เปิด 18 ร่างเอกสารสำคัญ “แพทองธาร” เตรียมถกอาเซียนซัมมิทเวียงจันทน์

07 ต.ค. 2567 | 12:05 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ต.ค. 2567 | 13:20 น.

“นายกฯแพทองธาร ชินวัตร” เตรียมเดินทางเยือนนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ร่วมประชุม ASEAN Summit ครั้งที่ 44-45 พร้อมลงนามใน 18 ร่างเอกสารสำคัญ ระหว่างวันที่ 8-11 ตุลาคม 2567

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) อย่างเป็นทางการ  เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 หรือ อาเซียนซัมมิท (ASEAN Summit) ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาชนลาวระหว่างวันที่ 8-11 ตุลาคม 2567

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 มีมติเห็นชอบ “ร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง” ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ 

ข้อมูลจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(สลค.) ระบุว่า ร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง (ร่างเอกสารผลลัพธ์ฯ) จํานวน 18 ฉบับ ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 - 11 ตุลาคม 2567 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

เปิด 18 ร่างเอกสารสำคัญ “แพทองธาร” เตรียมถกอาเซียนซัมมิทเวียงจันทน์

โดยร่างเอกสารผลลัพธ์ฯ มาจากหน่วยงานเจ้าของเรื่อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สํานักงานตํารวจแห่งชาติ (ตร.) รวม 18 ฉบับ 

โดยแบ่งเป็น 1.ร่างเอกสารผลลัพธ์ฯ ที่จะรับรอง ในระดับผู้นําอาเซียน จํานวน 17 ฉบับ และ 2.ร่างเอกสารผลลัพธ์ฯ ที่จะรับรองโดยรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน จํานวน 1 ฉบับ 

 

ร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมสุดยอดอาเซียน 17 ฉบับ 

  1. ร่างปฏิญญาผู้นําอาเซียนว่าด้วยการจัดทําแผนยุทธศาสตร์ เพื่อปฏิบัติตามวิสัยทัศน์ประชาคม ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2045
  2. ร่างปฏิญญาผู้นําอาเซียนว่าด้วยมุมมองอาเซียนต่ออินโด - แปซิฟิกในสถาปัตยกรรมภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นศูนย์กลางและมีความพร้อมต่ออนาคตข้างหน้า
  3. ร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยพลาสติกหมุนเวียน
  4. ร่างกรอบความตกลงว่าด้วยระบบการประสานงานในภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของอาเซียน
  5. ร่างปฏิญญาผู้นําอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความปลอดภัย และความมั่นคงทางชีวภาพในภูมิภาค
  6. ร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองการใช้แรงงานเด็ก รวมถึงการขจัดรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของการใช้แรงงานเด็ก
  7. ร่างปฏิญญาเวียงจันทน์ว่าด้วยการเคลื่อนย้ายทักษะ การยอมรับ และการพัฒนาแรงงานข้ามชาติอาเซียน
  8. ร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือในการต่อต้านการลักลอบค้ายาเสพติดและสารตั้งต้น
  9. ร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียน - จีนว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน
  10. ร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียน - จีนว่าด้วยการส่งเสริมการพัฒนาด้านเกษตรอัจฉริยะ
  11. ร่างเอกสารข้อริเริ่มอาเซียน - จีนว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือ เพื่อสร้างระบบนิเวศดิจิทัลที่ยั่งยืนและครอบคลุม
  12. ร่างแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์ หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้านอาเซียน - สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้)
  13. ร่างแถลงการณ์ร่วมผู้นําในการประชุมสุดยอดอาเซียน - แคนาดาว่าด้วยการเพิ่มทวีความเชื่อมโยงและความเข้มแข็งในอาเซียน
  14. ร่างแถลงการณ์ผู้นําอาเซียน - สหรัฐอเมริกาว่าด้วยการส่งเสริมปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ปลอดภัย มั่นคง และเชื่อถือได้
  15. ร่างแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการครบรอบหนึ่งทศวรรษนโยบายรุกตะวันออกและปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน โดยมีวิสัยทัศน์เพื่อการพัฒนาภูมิภาคอินโด - แปซิฟิกให้เปิดกว้าง มีเสถียรภาพ มั่นคงและเจริญรุ่งเรือง
  16. ร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียน - อินเดียว่าด้วยการยกระดับการปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัล
  17. ร่างแถลงการณ์ผู้นําการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่าด้วยการส่งเสริมความเชื่อมโยงและความเข้มแข็ง

เปิด 18 ร่างเอกสารสำคัญ “แพทองธาร” เตรียมถกอาเซียนซัมมิทเวียงจันทน์

 

ส่วนร่างเอกสารผลลัพธ์ฯ ที่รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน จะร่วมรับรอง จํานวน 1 ฉบับ ได้แก่ ร่างบทเพิ่มเติมสนธิสัญญาว่าด้วยเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยมีสาระสําคัญเป็นเอกสารเพื่อแก้ไขข้อ 1 (เอ) ของสนธิสัญญาฯ เพื่อเพิ่มการระบุถึงติมอร์เลสเต (ติมอร์ฯ) ซึ่งจะส่งผลให้ติมอร์ฯ สามารถยื่นภาคยานุวัติสารเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาฯ ได้ต่อไป โดยเมื่อสมาชิกคณะกรรมาธิการเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับรองร่างบทเพิ่มเติมฯ แล้ว ประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศจะต้องจัดทําตราสารการยอมรับ ต่อบทเพิ่มเติมฯ นําส่งให้แก่ไทยในฐานะผู้เก็บรักษาโดยจะมีผลใช้บังคับภายหลังการยื่นตราสารการยอมรับของประเทศลําดับที่ 7

 

ประโยชน์ที่ได้รับ :

  • ร่างเอกสารผลลัพธ์ฯ จะเป็นประโยชน์กับไทยในการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนและกับคู่เจรจา ในประเด็นที่ไทยต้องการเพิ่มพูนศักยภาพ เช่น การเสริมสร้างความปลอดภัยและความมั่นคง การพัฒนาแรงงาน การส่งเสริมการสาธารณสุข การเสริมสร้างความเชื่อมโยง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่ยั่งยืน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

โปรแกรม "นายกฯแพทองธาร" ประชุมสุดยอดอาเซียน

 

วันที่ 8 ตุลาคม 2567

  • หารือกับนายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี สปป. ลาว และนายไซสมพอน พมวิหาน ประธานสภาแห่งชาติ สปป. ลาว รวมทั้งเข้าเยี่ยมคารวะนายทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศ สปป. ลาว 
  • หารือแนวทางการขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพื่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืนระหว่างไทย - ลาว โดยเฉพาะความร่วมมือในการแก้ไขปัญหายาเสพติด การหลอกลวงออนไลน์ การค้ามนุษย์ หมอกควันข้ามแดน การบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำโขง การเชื่อมโยงด้านการคมนาคมขนส่งและการท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมความกินดีอยู่ดีของประชาชนทั้งสองประเทศ

วันที่ 9 – 11 ตุลาคม 2567 

  • เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 - 45 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง สปป. ลาว ในฐานะประธานอาเซียนในปี 2567 เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นภายใต้แนวคิดหลัก “อาเซียน: เพิ่มทวีความเชื่อมโยงและความเข้มแข็งในอาเซียน” (ASEAN: Enhancing Connectivity and Resilience)

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นอกจากการเข้าร่วมประชุมหารือระหว่างผู้นำอาเซียนด้วยกันแล้ว ยังมีการประชุมหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับคู่เจรจา ได้แก่ จีน สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินเดีย สหรัฐอเมริกา และแคนาดา รวมทั้งสหประชาชาติ เพื่อร่วมหารือในประเด็นสำคัญต่าง ๆ อาทิ การเสริมสร้างประชาคมอาเซียน การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับภาคีภายนอก และสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศที่สำคัญ 

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังมีกำหนดเข้าร่วมการหารือกับผู้แทนภาคส่วนต่าง ๆ ได้แก่ สมัชชารัฐสภาอาเซียน สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน และเยาวชนอาเซียน รวมทั้งการประชุม Asia Zero Emission Community Leaders' Meeting ครั้งที่ 2 และมีกำหนดหารือทวิภาคีกับผู้นำจากประเทศต่าง ๆ ที่เดินทางมาเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย