นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สมาคมประมงฯ ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี รองนายยกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง ขอให้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการประมง สืบเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายที่จะฟื้นอาชีพการประมงทั้งระบบให้กลับมาเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประชาชนอีกครั้ง ด้วยการแก้ไขกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายให้เหมาะสมอันเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลให้อยู่กับประเทศอย่างยั่งยืน
ตามที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภาไว้นั้น และคณะรัฐมนตรี ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ต่อสภาผู้แทนราษฎร จนนำไปสู่การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ โดยใช้ร่างของคณะรัฐมนตรีเป็นร่างหลักในการพิจารณา ซึ่งปัจจุบันอยู่ในกระบวนการของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ความทราบแล้ว นั้นการแก้ไขกฎหมายประมงตามกระบวนการของสภาผู้แทนราษฎร ยังคงใช้ระยะเวลาอีกนานพอสมควร ซึ่งปัจจุบันนี้ ผู้ประกอบการประมงที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ รอบปีการประมง 2567-2568 เริ่มประกอบอาชีพต่อไม่ไหวกำลังจะล้มละลายกันหมดทั้งประเทศ
เนื่องจากประสบกับสภาวะขาดทุน รายได้ไม่สัมพันธ์กับต้นทุนการประกอบอาชีพไม่คุ้มทุน ราคาสินค้าสัตว์น้ำตกต่ำต่อเนื่องมาจากหลายปัจจัยที่รัฐยังไม่สามารถหาแนวทางแก้ไขให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน รวมทั้งแหล่งเงินทุนสินเชื่อของภาครัฐที่จะสนับสนุนก็ยังไม่ออกมา ทำให้มีสมาชิกเป็นจำนวนมากในหลายๆ จังหวัดเริ่มทยอยแจ้งความประสงค์ขายเรือประมงที่มีใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์
ผ่านไปยังสมาคมฯ อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากกฎหมาย พรก.ประมง พ.ศ. 2558 ที่รัฐบาลในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมาบังคับใช้จนเป็นปัญหาและอุปสรรคในการประกอบอาชีพของพี่น้องชาวประมงต้องออกมาเรียกร้องในเรื่องการทวงถามเรื่องการซื้อเรือประมงคืน จำนวน 1,542 ลำ ตามที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลเคยให้สัญญาไว้
นายมงคล กล่าวว่า ในขณะนี้หลายจังหวัดมีการเคลื่อนไหวแล้ว จะยกระดับความรุนแรงขึ้นไป ดังนั้นอยากให้รัฐบาลทำตามสัญญาเป็นการเร่งด่วน เพื่อให้ประมงไทยกลับมาพลิกฟื้นอันนำมาซึ่งผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประมงทะเลของประเทศ ให้เป็นไปตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาที่จะ “พลิกฟื้นประมงไทยสู่การเป็นเจ้าสมุทรในกติกาสากลโลก"