GDP (เฉลี่ย 3.7%) รายจ่ายเพิ่มขึ้นมากเพื่อรองรับการขาดดุล งบประมาณปกติและโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เช่น โครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล สัดส่วนหนี้สาธารณะในระยะปานกลาง จึงปรับสูงขึ้นและทำจุดสูงสุดใหม่ที่ 68.9% ของ GDP ณ สิ้นปีงบประมาณ 2027

แผนการคลังระยะปานกลาง ณ วันที่ 28 พ.ค. 2567

แผนการคลังในระยะปานกลางตามมติคณะรัฐมนตรี 28 พ.ค.2567 ยังสะท้อนภาพความยั่งยืนทางการคลังที่แย่ลงกว่า ช่วงปลายปีก่อนค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นช่วงที่ Fitch ประเมินอันดับความน่าเชื่อถือของไทยครั้งล่าสุดไว้ เนื่องจากตอนนั้น รัฐบาลคาดการณ์การขาดดุลงบประมาณน้อยกว่านี้อยู่ในช่วงราว 3.3-3.7% ต่อ GDP (เฉลี่ย 3.5%) และจุดสูงสุดของสัดส่วนหนี้สาธารณะอยู่ที่ 64.9% ของ GDP ในสิ้นปีงบประมาณ 2569

SCB EIC ประเมินว่ารายจ่ายรัฐบาลอาจมีทิศทางเพิ่มขึ้นจากโครงการช่วยเหลือประชาชนวงเงินสูงใหม่ ๆ รวมถึงแนวโน้มรายจ่ายที่ไม่อาจเลี่ยงได้ในระยะยาว เช่น รายจ่ายจากการเข้าสู่สังคมสูงวัยและการรับมือปัญหาการเปลี่ยนแปลง ของสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงมากขึ้น

จึงมีโอกาสสูงที่สัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยจะแตะเพดาน 70% ของ GDP ภายในช่วงปีงบประมาณ 2569-2580 โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาแนวโน้มอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะปานกลาง ที่อาจต่ำกว่าแผนการคลังระยะปานกลาง\

วามยั่งยืนทางการคลังแย่ลง

นอกจากนี้ สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อเนื่องให้ภาระดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ภาครัฐจำเป็นต้องขาดดุลการคลังในอนาคตมากขึ้น หรือลดเม็ดเงินลงทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลง

ความกังวลข้างต้นสอดคล้องกับรายงานเพิ่มเติมของ Fitch ในเดือน ส.ค. 2024 ที่ระบุว่า หากไทยลดขนาดโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลจะช่วยเพิ่มพื้นที่การคลังได้ แต่ถ้ามีแรงกดดันทางการเมืองให้ใช้จ่ายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่เพิ่มเติมอีก

ในช่วงหลังปีงบประมาณ 2025 จะทำให้ควบคุมการขาดดุลการคลังในระยะปานกลางได้ยาก ซึ่งจะทำให้แนวโน้มการขาดดุลการคลังและหนี้ภาครัฐมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะหากการใช้จ่ายมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจแค่ระยะสั้น แทนที่จะนำไปใช้จ่าย แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศเพื่อยกระดับการเติบโตเศรษฐกิจในระยะยาว

นอกจากแนวโน้มการขาดดุลการคลังและหนี้ภาครัฐของไทยจะมากกว่าในอดีตแล้ว ยังมีแนวโน้มสูงกว่า Peers อีกด้วย

SCB EIC ประเมินว่าการขาดดุลการคลังของกลุ่มประเทศในอันดับ BBB+ และ BBB มีแนวโน้มลดลงเข้าใกล้ระดับก่อนเกิดวิกฤติโควิดมากขึ้นแล้ว ขณะที่การขาดดุลการคลังของไทยยังสูงกว่าอดีต นอกจากนี้ สัดส่วนหนี้ภาครัฐของกลุ่มประเทศ อันดับ BBB+ และ BBB มีแนวโน้มลดลงหรือทรงตัว ขณะที่สัดส่วนหนี้ภาครัฐของไทยยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

SCB EIC ยังมีความกังวลเพิ่มเติมจากภาระผูกพันขนาดใหญ่ของรัฐบาล โดยเฉพาะภาระผูกพันตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 รวมยอดคงค้าง 1,004,392 ล้านบาท (ข้อมูล ณ สิ้นปีงบประมาณ 2023)

ภาระเหล่านี้เกิดขึ้นจากการที่หน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ (เช่น สถาบันการเงินเฉพาะกิจ) ดำเนินนโยบายรัฐบาลตามที่ ได้รับมอบหมาย เช่น โครงการพักหนี้เกษตรกร โครงการจำนำผลผลิตการเกษตร โครงการช่วยเหลือ SMEs และผู้มีรายได้ น้อย โดยหน่วยงานฯ รับผิดชอบค่าใช้จ่ายไปก่อนและรัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณชำระคืนยอดคงค้างภายหลัง

แม้ภาระผูกพันนี้จะไม่ใช่หนี้ที่รัฐบาลรับภาระโดยตรง แต่ส่วนใหญ่กว่า 80% ของภาระนี้ยังไม่นับรวมในตัวเลขหนี้สาธารณะ (เพิ่มขึ้น จากปีก่อนหน้าที่ยังไม่ถูกนับในหนี้สาธารณะราว 70%) สะท้อนแรงกดดันเพิ่มเติมต่อหนี้สาธารณะและการจัดสรร งบประมาณชำระคืนยอดคงค้างนี้ในระยะข้างหน้า

ความกังวลต่อเสถียรภาพทางการเมืองและธรรมาภิบาล

แม้ความเสี่ยงที่จะเกิดความเสี่ยงด้านการเมืองอย่างรุนแรงของไทยลดลงมากในระยะหลัง และการจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปอย่าง ราบรื่น ประกอบกับสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายปี พ.ศ. 2568 แล้วเมื่อ 30 ก.ย. 2024 ทำให้สามารถเริ่มเบิกจ่ายต้นปีงบประมาณได้ตามกำหนด

อย่างไรก็ตาม SCB EIC มองว่า ประเด็นการเมืองไทยที่เกิดขึ้นในช่วงปีนี้อาจจะมีผลกระทบต่ออันดับดัชนีธรรมาภิบาลของไทย จากการประเมินโดยธนาคารโลก ว่าจะปรับแย่ลงหรือไม่ เพราะเป็นตัวแปรสำคัญที่ Fitch เคยคาดการณ์ไว้ปลายปีที่แล้วว่า น่าจะมีอันดับที่ดีขึ้นเนื่องจากคะแนนปัจจุบันของไทยยังอยู่ในระดับต่ำกว่า Peers มาก (รูปที่ 7) จึงทำให้อันดับเครดิตเรตติง ไทยในภาพรวมยังอยู่ที่ BBB+ ได้

ดัชนีธรรมาภิบาลของไทย จากการประเมินโดยธนาคารโลก

ความกังวลข้างต้นสอดคล้องกับรายงานเพิ่มเติมของ Fitch เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2024 ที่ระบุว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทยเป็นปัจจัยสำคัญที่ฉุดรั้งความเชื่อมั่นนักลงทุนมาโดยตลอด อีกทั้ง สถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงปีนี้อาจทำให้อันดับดัชนีธรรมาภิบาลของไทยไม่ปรับดีขึ้นเช่นที่ Fitch เคยมองไว้ช่วงปลายปีก่อน

นอกจากนี้ Fitch ยังมองว่า แม้การเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่และการยุบพรรคก้าวไกลในช่วงที่ผ่านมาจะไม่ก่อให้เกิดความไม่สงบทางการเมืองในประเทศ แต่ยังมีความไม่แน่นอนทางการเมืองสูง ซึ่งอาจกระทบต่อประสิทธิภาพการวางนโยบายเศรษฐกิจและอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจได้ ซึ่งเป็นปัจจัยที่อาจพิจารณาปรับลดอันดับเครติดประเทศได้

ความกังวลต่ออัตราการเติบโตและศักยภาพของเศรษฐกิจไทย

อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยต่ำลงมาโดยตลอดและมีแนวโน้มโตช้าต่อเนื่องในระยะปานกลาง เศรษฐกิจไทย เคยเติบโตก้าวกระโดดเฉลี่ย 9.5% ในช่วง 10 ปีก่อนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง (1987-1996) ก่อนจะลดลงเหลือเพียงเฉลี่ย 3.6% ในช่วง 10 ปีก่อนเกิดวิกฤติโควิด (2010-2019)

นอกจากนี้ ไทยยังฟื้นตัวจากวิกฤติโควิดมาได้อย่างยากลำบาก ขยายตัวเฉลี่ยเพียง 2% ในปี 2021-2023 หลังจากหดตัวมากถึง -6% ในปี 2020 ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยฟื้นข้าจากวิกฤตโควิต เป็นลำดับที่ 162 จาก 189 ประเทศทั่วโลก

การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยโตต่ำ โตช้า

SCB EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2024 และ 2025 มีแนวโน้ม โตช้าต่อเนื่องที่ 2.5% และ 2.6% ตามลำดับ (ไม่รวมผลของโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล) ซึ่งต่ำกว่าที่ Fitch คาดการณ์ไว้ ที่ 3.8% และ 3.4% อยู่มาก

นอกจากนี้ ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยก็มีแนวโน้มต่ำลงในระยะยาวเหลือ 2.7% จากมุมมองเดิม 3% ซึ่งต่ำกว่าที่ Fitch คาดการณ์ไว้ที่ 3.2% อยู่มาก สาเหตุหลักมาจาก

1.ผลิตภาพการผลิต (Total factor productivity) ของไทยต่ำลงเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งจากปัญหาผลิตภาพแรงงานไทยลดลงและกฎเกณฑ์ภาครัฐจำนวนมากที่เป็นอุปสรรคต่อการ ทำธุรกิจ

2.ปัจจัยทุน (Capital) ของไทยที่มีแนวโน้มลดลงจากสัดส่วนการลงทุนในประเทศที่ลดลงกว่าครึ่ง เหลือประมาณ 24% ของ GDP ในช่วง 2 ทศวรรษหลัง อีกทั้ง ความสามารถในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติของไทยยังต่ำลงหากเทียบ ประเทศในภูมิภาคอาเซียน

3.ปัจจัยกำลังแรงงาน (Labor) มีแนวโน้มลดลงจากการเข้าสู่สังคมสูงวัยเร็ว โดยในปี 2023 ไทยมีสัดส่วนประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปีราว 14% ของประชากร และสัดส่วนนี้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเป็น 30% ของประชากรภายในปี 2050

ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยลดลง

นอกจากเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ช้ากว่าอดีตแล้ว ยังมีแนวโน้มเติบโตตัวช้ากว่า Peers โดยในปี 2023 เศรษฐกิจไทย สามารถขยายตัวได้เพียง 1.9% นับว่าต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศระดับเครดิตเรตติง BBB+ ที่ขยายตัวเฉลี่ย 2.8% และยังถือว่า ขยายตัวได้ต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศระดับเครติดเรดดิง BBB ที่ขยายตัวเฉลี่ย 2.2%

อีกทั้งยังต่ำกว่าอัตราการขยายตัว ของเศรษฐกิจโลกที่ 2.7% และหากพิจารณาแนวโน้มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะ 5 ปีข้างหน้า โดยใช้ตัวเลข คาดการณ์ของ IMF เป็นมาตรฐานจะพบว่าไทยจะยังคงขยายตัวได้ช้ากว่าประเทศกลุ่มดังกล่าวนี้

หากมุมมองอันดับเครดิตเรตติงของประเทศเปลี่ยนจะส่งผลกระทบต่อภาคเอกชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ผ่านมาพบว่า สถาบันจัดอันดับจะปรับลดมุมมองต่อประเทศนั้น ๆ เป็นลบ (Negative) ก่อน ค่อยปรับลดอันดับเครติดเรตติงในภายหลัง ซึ่งอาจใช้ระยะเวลา 1 เดือนถึง 1 ปี ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความรุนแรงและผลกระทบ

ผลกระทบจากการถูกลดอันดับเครดิตเรตติง 

1. ภาครัฐจะมีต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนจากการให้กู้ที่เพิ่มขึ้น ชดเชยความเสี่ยงของผู้ลงทุน ที่สูงขึ้นเช่นเดียวกัน (Corbet, 2014) ภาครัฐจึงอาจต้องขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้นเพื่อจ่ายดอกเบี้ยที่แพงขึ้นหรือลดเม็ดเงินใช้จ่าย อื่นลง เช่น งบลงทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลง ซ้ำเติมปัญหาด้านการคลังและศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีอยู่เดิม

2. เม็ดเงินไหลออกจากประเทศมากขึ้นและดึงดูดเม็ดเงินลงทุนใหม่ ๆ ได้น้อยลง ทั้งเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และเงินลงทุนหลักทรัพย์ในตลาดทุน โดยอ้างอิงกับอันดับเครติดเรตติง เนื่องจากนักลงทุนสถาบันส่วนใหญ่กำหนดระดับความเสี่ยงของประเทศที่จะไปลงทุนไว้

3. ค่าเงินสกุลเงินท้องถิ่นอ่อนค่าลง เงินเฟ้อสูงขึ้น ส่งผลให้ธนาคารกลางอาจต้องใช้นโยบายการเงินเข้มงวดมากขึ้น เทียบกับกรณีที่ประเทศไม่ถูกปรับลดเครดิตเรตติง แต่ละช่องทางล้วนส่งผลกดดันเศรษฐกิจในทางตรงและทางอ้อม

4. ภาคเอกชนในประเทศจะมีความเสี่ยงที่จะถูกปรับลดอันดับเครดิตเรตติงลงเช่นเดียวกัน เนื่องจากผู้จัดอันดับความน่าเชื่อถือจะใช้อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดเพดานอันดับความน่าเชื่อถือ ของบริษัทเอกชนในประเทศด้วย ส่งผลให้ภาคเอกชนมีต้นทุนในการกู้ยืมเพิ่มสูงขึ้น กดดันการลงทุน และการบริโภค ส่งผลลบต่อเศรษฐกิจ

แนวทางลดความเสี่ยงต่ออันดับความน่าเชื่อถือของไทย

SCB EIC ประเมินว่า ความเสี่ยงของอันดับเครดิตเรตติงไทยน่ากังวลขึ้นในหลายเรื่อง โดยเฉพาะประเด็นความยั่งยืนทางการ คลัง แนวโน้มและศักยภาพเศรษฐกิจไทยที่ปรับแย่ลงชัดเจน รวมถึงแย่ลงกว่าประเทศในกลุ่มเครติดเรตติงใกล้เคียงกันอีกด้วย ซึ่งหากความเสี่ยงนี้เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการกู้ยืมประเทศและภาคเอกชน รวมถึงจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ผ่านหลายช่องทาง แนวทางลดความเสี่ยงนี้ 4 ด้านที่ควรดำเนินการอย่างจริงจังและเร่งด่วน มีดังนี้

1.จัดทำแผนปฏิรูปการคลัง ผ่านการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายให้คุ้มค่า ส่วนหนึ่งใช้จ่ายดูแลกลุ่มที่ยังเปราะบาง ในช่วงที่เศรษฐกิจยังพื้นจากโควิตไม่เต็มที่ พร้อมจัดสรรรายจ่ายอีกส่วนเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ของประเทศในระยะยาว เพื่อให้ศักยภาพเศรษฐกิจไทยสูงขึ้น ซึ่งจะช่วยลดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ได้อย่าง ยั่งยืน

ขณะเดียวกันต้องการลดรายจ่ายไม่จำเป็น เช่น รายจ่ายนโยบายประชานิยมที่เห็นผลแค่ระยะสั้น ลดขนาดหน่วยงานภาครัฐ ที่ดำเนินงานซ้ำซ้อน และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานภาครัฐด้วยเทคโนโลยี

นอกจากนี้ต้องเพิ่มรายได้ภาครัฐในระยะยาว อย่างเป็นรูปธรรม โดยขยายฐานภาษีและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีให้ครอบคลุมเท่าเทียม

2. มีกลไกติดตามวินัยทางการคลัง โดยเฉพาะบทบาทภาคประชาสังคม เช่น ความเข้มงวดต่อกฎเกณฑ์การคลัง การจัดตั้งสถาบันวิจัยการคลังที่เป็นอิสระ ซึ่งมีงานศึกษาพบว่า ภาครัฐในประเทศที่มีสถาบันการคลังอิสระจะประเมิน อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและดุลการคลังเบื้องต้นต่ำกว่าภาครัฐในประเทศที่ไม่มีสถาบันการคลังอิสระอย่างเห็นได้ชัด จึงมีแนวโน้มปฏิบัติตามกฎเกณฑ์การคลังมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ และจะช่วยลดการขาดดุลการคลังถึง 1-1.5% ของ GDP

นอกจากนี้ ภาคประชาสังคมยังสามารถเพิ่มบทบาทการมีส่วนร่วม ติดตามและชี้ประเด็นความเสี่ยงทางการคลัง ให้เกิดกลไกการเฝ้าระวังจากทุกภาคส่วนมากขึ้น อาทิ ภาคธุรกิจ สถาบันวิจัยต่าง ๆ สื่อ และประชาชน ซึ่งจะช่วยให้ภาครัฐให้ความสำคัญกับวินัยการคลังและวางแผนใช้จ่ายระยะปานกลาง เพื่อประโยชน์ระยะยาวให้มากขึ้นได้

3. ปรับโครงสร้างการผลิตและการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมให้แข่งขันในตลาดโลกได้ ผ่านการลดอุปสรรคทางกฎหมายและระเบียบซ้ำซ้อน (Regulatory guillotine) เพื่อเพิ่มความสะดวกในการประกอบธุรกิจในไทย การผลักดันสนธิสัญญาทางการค้าใหม่ ๆ เช่น กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง

รวมทั้งการผลักดันการเข้าร่วมกลุ่ม ทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง เช่น องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เพื่อขยายมูลค่าตลาด ส่งออกและได้รับองค์ความรู้ในการยกระดับมูลค่าและคุณภาพการผลิตสินค้าและบริการของไทยให้แข่งขันในโลกได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ ไทยอาจพิจารณาเข้าร่วมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโต-แปซิฟิก (IPEF) อย่างเต็มที่มากขึ้น เพื่อให้ได้รับผลประโยชน์จากความร่วมมือดังกล่าว โดยเฉพาะการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานและกระแสความยั่งยืน

4. เน้นการเติบโตเชิงคุณภาพของเศรษฐกิจระยะยาวมากขึ้น ได้แก่ ความทั่วถึงเท่าเทียม (Inclusiveness) ความยั่งยืน สิ่งแวดล้อม (Sustainability) นวัตกรรม (Innovation) และความล้มยากลุกเร็ว (Resilience)

นอกจากจะช่วยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้พร้อมรับบริบทโลกที่กำลังเปลี่ยนไป ภายใต้ความไม่แน่นอนรอบด้านที่สูงขึ้น เช่น ปัญหา ภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี (Technological disruption) และสภาพอากาศผันผวน (Climate change) แล้ว ยังจะส่งผลช่วยให้ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในเชิงปริมาณหรือ "GDP" ของไทยปรับสูงขึ้นได้อีกทางที่สำคัญ

การยกระดับการเติบโตเชิงคุณภาพระยะยาว จะมีส่วนช่วยยกระดับคะแนน Environmental, Social, and Governance (ESG) ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับดัชนีธรรมาภิบาลประเทศ และการพิจารณาอันดับเครติด เรดดิงของประเทศในมิติโครงสร้างทางเศรษฐกิจอีกด้วย

ที่มา: ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC  ไทยเสี่ยงถูกลดเครดิตเรตติงจาก BBB+ หรือไม่