สนค. ผ่าข้อดีข้อเสีย "ค่าเงินบาทแข็ง" กระทบส่งออก-โอกาสนำเข้า

26 ก.ย. 2567 | 10:59 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.ย. 2567 | 13:23 น.

สำนักงานนโยบายและยุทธศาตร์ เผย ข้อดีและข้อเสีย ค่าเงินบาทไทยแข็งค่า ชี้ กระทบส่งออก ความสามารถการแข่งขันด้านราคาลดกำไรต่ำ แต่นำเข้าจะได้รับประโยชน์เพราะต้นทุนลดลงแนะรัฐบาลพิจารณานโยบายรักษาเสถียรเศรษฐกิจ

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาตร์(สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า สถานการณ์เงินบาทแข็งค่าขึ้น โดยเกิดจากปัจจัย มาจากการธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีผ่อนคลายนโยบายการเงินหรือปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้น และอาจจะมากขึ้นกว่าที่คาดไว้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

เนื่องจากตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ บางส่วนแสดงสัญญาณชะลอตัว อาทิ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ปรับลดลง ดัชนีราคาผู้ผลิตลิตที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาด และการจ้างงานอกภาคเกษตรที่ลดลง ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่า FED มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 5.25-5.50% สู่ 4.75-5.00%

ทั้งนี้ ทิศทางค่าเงินบาทไทยและเงินสกุลอื่นในภูมิภาคเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ พบว่า เงินบาทไม่ได้แข็งค่าขึ้นเพียงสกุลเดียว โดยเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ สกุลเงินของประเทศอื่นๆ เช่น มาเลเซีย ไต้หวัน สิงคโปร์ เกาหลีได้ และฮ่องกง ก็มีทิศทางแข็งค่าเช่นกัน ซึ่งการที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น คำสอดดคล้องกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาคอาจทำให้ประเทศไทยไม่ได้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันมากนัก

ขณะที่ ผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศการแข็งค่าของเงินบาทส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อภาคการส่งออกของไทย เนื่องจากจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาลดลง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูงและมีอัตรากำไรต่ำ เช่น สินค้าเกษตร และสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป

 

นอกจากนี้ การนำเข้าจะได้รับประโยชน์จากค่าเงินบาทแข็ง เนื่องจากต้นทุนการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบจะลดลง ซึ่งเป็นผลดีต่อภาคการผลิตที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบ เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังได้ประโยชน์จากราคาสินค้านำเข้าที่ถูกลง โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคปริโภคและสินค้าจากต่างประเทศ

ขณะเดียวกัน ผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศในแง่ของเงินเฟ้อ การแข็งค่าของเงินบาทมีแนวโน้มที่จะช่วยลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเนื่องจากต้นทุนการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบลดลง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของสินค้าที่มีส่วนประกอบนำเข้าสูง เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมีผลกระทบต่อต้นทุนทุนในหลายภาคส่วนของเศรษฐกิจ การที่เงินเฟ้อดลงจะช่วยรักษาอำนาจซื้อของประชาชน และอาจนำไปสู่การลดลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการลงทุนและการบริโภคในประเทศ

อย่างไรก็ตาม แนวทางการรับมือความสามารถในการรรับตัวของภาคธุรกิจเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดว่าเศรษฐกิจไทยจะรับมือกับค่าเงินบาทแข็งได้ดีเพียงใด ธุรกิจที่สามารถปรับตัวเพิ่มประสิทธิภาพ หรือสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ จะมีโอกาสรักษาความสามารถในการแข่งขันได้ดีกว่า ในขณะที่ธุรกิจที่ไม่สามารถปรับตัวได้อาจประสบปัญหาและส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังการจ้างงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ดังนั้น การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่สมดุลจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องพิจารณาผลกระทบในทุกมิติ และออกแบบนโยบายที่สามารถรักษาเสถียรเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ เช่น การสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนา การพัฒนาทักษะแรงงาน และการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้เศรษฐกิจไทยรับมือกับความผันผวนของค่าเงินและปัจจัยภายนอกอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว