ปี 2557 ไทยได้รับการแจ้งเตือนจากสหภาพยุโรป (อียู) ระบุ ประเทศไทยมีความสุ่มเสี่ยงในการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU fishing)และได้ให้ใบเหลืองกับประเทศไทยเมื่อเดือนเมษายน 2558 เพื่อให้เร่งแก้ไขปรับปรุงตามข้อกำหนดอียูจนเป็นที่ยอมรับ โดยช่วงการเปลี่ยนผ่านได้บังคับใช้พระราชกำหนดการประมงที่มีโทษทางกฎหมายที่รุนแรง ส่งผลกระทบและสร้างความเดือดร้อนให้ชาวประมงทั้งประมงพื้นบ้าน และประมงพาณิชย์ไทยเป็นอย่างมาก เรือประมงทั้งในและนอกน่านนํ้าไทยกว่า 4,000 ลำต้องจอดทิ้ง รัฐบาลรับปากจะชดเชยด้วยการซื้อเรือคืนประมาณ 3,000 ลำจากชาวประมง (สมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์) แต่จนถึง ณ เวลานี้ ยังซื้อคืนได้ไม่หมด
นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากรัฐบาลชุดที่ผ่านมาได้ให้ชาวประมงที่มีใบอนุญาตประมงพาณิชย์ แสดงความจำนงนำเรือออกนอกระบบโดยรัฐบาลจะชดเชยด้วยการซื้อเรือคืน มีเรือเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 2,505 ลำ เมื่อรัฐบาลคัดไปคัดมาเหลือเพียง 1,007 ลำ และล่าสุดคัดอีก เหลือเพียง 923 ลำ แต่รัฐบาลก็ยังใม่ซื้อคืนซักที ทำให้เรือเหล่านี้ซึ่งจอดมาหลายปี ส่วนใหญ่มีสภาพผุพังไปตามกาลเวลา หากรัฐซื้อคืนคงได้ราคาตํ่า แต่อยากให้รัฐบาลใหม่เร่งดำเนินการในเรื่องนี้
“ตอนนี้มีเรือที่ต้องเอาออก 923 ลำที่รอรัฐบาลซื้อคืน และคงต้องเอาออกเพิ่มเติมอีก 2,000 ลำเป็นอย่างน้อย เพื่อไม่ให้ปริมาณเรือประมงพาณิชย์มีมากกว่าปริมาณปลาที่จะจับ(โอเวอร์ ฟิชชิ่ง)”
นอกจากนี้ขอให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาราคาสัตว์นํ้าตกตํ่า จากมีสัตว์นํ้านำเข้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาขายแข่งในประเทศ มีส่วนสำคัญจากที่ไทยได้ไปเซ็นสัญญาการเปิดเสรีทางการค้า (เอฟทีเอ) กับหลายประเทศทั้งในกรอบอาเซียน (อาฟต้า) กรอบอาเซียน-จีน อาเซียน-ญี่ปุ่น ส่งผลให้เวลานี้มีสินค้าสัตว์นํ้าจากจีน เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา อินโดนีเซีย มาเลเซีย ที่เสียภาษีในอัตราตํ่า หรือภาษีเป็นศูนย์เข้ามาจำหน่ายในไทยจำนวนมาก รวมถึงป้อนให้กับโรงงานแปรรูป กระทบภาคประมงไทยเดือดร้อน
ขณะเดียวกันในการเจรจาเอฟทีเอในกรอบใหม่ๆ ทั้งในปัจจุบัน และในอนาคตรัฐบาลจะต้องมีมาตรการป้องกันผลกระทบที่จะตามมาต่ออุตสาหกรรมประมงของไทยที่มีมูลค่ามากกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี เนื่องจากเวลานี้มีหลายประเทศที่ไม่มีต้นทุนที่เกิดจากการปฏิบัติตามมาตรการไอยูยู หรือไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรการเหมือนที่ชาวประมงไทยกำลังเผชิญอยู่ ทำให้ต้นทุนการจับสัตว์นํ้ามีความได้เปรียบ และมีความสุ่มเสี่ยงหากไทยมีการนำเข้าสัตว์นํ้าจากประเทศที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการไอยูยู หรือที่ยังได้ใบเหลือง หรือใบแดงจากอียู ซึ่งหากมีการตรวจสอบย้อนกลับ ไทยอาจถูกตอบโต้ หรือกีดกันการค้าจากอียูได้
“เวลานี้เวียดนามยังได้ใบเหลืองจากอียู กัมพูชายังใบแดง เมียนมาถูกบอยคอต แต่สินค้าประมงจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาถล่มตลาดไทย ขณะที่ในการเจรจาทุกเอฟทีเอ ภาคการประมงจะเป็นข้อบทหนึ่งที่อยู่ในทุกการเจรจา ซึ่งขอให้ภาครัฐปกป้องชาวประมงไทยด้วย เพราะเราปฏิบัติตามไอยูยูทำให้มีต้นทุนเพิ่ม แต่หลายประเทศไม่ได้ปฏิบัติตามไอยูยู ทำให้ต้นทุนได้เปรียบเรา ที่ผ่านมาจากการปฏิบัติตามมาตรการไอยูยูกระทบเศรษฐกิจภาคประมงเราเสียหายปีหนึ่งกว่า 2 แสนล้านบาท”
ทั้งนี้ถามว่าคุ้มหรือไม่ที่ไทยต้องปฏิบัติตามไอยูยูจากที่ไทยส่งออกสินค้าประมงไปตลาดอียูปีละ 3,000-5,000 ล้านบาท แต่เวียดนามได้ใบเหลืองไอยูยูมา 8-9 ปี แต่เวียดนามมีเอฟทีเอกับอียู และไม่ได้เอาเงื่อนไขไอยูยูมากีดกันสินค้าเวียดนาม
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4026 วันที่ 12 - 14 กันยายน พ.ศ. 2567