บิ๊กเอกชนขานรับ ครม.ใหม่ จี้สานต่อนโยบาย ศก. แก้น้ำท่วม หนี้ครัวเรือนพุ่ง

04 ก.ย. 2567 | 07:00 น.

ภาคเอกชนขานรับครม.ใหม่ จี้รัฐบาลเดินหน้าสร้างความเชื่อมั่น แก้ปัญหาเศรษฐกิจสานต่อนโยบายเดิม ชงวาระด่วนฟื้นฟูน้ำท่วมหนัก แก้สินค้าจีนทะลัก หนี้ครัวเรือนพุ่ง หนุนถกพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ภาคท่องเที่ยว จี้ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีดึงการลงทุน-นักท่องเที่ยว

ภายในสัปดาห์นี้ จะได้เห็นโฉมหน้าของคณะรัฐมนตรี(ครม.) หลังจากที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกมายืนยันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป โดยคาดว่านโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ จะมีการแถลงต่อรัฐสภาประมาณกลางเดือนกันยายน 2567 นี้ ก่อนที่รัฐบาลใหม่จะเดินหน้าบริหารงานอย่างเต็มตัวต่อไป ในขณะที่ภาคเอกชนและภาคธุรกิจ ต่างตั้งความหวังว่า รัฐบาลชุดใหม่นี้ จะสามารถนำพาประเทศไปต่อได้ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ที่ยังเปราะบางอยู่ในเวลานี้

เพิ่มขีดแข่งขัน SMEs-ถก OCA

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีหากดูตัวบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ เฉพาะอย่างยิ่งในทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลก็ถือว่าใช้ได้ โดยหากนายพิชัย ชุณหวชิร มาดำรงตำแหน่งรองนายกฯควบ รมว.คลัง มองว่าจะสามารถทำงานได้ต่อเนื่องจากรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ที่นายพิชัยก็นั่งในตำแหน่งข้างต้น

ส่วนนายพิชัย นริพทะพันธุ์ ที่จะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ถือเป็นบุคคลที่มีความรู้ในเรื่องเศรษฐกิจดี จากเป็นมือเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยมาโดยตลอด เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมาก่อน หากมาเป็นรัฐมนตรีพาณิชย์ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน ถือว่ามีประสบการณ์หลายด้าน และเป็นที่ยอมรับ

ขณะที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ยังเป็นรองนายกฯควบ รมว.พลังงานเช่นเดิม อยากให้เร่งดำเนินการในเรื่องที่เคยพูดไว้คือ การปฏิรูปโครงสร้างพลังงานทั้งระบบ ที่สำคัญภาคเอกชนอยากให้เร่งจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านพลังงาน (กรอ.พลังงาน) เพื่อให้ภาคเอกชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและแผนงานในการแก้ปัญหาด้านพลังงานของประเทศ รวมถึงรัฐบาลไทยต้องเร่งเจรจากับทางการกัมพูชาในเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (OCA) เพื่อแบ่งปันผลประโยชน์ และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ

สำหรับนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ จะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ส.อ.ท.หวังมีการสานต่อและเร่งดำเนินการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ตามที่นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีการประชุมร่วมกับ ส.อ.ท .( 9 ก.ค. 2567) โดยได้มีการจัดตั้ง 4 คณะทำงานในการขับเคลื่อนการยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่อนาคต และพัฒนาเอสเอ็มอีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

เร่งแก้น้ำท่วม-สินค้าจีน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โผ ครม. ที่ออกมานั้นเชื่อว่าจะสร้างความเชื่อมั่น และจะดำเนินนโยบายต่อเนื่องจากชุดที่ผ่านมา สิ่งสำคัญคือ การสร้างความเชื่อมั่น และการป้องกันและแก้ไขปัญหาเร่งด่วน เฉพาะอย่างยิ่งในเวลานี้เรื่องน้ำท่วมที่คาดว่าในเดือนกันยายนจะมีฝนตกหลังเขื่อนเพิ่มขึ้น

ขณะที่ความเสียหายจากน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือล่าสุด (ณ วันที่ 2 ก.ย. 2567) ทางหอการค้าไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินความเสียหายเบื้องต้นประมาณ 8,000 ล้านบาท หากสถานการณ์ยังยืดเยื้อถึง 1 เดือน และขยายวงกว้างอาจเสียหายรวมกว่าหมื่นล้านบาท

 “หากนายกรัฐมนตรีนั่งกำกับเองในเรื่องน้ำท่วม จะทำให้ทำงานข้ามหน่วยงานได้ง่ายขึ้น และความเสียหายอาจไม่บานปลายไปมากนัก”

 สำหรับวาระเร่งด่วนของรัฐบาลชุดใหม่ ต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจกลุ่มเปราะบาง และแก้หนี้ภาคครัวเรือน เป็นสิ่งที่น่าจะทำได้ ซึ่งจะช่วยเศรษฐกิจให้มีเงินหมุนได้มากขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ รวมถึงการสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่เวลานี้มีปัญหาสินค้าจากต่างประเทศทะลักเข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าจีนเข้ามาทุ่มตลาด แม้เวลานี้ภาครัฐได้ออกมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาแล้วก็ตาม แต่ถ้าจะให้ดีควรมีรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจที่ชัดเจน และมีความเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จะได้เป็น counterpart(คู่กัน) กับรองนายกฯ จีน ที่ชัดเจนมากขึ้น

นอกจากนี้ ควรให้รองนายกฯ เศรษฐกิจของไทย รื้อฟื้นกลไกประชุมกับรองนายกฯ จีน ซึ่งปัจจุบันคือเหอลี่เฟิง เป็นคนสนิทกับสี จิ้นผิง และเคยมาเยือนไทยช่วงเอเปคพร้อมสี จิ้นผิง และจุดประเด็นการช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีจากประเทศจีน WinWin เพราะเป็น strategic country

ขณะเดียวกันเพื่อเพิ่มการส่งออกให้กับประเทศ รัฐบาลต้องเร่งหาตลาดใหม่ ๆ เพิ่มเติมจากสหรัฐอเมริกาและจีน ที่มีปัญหาและทำสงครามการค้ากัน โดยบริหารความเสี่ยง look west รวมถึงอินเดีย และตะวันออกกลางมากขึ้น และสุดท้ายทุกแผนจำเป็นต้องมีตัววัดผลที่ชัดเจน ทั้งการส่งออก ท่องเที่ยว ลงทุน จะได้มีผลงาน QuickWin (ได้ชัยชนะมาอย่างรวดเร็ว)

หนุนกระตุ้นอสังหาฯต่อเนื่อง

นายอธิป พีชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ระบุว่า สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลสานต่อคือมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต่อเนื่อง หลังจากได้ลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และค่าจดจำนองสำหรับที่อยู่อาศัยไม่เกิน 7 ล้านบาทไปก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะข้อเสนอที่ยังเหลืออยู่จาก 8 มาตรการ ที่ 18สมาคมอสังหาฯ เสนออย่างเช่น การผ่อนเกณฑ์ LTV (Loan to Value) หรืออัตราส่วนการให้สินเชื่อซื้อบ้านโดยเทียบกับมูลค่า ให้ควบคุมเฉพาะบ้านหลังที่ 3 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ ยังต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนโครงการบ้านดีมีดาวน์ จาก 5 หมื่นบาท ปรับเป็น 1 แสนบาท เพื่อจูงใจและเข้าถึงที่อยู่อาศัย แต่เหนือสิ่งอื่นใดตามข้อเท็จจริงกำลังซื้อที่อยู่อาศัยยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ติดปัญหาสถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อ ซึ่งเป็นอีกประเด็นที่ภาคเอกชนเรียกร้องให้เกิดการผ่อนปรน เพราะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์คือหนึ่งในเครื่องยนต์สำคัญที่รัฐบาลในต่างประเทศโดยเฉพาะออสเตรเลีย ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งมูลค่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทย มีขนาดอยู่ที่ 5% ของจีดีพีทั้งประเทศ และยังมีผลต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง หากไม่รีบแก้ไขอาจได้รับผลกระทบตามไปด้วย สิ่งที่ตามมาจะฉุดเศรษฐกิจทั้งประเทศทรุดตัวตามได้

ชงสิทธิประโยชน์ทางภาษีดึงนักท่องเที่ยว

นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลใหม่ สร้างแบรนด์ประเทศไทยให้เป็นหมุดหมายที่เป็นพรีเมี่ยม เดสติเนชั่น จะได้ช่วยตอบโจทย์ในเรื่องของคุณภาพการท่องเที่ยวของไทย การสร้างแบรนด์ดิ้งประเทศไทย ใช้ซอฟต์พาวเวอร์ มาช่วยหนุนก็ได้

รวมไปถึงการกระตุ้นเรื่องของภาษีและอินเซ็นทีฟ ผลประโยชน์ทางภาษี หรือให้การเข้าถึงตลาด เช่น สร้างให้เกิดซูเปอร์แอป เป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมผู้ประกอบการให้เข้ามารวมกัน โดยรัฐบาลเข้ามาช่วยโปรโมท การสนับสนุนมาตรการทางภาษีให้แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ที่มีการฝึกอบรมมาตรฐานของพนักงาน การสนับสนุนให้ธุรกิจที่มีการบริหารจัดการด้านความยั่งยืน สามารถนำค่าใช้จ่ายไปขอลดหย่อนภาษี เป็นต้น

นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC กล่าวว่า เชื่อว่ารัฐบาลใหม่ น่าจะให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยว เพราะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ แต่สิ่งที่อยากให้รัฐบาลผลักดันเพิ่มมากขึ้น คือ การดึงดูดให้บริษัทต่างชาติเข้ามาเปิดสำนักงานในประเทศไทยมากขึ้น จะช่วยดึงการลงทุนเข้าประเทศ และส่งเสริมให้เกิดการจ้างแรงงานในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งรัฐบาลอาจจะให้อินเซ็นทีฟในด้านภาษี เพื่อดึงดูดให้เกิดการเข้ามาตั้งสำนักงานของบริษัทข้ามชาติในไทย

กัปตันธีรวัจน์ อังคสกุลเกียรติ นายกสมาคมนักบินไทย เผยว่า สมาคมฯอยากเสนอรัฐบาลใหม่ เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาธุรกิจด้านการบินของไทย 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.อยากให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้องสนับสนุนสายการบิน จัดหาเครื่องบินแบบ Dry Leasing (เช่าเครื่องบินเปล่า) มากกว่า Wet Leasing (เช่าเครื่องบินพร้อมนักบิน) เพื่อแก้ปัญหาการจัดหาเครื่องบินในตลาดโลกที่ขาดแคลน

 2.อยากให้รัฐบาลมีการยกเว้นประเด็นในบางเรื่องของการผลิตบุคลากรด้านการบิน ตามกฎระเบียบใหม่ Thailand Civil Aviation Regulation ด้าน Personnel Licensing (TCAR) ของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ CAAT โดยขอให้มีการยกเว้นข้อกำหนดที่ต้องใช้ใบสำคัญทางการแพทย์ ในการต่อใบอนุญาตนักบิน ให้กับกลุ่มนักบินที่เกษียณแล้ว เพื่อเป็นการช่วยเพิ่มจำนวนครูผู้สอนได้เพิ่มขึ้น

 3.อยากให้รัฐบาลลงมาให้ความสนใจกับปัญหา Pay to Fly อย่างจริงจัง ซึ่งบางสายการบิน เริ่มเปิดรับสมัครนักบิน แต่จะต้องจ่ายต่อคนรวมกว่า 6 ล้านบาท เป็นค่าเรียนนักบินพาณิชย์ตรี 3 ล้านบาท ค่า Type rating (สอบการฝึกบินในเครื่องบินในแบบที่จะทำการบิน) อีก 3 ล้านบาท ทำให้เป็นกำแพงที่กีดกันคนที่มีความรู้ความสามารถไม่สามารถเข้าสู่อุตสาหกรรมได้

แนะทางไล่ล่าผู้นำดิจิทัลฮับ

นายอโณทัย เวทยากร กรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้บริหารส่วนงานเทคโนโลยี บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ไทยมีโอกาสอย่างมากในการก้าวไปสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลภูมิภาค เนื่องจากอยู่ในภูมิศาสตร์ที่ดี และมีความก้าวล้ำการใช้งานเทคโนโลยีหลายด้าน ทั้ง QR Code หรือ พร้อมเพย์ซึ่งการก้าวไปสู่ผู้นำนั้นรัฐบาลต้องมองไป 3 เรื่อง ประกอบด้วย 1.นโยบายภาครัฐที่ต้องมีความชัดเจน สร้างการตระหนักรู้ให้ภาคอุตสาหกรรม และประชาชน

 2.การใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐาน โดยการขยายโครงข่าย 5G ที่เร็วแรงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล เพื่อช่วยให้กลุ่มเปราะบาง สามารถเข้าถึงการใช้งานเทคโนโลยีหรือบริการภาครัฐ

3.การส่งเสริมสตาร์ทอัพ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ประสบความสำเร็จค่อนข้างน้อย ภาครัฐจะต้องร่วมมือองค์กรเอกชน ส่งเสริมสตาร์ทอัพ ที่ถือเป็นฐานสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4024 วันที่ 5- 7 กันยายน พ.ศ. 2567