คลื่น“GO Green” ทะลักไทย 9 แสนล้าน อุตฯ BCG-EV-พลังงานสะอาด แข่งลงทุนไทย

18 ก.ย. 2567 | 05:00 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.ย. 2567 | 15:54 น.

คลื่นลงทุน Go Green ทะลักไทย 5 ปีครึ่งแห่ขอรับส่งเสริมแล้วกว่า 9 แสนล้าน กลุ่มอุตฯ BCG มากสุด ตามด้วย EV พลังงานสะอาด บีโอไอยันมาถูกทาง ลุยขับเคลื่อนต่อ ขณะลดโลกร้อนทำการค้าโลกป่วน อียู สหรัฐ จีน ญี่ปุ่น แข่งออกมาตรการ จี้ผู้ประกอบการเร่งปรับตัวชิงได้เปรียบ-ลดผลกระทบ

ทิศทางการค้า-การลงทุนทั่วโลก ณ ปัจจุบันให้ความสำคัญกับการลดโลกร้อนและเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม (Go Green) มีเป้าหมายสำคัญเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดโลกร้อนให้เป็นศูนย์ จากเวลานี้ภาวะโลกร้อนกำลังเอาคืนมนุษย์ เห็นได้จากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟไหม้ป่า และอุบัติภัยต่างๆ ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ส่งผลให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมถึงไทยได้ออกมาตรการทางการค้าและส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายดังกล่าว

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ )ได้เห็นชอบแผนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกในระยะ 4 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2567-2570) โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริม 5 อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ที่บีโอไอจะเน้นเป็นพิเศษเพื่อผลักดันประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจใหม่ ได้แก่

1.อุตสาหกรรม BCG (Bio-Circular-Green) โดยเฉพาะเกษตร อาหาร การแพทย์ และพลังงานสะอาด

2.อุตสาหกรรมยานยนต์ เน้นยานยนต์ไฟฟ้า (EV) 3.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 4.อุตสาหกรรมดิจิทัลและสร้างสรรค์ และ 5.การส่งเสริมให้ไทยเป็นแหล่งที่ตั้งของสำนักงานภูมิภาคของบริษัทจากต่างประเทศ

นฤตม์  เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการบีโอไอ

อุตฯ BCG-EV แข่งลงทุน

ทั้งนี้ในส่วนของนโยบายส่งเสริมการลงทุนเพื่อ Go Green บีโอไอได้มุ่งเน้นการส่งเสริมการลงทุนเพื่อตอบโจทย์การสร้างอุตสาหกรรมสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีมาตรการส่งเสริมครอบคลุม 4 ภาคส่วนที่มีการปล่อยคาร์บอนสูงได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง ภาคพลังงาน และภาคชุมชน โดยในภาคอุตสาหกรรม ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2562-2565) บีโอไอได้ให้การส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม BCG แล้ว 2,675 โครงการ เงินลงทุน 497,018 ล้านบาท และมีมาตรการยกระดับอุตสาหกรรมโดยให้สิทธิประโยชน์กับผู้ประกอบการในการปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดแล้วจำนวน 1,139 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 60,594 ล้านบาท

ภาคการขนส่ง บีโอไอให้การส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรม EV ทุกประเภทแบบครบวงจรตามนโยบาย 30@30 ของรัฐบาล เพื่อนำไปสู่การลดการปล่อยคาร์บอนจากภาคขนส่ง โดยได้มีการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม EV รวมแล้ว 80,799 ล้านบาท แบ่งเป็นการผลิตรถยนต์ BEV 18 โครงการ จักรยานยนต์ไฟฟ้า 12 โครงการ รถบัส/รถบรรทุกไฟฟ้า 3 โครงการ แบตเตอรี่ 43 โครงการ การผลิตชิ้นส่วนสำคัญ 24 โครงการ และสถานีชาร์จไฟฟ้า 20 โครงการ

คลื่น“GO Green” ทะลักไทย 9 แสนล้าน อุตฯ BCG-EV-พลังงานสะอาด แข่งลงทุนไทย

ภาคพลังงาน ให้การส่งเสริมการผลิตพลังงานสะอาด และสนับสนุนกลไกการจัดหาพลังงานสะอาดให้กับภาคอุตสาหกรรม มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 1,776 โครงการ มูลค่าลงทุนกว่า 175,231 ล้านบาท เฉพาะปี 2566 มีจำนวนมากถึง 439 โครงการ มูลค่าลงทุน 70,644 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปี 2565 ถึง 3 เท่า

ภาคชุมชน บีโอไอได้ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม โดยสนับสนุนให้ภาคเอกชนเพิ่มบทบาทในการช่วยพัฒนาและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชน เช่น การทำเกษตรอย่างยั่งยืน การปลูกข้าวมีเทนต่ำ การลดฝุ่น PM 2.5 เป็นต้น

5 ปีครึ่งขอส่งเสริม 9 แสนล้าน

อย่างไรก็ดี “ฐานเศรษฐกิจ” ได้รวบรวมข้อมูลจากบีโอไอ ถึงการขอรับการส่งเสริมเพื่อ Go Green ในช่วง 6 เดือนแรกปี 2567 โดยในกลุ่มอุตสาหกรรม BCG มีโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุน 448 โครงการ มูลค่าลงทุน 118,160 ล้านบาท และในอุตสาหกรรม EV มีจำนวน 25 โครงการ มูลค่าลงทุน 6,260 ล้านบาท ซึ่งหากนับรวมตั้งแต่ปี 2562 ถึงช่วง 6 เดือนแรกปี 2567 มีโครงการ Go Green ขอรับการส่งเสริมแล้วมากกว่า 6,183 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 938,062 ล้านบาท

“หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อทิศทางการลงทุนในช่วง 5 ปีนับจากนี้ คือเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ซึ่งภาคอุตสาหกรรมได้เร่งปรับตัวในการลดคาร์บอน เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม รวมถึงแสวงหาแหล่งพลังงานสะอาด ซึ่งไทยมีศักยภาพด้านแหล่งพลังงานสะอาดอันดับต้น ๆ ของภูมิภาค และอยู่ระหว่างการจัดทำกลไกการจัดหาพลังงานสะอาด หรือไฟฟ้าสีเขียวซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนระยะยาว”

อียู-สหรัฐ ลุยลดโลกร้อน

ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวว่า นโยบายหรือมาตรการลดโลกร้อน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ของประเทศต่าง ๆ เฉพาะอย่างยิ่ง สหภาพยุโรป (อียู) และสหรัฐอเมริกา มีผลและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย ทั้งการค้า การลงทุน การออกกฎหมาย การเงิน การพัฒนาเกษตร อุตสาหกรรม การใช้ที่ดิน ทั้งปัจจุบันและอนาคต

หลายประเทศใช้มาตรการเหล่านี้ในการกีดกัดสินค้า การลงทุน รวมถึงความร่วมมือไปพร้อมกัน สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป เป็น 2 ประเทศ/กลุ่มประเทศ ที่มีมาตรการการเฉพาะเพื่อลดโลกร้อนชัดเจนที่สุด ขณะที่จีน ญี่ปุ่น และอาเซียน ไม่มีนโยบายหรือมาตรการเฉพาะสำหรับการลดโลกร้อน แต่ประเทศเหล่านี้จะมีกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมเหมือนกันอยู่แล้ว เช่น จีนมี กฎหมายการควบคุมการปล่อยมลพิษจากอุตสาหกรรม (Air Pollution Prevention and Control Law) ญี่ปุ่นมี Climate Change Act เป็นต้น

ทั้งนี้แรงกดดันการลด GHG จะอยู่ที่ประเทศกำลังพัฒนา ทั้ง จีน อินเดีย และอาเซียน ที่อยู่ในระยะของการออกมาตรการและกฎหมาย เพื่อลด GHG เพราะกรอบระยะเวลาของการลด GHG ขยับเข้ามาเรื่อย ๆ ประเทศส่วนใหญ่ตั้งไว้คือ ปี 2030 (2573) (เหลืออีก 6 ปี) ที่ต้องลดลง 50% และปล่อยสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2050(2593) ฉะนั้นความเข้มข้นของการใช้มาตรการลด GHG ของสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากนี้เป็นต้นไป ซึ่งคาดว่าสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป จะออกมาตรการลด GHG เพิ่มขึ้นอีก

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

EUDR-CBAM สะเทือนไทย

อย่างไรก็ตามในมาตรการหลักเพื่อลด GHG ของสหรัฐและอียู ที่ได้นำมาใช้แล้ว เช่น สหรัฐมีมาตรการ Inflation Reduction Act (IRA) ที่มีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบแล้วในปี 2022 (2565) สาระสำคัญ คือ 1.ลดก๊าซเรือนกระจกของสหรัฐฯ ลง 40% ภายในปี 2030 (2573) 2.มีเครดิตด้านภาษีให้บริษัทและครัวเรือนที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 3.มีเครดิตด้านภาษีผู้ที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า 4.ผลิตเทคโนโลยีสีเขียวในแผงพลังงานแสงอาทิตย์ แบตเตอรี่ เป็นต้น 5.สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด

สหภาพยุโรป มีมาตรการ European Green Deal มีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบแล้วตั้งแต่ปี 2019 (2562) สาระสำคัญ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ EU ลง 55% ในปี 2030 (2573) และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 (2593) ล่าสุดมีมาตรการ EUDR ห้ามนำเข้าสินค้าที่ตัดไม้ทำลายป่า น้ำตาล กาแฟ โกโก้ น้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง ไม้และผลิตภัณฑ์ บังคับใช้เต็มรูปแบบในปี 2025 (2568) และมาตรการ CBAM สาระสำคัญ เพื่อป้องกันการรั่วไหลของคาร์บอน” (carbon leakage) และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยกลไกนี้จะบังคับใช้ภาษีคาร์บอนกับสินค้านำเข้า ซึ่งจะมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบ ในวันที่ 1 มกราคม 2026 (2569)

ส่งออก-ลงทุนไทยมีได้-เสีย

“หากผู้ประกอบการส่งออกไทยปฏิบัติตาม และไม่ปฏิบัติตามมาตรการของประเทศคู่ค้า ตัวอย่าง เช่น มาตรการ IRA ของสหรัฐ ในสินค้าที่จะได้รับผลด้านบวก ทำให้มีโอกาสในตลาดสหรัฐเพิ่มขึ้น ในสินค้าพลังงานสะอาด เช่น แผงโซลาร์เซลล์ ชิ้นส่วนกังหันลม และกลุ่มสินค้าที่ลดการปล่อยคาร์บอน ส่วนด้านลบคือ สินค้าพลังงานสะอาดของไทยต้องแข่งขันกับสินค้าประเภทเดียวกันกับคู่แข่งที่มีต้นทุนต่ำกว่า ขณะที่มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดจะทำให้สินค้าเหล่านี้เข้าตลาดยากขึ้น ส่วนด้านการลงทุน จะได้รับผลบวกในการร่วมลงทุนในสินค้าที่ใช้พลังงานสะอาด แต่ด้านลบคือ ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากการปรับปรุงเทคโนโลยีตามมาตรฐาน IRA”

ขณะที่มาตรการ CBAM ของอียูเน้นใน 6 สินค้าอุตสาหกรรมได้แก่ เหล็ก อลูมิเนียม ปุ๋ย ไฮโดรเจน ซีเมนต์ และไฟฟ้า จะเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน (CBAM) ในต้นปี 2569 และหลังจากปี 2569 เป็นต้นไป สินค้าอื่น ๆ ที่นอกเหนือจาก 6 สินค้าข้างต้นจะถูกเก็บภาษีคาร์บอนเช่นกัน ซึ่งจะกระทบต่อต้นทุนการผลิตที่สูง และราคาส่งออกไปยุโรปแพงขึ้น ทำให้ศักยภาพการแข่งขันลดลง ทั้งนี้คาดว่าใน 6 สินค้าของไทยเมื่อถูกเก็บภาษีภายใต้ CBAM หากไม่มีการปรับตัวเพื่อลด GHG จะทำให้มูลค่าการส่งออกลดลง 16.51 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2569 โดยเหล็กไทยจะได้รับผลกระทบจากการส่งออกลดลงมากที่สุด

อย่างไรก็ดี ในภาพรวมการรับมือมาตรการ CBAM ของไทย ความการตื่นตัวและปรับตัวเพื่อรองรับ CBAM ยังอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการขยายใหญ่เท่านั้น เหตุผลส่วนหนึ่งเพราะสินค้า 6 ชนิดที่เก็บภาษี เป็นสินค้าอุตสาหกรรมชนาดใหญ่ ขณะที่รัฐบาลยังไม่มีนโยบายด้านการเงินและด้านอื่น ๆ รวมถึงแรงจูงใจในการช่วยเหลือเพื่อปรับตัวภายใต้ CBAM ซึ่งในอนาคต เมื่อ CBAM บังคับใช้กับสินค้าอื่นๆ จะทำให้ SMEs ไทยมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น การแข่งขันในตลาดยุโรปจะยากขึ้น และจะส่งผลต่อส่วนแบ่งตลาดที่ลดลง

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4028 วันที่ 19-21 กันยายน พ.ศ. 2567