เริ่มทำงานทันที แบบไม่มี”ฮันนีมูน” สำหรับนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หญิง คนที่สองและนายกรัฐมนตรีอายุน้อยที่สุดของประเทศไทย
ภายหลังนำ คณะรัฐมนตรี เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายสัตย์ปฏิญาณ ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่6กันยายนที่ผ่านมาแล้ว
ล่าสุดวันที่7กันยายน ได้นั่งเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษ เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาลโดยมีคณะรัฐมนตรีเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
ในการนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวมอบนโยบายให้กับรัฐมนตรี
1.ให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเตรียมการแต่งตั้งข้าราชการระดับปลัด ฯ แทนตำแหน่งที่จะเกษียณและที่อยู่ในตำแหน่งครบอายุ 4 ปี เพื่อจะได้เสนอ ครม. พิจารณาหลังการแถลงนโยบาย
2. การแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ขอให้รมต. เตรียมชี้แจงตอบคำถามในประเด็นนโยบายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งช่วยกันสื่อสารและขยายผลนโยบายในส่วนที่ตนเองเกี่ยวข้อง เพื่อให้ข้าราชการ และประชาชนเข้าใจในนโยบายของรัฐบาลมากยิ่งขึ้น
3. ขอให้ช่วยกันดำเนินการต่อเนื่องจากงานของนายกรัฐมนตรี นาย เศรษฐา ทวีสิน โดยเฉพาะการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว การดูแลสินค้าเกษตร
รวมทั้งการดูแลกลุ่มเปราะบาง การแก้ปัญหาน้ำท่วมและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ การเร่งรัดการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของภาครัฐด้วย
อย่างไรก็ตาม นับเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญของการทำหน้าที่ของรัฐบาลแพรทองธาร1อย่างเต็มภาคภูมิ แต่ในความภาคภูมิใจ นั้น สิ่งที่อยู่เบื้องหน้า
เต็มไปด้วยพงหนาม ทั้ง ปัญหาการร้องเรียน เพื่อสอยเธอลงจากตำแหน่ง พร้อมกับพรรคเพื่อไทย ขณะเดียวกันบนบ่าที่ต้องแบกไว้ คือ ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ที่มีเรื่องของหนี้ครัวเรือนมาเป็นตัวฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจ
แม้ว่าไตรมาส3และไตรมาส4ของปีนี้มีแนวโน้มที่ดีขึ้นบ้างแต่ยังไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องเร่งเบิกจ่ายให้เกิดการจับจ่ายโดยเฉพาะงบประมาณปี68 และงบประมาณเหลื่อมปีของงบประมาณปี67
ที่ต้องประเดิมอย่างแรกคือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแจกเงิน(สด)ดิจิทัล 10,000 บาท ลงเข้าระบบฐานราก กลุ่มคนเปราะบาง 14ล้านคน วงเงิน1.45แสนล้านบาท ให้เป็นพายุหมุนรอบแรก
จากการจับจ่ายของคนจน คนเปราะบาง ลงสู่ชั้นดีเอ็นเอของเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นนโยบายสานต่อมาจากนโยบายแก้ปัญหาปากท้อง การแจกเงินดิจิทัล10000 บาท ต่อจากรัฐบาลเศรษฐา เคยรับปากกับประชาชนและรอคอยมาจนถึงรัฐบาลแพทองธาร 1
ต่อด้วยปัญหา น้ำท่วมที่ต้องเร่งเยียวยา บ้านเรือนประชาชน เกษตรกร ที่พื้นที่จมน้ำเสียหายเป็นวงกว้าง ที่อนาคตต้องวางแผนระยะยาวซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายเพราะพิษภัยธรรมชาติไม่สามารถคาดเดาได้อีกทั้ง ภัยแล้ง รวมถึงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ต้องเผชิญ
ที่สำคัญเศรษฐกิจฐานรากอย่างเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการรายเล็กสายป่านสั้นที่เข้าถึงสถาบันการเงินยาก ตัวแปรสำคัญต้องยื่นมือเข้าช่วยเหลือ เพราะด้วยดอกเบี้ยที่สูงยังไม่มีท่าทีจะปรับลดลง ทำให้ผู้ประกอบการต้องล้มหายตายจาก
ตามด้วยเรื่องค่าแรง ที่รัฐบาลต้องปรับขึ้นให้ตามที่หาเสียงไว้ และเป็นเรื่องเร่งด่วนที่แรงงานเฝ้าทวงถาม แต่หากปรับขึ้นแล้ว จะซ้ำเติมธุรกิจรายเล็กด้วยเช่นกัน
เช่นเดียวกับภาคท่องเที่ยวบริการแม้จะเติบโตอย่างโด่ดเด่นแต่ยังไม่เป็นไปตามเป้าหรือปริมาณนักท่องเที่ยวยังไม่เท่ากับก่อนโควิด ที่สำคัญนักท่องเที่ยวยังใช้เงินน้อยกว่าก่อนหน้านี้ จากการสอบถาม ผู้ค้าย่านโอลทาวน์จังหวัดภูเก็ตเล่าให้"ฐานเศรษฐกิจ"ฟังว่า
ต่างชาติ อย่างจีนมาเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตปริมาณเท่าเดิมแต่ซื้อสินค้าลดลงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิดเท่ากับว่านักท่องเที่ยวลดการจับจ่ายขณะเดียวกัน จีนเองยังถล่มไทยในทุกรูปแบบโดยเฉพาะสินค้าจีนที่รัฐบาลชุดนี้ต่อเหนื่อยหนักในการรับมือ
ขณะภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงรอความหวังสานต่อมาตรการที่ยังคั่งค้างให้ครบทั้ง8ขอเสนอ จาก 7สมาคมอสังหาริมทรัพย์ ในสมัยรัฐบาลเศรษฐา
โดยเฉพาะการผ่อนคลายการปล่อยสินเชื่อ การผ่อนคลาย LTV (Loan to Value) หรือ สินเชื่อที่ทางธนาคารพาณิชย์ปล่อยให้ไม่เกินหลักประกัน อีกทั้งการปรับตัวลดลงของดอกเบี้ยนโยบาย แม้เอกชนจะเข้าใจว่าสถาบันการเงินกลัวจะเกิดผลกระทบตามมาคือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPLก็ตาม
แต่ทั้งนี้ต้องดูตามความเหมาะสมและให้เป็นไปตามข้อเท็จจริง เพราะเชื่อว่ายังมีกำลังซื้อแต่ที่เดินต่อไม่ได้เพราะสถาบันการเงินไม่ปล่อยกู้
อย่างไรก็ตามธุรกิจอสังหาริมทรัพย์คือหนึ่งในเครืองยนต์หลักที่ทุกรัฐบาลใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในยามเกิดวิกฤตเศรษฐกิจประเทศอ่อนแอ
หากเครื่องยนต์ตัวนี้ต้องดับวูบลงแน่นอนว่า จะฉุดอีกหลายอุตสาหกรรมพังพาบลงทั้งระบบอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ต้องจับตามอง "รัฐนาวา"ลำนี้ ว่าจะพาความหวังของประชาชนและภาคเอกชนไปถึงฝั่งฝันหรือไม่!!