"เอกนัฏ" จ่อรื้อโครงสร้างภาษี-ดัน 6 อุตสาหกรรมปั๊มเศรษฐกิจ

18 ก.ย. 2567 | 12:01 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.ย. 2567 | 12:01 น.

"เอกนัฏ" จ่อรื้อโครงสร้างภาษี-ดัน 6 อุตสาหกรรมปั๊มเศรษฐกิจ เร่งเดินหน้าปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส 3 ปฏิรูป 3 แนวทาง พร้อมจัดการกาก สารพิษ ที่ทำร้ายชีวิตประชาชน

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงนโยบายการทำงาน ว่า ได้ดำเนินการมอบนโยบายการปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส 3 ปฏิรูป 3 แนวทาง ประกอบด้วย 

  • การจัดการกาก สารพิษ ที่ทำร้ายชีวิตประชาชน โดยปรับการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งระบบ เพื่อคืนน้ำสะอาด อากาศบริสุทธิ์ให้ประชาชน โดยการแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืน การเพิ่มโทษอาญา 
  • Save อุตสาหกรรมไทย สร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของ SMEs บังคับใช้กฎหมายกับสินค้าต่างชาติที่ไม่ได้มาตรฐาน ที่ทะลักเข้าไทย สนับสนุนอุตสาหกรรมต่างชาติลงทุนในไทย รวมถึงยกระดับขีดความสามารถให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันได้ 
     
  • การสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ รองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ ปรับเปลี่ยนสายการผลิตและเทคโนโลยีในประเทศ ยกระดับผลิตภาพการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมอุตสาหกรรมให้ก้าวทันโลก ยกระดับผลิตภาพด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่

สำหรับการปฏิรูป 3 แนวทางนั้น เบื้องต้นการปฏิรูปด้าน 1 จะแก้กฎหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืน การเปรียบเทียบปรับที่ต้องกำหนดอัตราสอดคล้องกับต้นทุนดำเนินการ การจัดการกากอุตสาหกรรมครบวงจร และเดินหน้าพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเซอร์คูลาร์ ตลอดจนจัดตั้งกองทุนเพื่อเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการ รวมทั้งแก้ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม2.5จากการเผาอ้อย 

การปฏิรูปด้าน 2 จะทำงานเชิงรุก ยกระดับขีดความสามารถให้แข่งขันได้ ผลักดันมาตรการ เมด อิน ไทยแลนด์ และเอสเอ็มอี จีพี และมาตรการเชิงรับ เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ทั้งแก้กฎระเบียบและบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม

ขณะที่การปฏิรูปด้าน 3 เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ จะโฟกัส 6 อุตสาหกรรมหลัก คือ อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (เซมิคอนดักเตอร์ ดาต้า เซ็นเตอร์ และฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์) อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรมูลค่าสูง อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า 

โดยจะดำเนินการ 2 แนวทาง คือ สร้าง/ปรับสายการผลิตและเทคโนโลยีในประเทศ อาทิ ปรับสิทธิประโยชน์เป็นแบบ Whole Package หรือ โฮล แพคเกจ (ภาษีและไม่ใช่ภาษี) เติมเงื่อนไขการลงทุนที่ตอบโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย และการชะลอผลกระทบ เร่งการปรับตัว อาทิ รื้อโครงสร้างภาษีและออกเงื่อนไขเพื่อรักษากำลังผลิต