กรมวิชาการเกษตร ขานรับนโยบาย รมต. ลุย BCG โมเดล ยกระดับการผลิต ดันมูลค่าสูง

17 ต.ค. 2567 | 12:52 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ต.ค. 2567 | 13:02 น.

กรมวิชาการเกษตร ขานรับนโยบายรัฐมนตรี หนุนทำการเกษตรใส่ใจสิ่งแวดล้อมด้วย BCG Model ดันยกระดับสินค้าเกษตรปลอดภัย มูลค่าสูง สู่ความยั่งยืน

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลได้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ–เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG โมเดล (Bio-Circular-Green Economy) ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พัฒนาสังคม โดยนำยุทธศาสตร์ชาติ วิสัยทัศน์ “Thailand 4.0” ผสมผสานกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

กรมวิชาการเกษตร ขานรับนโยบาย รมต. ลุย BCG โมเดล ยกระดับการผลิต ดันมูลค่าสูง

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขานรับนโยบายของนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ทำการเกษตรใส่ใจสิ่งแวดล้อม ยกระดับสินค้าเกษตรปลอดภัย มูลค่าสูง โดยเลือกโครงการพืชผักเศรษฐกิจ จังหวัดราชบุรี เป็นหนึ่งในโครงการนำร่อง

สำหรับจังหวัดราชบุรี มีพื้นที่ปลูกผัก 70,000 ไร่ เป็นผักปลอดภัย 48,476 ไร่ ผักอินทรีย์ 220 ไร่ ได้รับการขึ้นทะเบียนกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรราชบุรี โดยจังหวัดราชบุรีมีนโยบายผลักดันพืชผักทั้งหมด ให้เป็นพืชผักปลอดภัย โดยเกษตรกรได้นำเอาเทคโนโลยีหลาย ๆ วิธีมาประยุกต์ใช้ร่วมกัน เพื่อทดแทน/ลดปริมาณการใช้สารเคมีลง และใช้สารชีวภัณฑ์เป็นทางเลือกในการผลิตผักปลอดภัย

กรมวิชาการเกษตร ขานรับนโยบาย รมต. ลุย BCG โมเดล ยกระดับการผลิต ดันมูลค่าสูง

โดยสารชีวภัณฑ์ที่นิยมใช้ ได้แก่ ไส้เดือนฝอยกำจัดแมลงกลุ่มปากกัด ราบิวเวอเรียกำจัดแมลงกลุ่มเพลี้ย ราไตรโคเดอมาควบคุมโรครากเน่าโคนเน่า และแบคทีเรียบีเอสควบคุมโรคกุ้งแห้งในพริก/โรคใบจุดในคะน้า การพ่นชีวภัณฑ์ในผักด้วยเครื่องพ่น ช่วยประหยัดเวลา และแรงงาน

ทั้งนี้จากเกษตรกรส่วนใหญ่มีพื้นที่ปลูกผัก 3-5 ไร่ สามารถทำงานได้แล้วเสร็จภายใน 1 ชั่วโมง ลดการใช้น้ำลงได้ 50% ลดชีวภัณฑ์ลงได้ 40% เปอร์เซ็นต์ ทำให้เกษตรกรประหยัดค่าใช้จ่าย โดยเครื่องพ่นที่ออกแบบ มีขนาดเล็ก ผลิตได้ในประเทศ ต้นทุนต่ำ เกษตรกรเข้าถึงง่าย ตอบโจทย์นโยบาย BCG และ เกษตรแปลงใหญ่ของรัฐบาล ซึ่งมีโรงงานนำไปผลิตจำหน่ายแล้ว

กรมวิชาการเกษตร ขานรับนโยบาย รมต. ลุย BCG โมเดล ยกระดับการผลิต ดันมูลค่าสูง

“เครื่องพ่นสารชีวภาพกำจัดศัตรูพืชแบบเดินตามเพื่อการผลิตผักปลอดภัย  สามารถสร้างชุมชน การผลิตผักปลอดภัยให้เข้มแข็ง เกษตรได้รับการรับรอง มาตรฐาน GAP และเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น ทำให้มีรายได้เพิ่ม จากการลดต้นทุน ด้านแรงงาน เวลา ปริมาณชีวภัณฑ์ที่ลดลง และผลผลิตผักทีเพิ่มขึ้น เป็นการทำเกษตรที่ปลอดภัยใส่ใจสิ่งแวดล้อมด้วย BCG ยกระดับสินค้าการผลิตผักปลอดภัย มูลค่าสูง ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ” นายรพีภัทร์ กล่าว