พลิกเกม วอนภาครัฐหนุน SME ผ่านไทยอินฟลูเอนเซอร์ สู้ศึกสินค้าจีน

11 ก.ย. 2567 | 16:46 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ก.ย. 2567 | 17:05 น.

สมาพันธ์ SME แนะ แก้ไขสินค้าจีนทะลัก ชูใช้อินฟลูเอนเซอร์ไทยสู้จีน พร้อมดัน 6 แนวทางที่ทำได้จริง วอนรัฐบาลแก้ปัญหากินรวบ สินค้าจีนท่วมตลาด กระทบหนัก SME ไทย ปัญหาสินค้าจีน ที่ต้นทุนการผลิตต่ำกว่า ไม่มีมอก. ไม่มีอย.เข้ามาตีตลาดไทย

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์ SME ไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึง แนวทางการแก้ไขปัญหาสินค้าต่างชาติทุ่มตลาด แทรกซึมเศรษฐกิจไทยแบบฝังรากลึกกระจายไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดเศรษฐกิจที่สำคัญก่อให้เกิดผลกระทบกับ SME และภาคแรงงานไทยที่จะถูกกลืนกินแย่งงานแย่งอาชีพ

รวมถึงการมีอำนาจในการต่อรองทางเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น อาทิ สินค้าเกษตร ผัก ผลไม้ ยางพารา เป็นต้น ทำให้ไทยสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ดำเนินการอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องรวมทั้งมีแผนเชิงรุกที่ชัดเจน

สมาพันธ์ SME แนะ 6 แนวทางแก้ไขล้อมรั้วสินค้าจีน

ไทยแลนด์อินฟลูเอนเซอร์ ร่วมภาครัฐผลักดันสินค้าไทยสู่ตลาดโลก ผ่านกลยุทธ์ Omni-channel Marketing

ภาครัฐร่วมมือกับภาคเอกชน ผลักดันโครงการ “Thailand Influencers” เพื่อส่งเสริมการค้าทั้งออนไลน์และออฟไลน์ของสินค้าไทย โดยมีเป้าหมายในการยกระดับสินค้าเกษตร วิสาหกิจชุมชน และเอสเอ็มอีไทยให้เข้าถึงตลาดโลกมากขึ้น

พลิกเกม วอนภาครัฐหนุน SME ผ่านไทยอินฟลูเอนเซอร์ สู้ศึกสินค้าจีน

ใช้กลไกภาครัฐร่วมเอกชน หรือ Public Private Partnership (PPP) เพื่อขับเคลื่อนการค้าทั้งออนไลน์ (e-commerce) และออนกราวน์ (Event & Shop Trade) บริหารจัดการจัดหา รวบรวมสินค้า วิเคราะห์ข้อมูลความต้องการ พฤติกรรมผู้บริโภคตลาดเป้าหมาย บ่มเพาะ influencers (Omnichannel Marketing)

โดยให้นักศึกษาด้านภาษาต่างประเทศ และบัณฑิตที่ต้องการงานด้านนี้ส่งเสริมให้ร่วมเป็นผู้ประกอบการ เจาะช่องทางการตลาดทุกแพลตฟอร์มที่สำคัญ สนับสนุนการส่งออก นำเสนอสินค้าและบริการไทยในต่างประเทศ โดยนำกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และเอสเอ็มอีไทยที่มีสินค้า บริการได้คุณภาพมาตรฐานและเชื่อมกลไกส่งเสริมกลุ่มเป้าหมายผู้ประกอบการไทยที่สนใจเพื่อยกระดับการค้า การลงทุน การขยายตลาดในต่างประเทศ

ซึ่งประเทศจีนมีรัฐวิสาหกิจที่ชื่อ “COFCO” ทำหน้าที่รวบรวมความต้องการซื้อ ขายผลผลิตการเกษตรที่สำคัญสร้างอำนาจต่อรองกับประเทศต่างๆ สนับสนุนความมั่นคงทางอาหารของจีนและนำเข้าไปจำหน่ายด้วยแบรนด์ตนเอง

การบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศให้เข้มงวด

รัดกุมปราบปรามธุรกิจ สินค้า บริการที่ผิดกฎหมาย ดำเนินการตรวจ จับ ปรับ ดำเนินคดีตามกฎหมาย อาทิ คุณภาพมาตรฐานสินค้า การเสียภาษีที่ถูกต้องตามกฎหมาย การละเมิดลิขสิทธิ์สินค้า การตรวจสินค้านำเข้าและคลังสินค้า เป็นต้น

เปิดใช้กลไกแพลตฟอร์ม Traffy Fondu รับร้องเรียนและรายงานการจัดการปัญหา

ให้ภาคประชาชน SME เกษตรกร แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากทุนข้ามชาติ เพื่อรับเรื่องร้องเรียน ให้มีที่มาชัดเจนเพื่อการสืบสวนสอบสวนดำเนินการทางกฎหมาย มีหน่วยงานรับเรื่องต่อที่ชัดเจน รายงาน ประเมินผลเป็นฐานข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์แก้ปัญหาและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการเจรจาระหว่างประเทศเพื่อประโยชน์ร่วมกันในอนาคต

ภาครัฐร่วมภาคเอกชนและจัดทำแผนกลยุทธ์ในแต่กลุ่มธุรกิจของไทยที่ประสบปัญหา

การทบทวนผลกระทบภาครัฐร่วมภาคเอกชนและจัดทำแผนกลยุทธ์ในแต่กลุ่มธุรกิจของไทยที่ประสบปัญหาเพื่อออกแบบระบบ รูปแบบการแก้ไข ป้องกันปัญหาที่มีความชัดเจน และได้รับข้อมูล ข้อเท็จจริงของภาคเอกชนรวมทั้งนำไปวางยุทธศาสตร์ในการเจรจาต่อรองสิทธิประโยชน์การค้าการลงทุนที่สร้างเศรษฐกิจสมดุลระหว่างประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถขยายเจาะตลาดรายจังหวัด มณฑลของจีนและประเทศอื่นๆได้มากขึ้น

มาตรการส่งเสริมการผลิตและใช้รวมทั้งส่งเสริมผู้ประกอบการไทย

การส่งเสริมผู้ประกอบการในประเทศผลิตสินค้าทดแทนการนำเข้า ส่งเสริมเกษตรกรไทยให้พาะปลูกพืขเศรษฐกิจสำคัญที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ อาทิ ถั่วเหลือง ข้าวโพด ส่งเสริมแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวไทยจองที่พัก เดินทางท่องเที่ยว แพลตฟอร์ม e-commerce ไทยเพื่อ Scale up ขยายผลทั้งในและต่างประเทศ การขยายการเติบโตของไปรษณีย์ไทยแข่งขันโลจิสติกส์ เป็นต้น

การทบทวนกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ รองรับการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม

การทบทวนกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศทุกฉบับให้รองรับการเปลี่ยนแปลงที่มีการแข่งขันสูงและไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการไทย “อะไรที่เขาไม่ให้เราทำ เราก็ไมควรให้เขามาทำในประเทศไทย”

การปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการในประเทศไทยที่รวมทั้งเกษตรกร และภาคแรงงานต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ถ้ากังวลความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแล้วเราจะวางคนในประเทศไทยไว้ตรงไหนในอนาคต นายแสงชัยกล่าวทิ้งท้าย