"น้ำท่วม-หนี้ครัวเรือนสูง" พ่นพิษ ฉุดดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ก.ค.ร่วงเหลือ 87.7

18 ก.ย. 2567 | 12:34 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.ย. 2567 | 12:34 น.

"น้ำท่วม-หนี้ครัวเรือนสูง" พ่นพิษ ฉุดดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ก.ค.ร่วงเหลือ 87.7 ปัจจัยด้านลบจากอุปสงค์ในประเทศชะลอง สะท้อนจากยอดขายรถยนต์ในประเทศ 7 เดือน หดตัว 23.71% เผยกำลังซื้อยังเปราะบางจาก

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม 2567 ว่า อยู่ที่ระดับ 87.7 ปรับตัวลดลง จาก 89.3 ในเดือนกรกฎาคม 2567 

โดยมีปัจจัยด้านลบจากอุปสงค์ในประเทศชะลอตัวลง โดยเฉพาะสินค้าคงทนประเภทรถยนต์ สะท้อนจากยอดขายรถยนต์ในประเทศ 7 เดือน (มกราคม-กรกฎาคม 2567) อยู่ที่ 354,421 คัน หดตัว 23.71% โดยเฉพาะรถกระบะและรถบรรทุก เนื่องจากความเข้มงวดในการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน 

ขณะที่กำลังซื้อยังเปราะบางจากความกังวลเรื่องปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 90.8% ต่อ GDP ในไตรมาสที่ 2/2567 ซึ่งกดดันการบริโภคในประเทศ โดยผู้ประกอบการยังเผชิญปัญหาต้นทุนการผลิตสูง ทั้งค่าไฟฟ้า ราคาวัตถุดิบ 
 

รวมถึงต้นทุนทางการเงิน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ รวมถึงปัญหาการทุ่มตลาดของสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ ทำให้สินค้าไทยไม่สามารถแข่งขันได้ เนื่องจากมีต้นทุนที่สูงกว่า ส่งผลให้ยอดขายสินค้าลดลง 

"น้ำท่วม-หนี้ครัวเรือนสูง" พ่นพิษ ฉุดดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ก.ค.ร่วงเหลือ 87.7

นอกจากนี้ ปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางได้สร้างความเสียหายให้แก่ภาคเกษตรและอุตสาหกรรม รวมถึงส่งผลให้ภาคก่อสร้างชะลอตัวลง ในด้านการส่งออกอัตราค่าระวางเรือ (Freight) ยังอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเส้นทางสหรัฐฯ และยุโรป จากการเร่งส่งออกของจีนและสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่รุนแรงขึ้น 

ด้านค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วจากระดับ 36.46 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนกรกฎาคม 2567 เป็น 34.92 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนสิงหาคม 2567 ส่งผลให้สินค้าไทยแพงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งและส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง
 

อย่างไรก็ตาม ในเดือนสิงหาคม ยังมีปัจจัยบวกจากสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลายลง ทำให้นักลงทุนและผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นมากขึ้น และมีความคาดหวังเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยผลการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2567 เบิกจ่ายได้ 81.6% 

ส่วนภาคการท่องเที่ยว ยังเป็นแรงสนับสนุนการบริโภคในประเทศจากมาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยวของภาครัฐ สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8 เดือน (มกราคม – สิงหาคม 2567) มีจำนวน 23,567,850 คน ขยายตัวร้อยละ 31 (YoY) สร้างรายได้เข้าประเทศมูลค่า 1,107,985 ล้านบาท 

"น้ำท่วม-หนี้ครัวเรือนสูง" พ่นพิษ ฉุดดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ก.ค.ร่วงเหลือ 87.7

จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,330 ราย ครอบคลุม 46 กลุ่มอุตสาหกรรมของส.อ.ท. ในเดือนสิงหาคม 2567 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ เศรษฐกิจโลก 67.5% เศรษฐกิจในประเทศ 65.2% ราคาน้ำมัน 61.3% อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ 40.6% 

ปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ สถานการณ์การเมืองในประเทศ 56.0% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 45.8% 

ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 93.9 ปรับตัวลดลงจาก 95.2 ในเดือนกรกฎาคม 2567 โดยมีปัจจัยที่ผู้ประกอบการยังห่วงกังวล ได้แก่ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs และอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ปัญหาหนี้เสีย (NPL) มีแนวโน้มสูงขึ้น ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ยังยืดเยื้อและรุนแรงขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 บาท และในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 คาดว่าบรรยากาศการท่องเที่ยวจะกลับมาคึกคัก

นายเกรีรยงไกร กล่าวอีกว่า ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ประกอบด้วย 

  • เร่งประกาศและสร้างความชัดเจนในการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2567 อาทิ มาตรการเพิ่มกำลังซื้อของประชาชน เป็นต้น
  • ปรับลดวงเงินประกันการใช้ไฟฟ้าเพื่อเสริมสภาพคล่องในภาคอุตสาหกรรม และชะลอการเรียกเก็บเงินประกันการใช้ไฟฟ้าเพิ่ม กรณีค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในรอบปีสูงขึ้น รวมทั้งทบทวนลดเพดานวงเงินการประกันการใช้ไฟฟ้าให้เหมาะสม
  • ปรับปรุง พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542 เพื่อให้การบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (CVD) มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (SG) และมาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยง (AC) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงลดระยะเวลาการพิจารณาไต่สวน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาสินค้าทุ่มตลาดเป็นไปอย่างรวดเร็ว
  • ออกมาตรการเยียวยาภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย อาทิ ยกเว้นภาษีนิติบุคคล ขยายเวลาการยื่นภาษี ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร รวมทั้งการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำและระบบการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยในระยะยาว
  • ขอให้ภาครัฐยึดมติคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด ในการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ รวมทั้งคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจและปัจจัยที่ส่งผลกระทบในปัจจุบัน