จับตาไข้หวัดนก “สหรัฐ-บราซิล” กดราคาธัญพืชโลกดิ่ง ผวาทุบราคาข้าวโพดไทยวูบ

31 ส.ค. 2567 | 13:39 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ส.ค. 2567 | 13:40 น.

วงการผวาไข้หวัดนกพ่นพิษ “สหรัฐ-บราซิล” กดดันตลาดธัญพืชโลกราคาถูกทะลักเข้าไทย “ข้าวสาลี-ข้าวบาร์เลย์” ราคากิโลฯ ละ 5.40-7.46 บาท สวนทางราคาข้าวโพดในประเทศพุ่งสูงสุดรอบ 1 ปี ห่วงการเมืองไม่ทันเกม ใช้ข้ออ้างยกเลิกมาตรการ 3:1 หันนำเข้าเพิ่ม ฟาดหางข้าวโพดในประเทศราคาตก

“ฐานเศรษฐกิจ” ยังติดตาม การจัดทำโครงสร้างราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศและมาตรการการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้เกิดความสมดุลของทุกฝ่าย ทั้งเกษตรกร ผู้ค้าผู้รวบรวม โรงงานอาหารสัตว์ และเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ในราคาที่เป็นธรรมตลอดห่วงโซ่ อย่างไรก็ดีในข้อเท็จจริงเป้าหมายดังกล่าวยังเกิดขึ้นได้ยาก

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หากย้อนหลังไป 2 ปี คือในปี 2565 ราคาเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 12.34 บาท/กิโลกรัม (กก.) ถือว่าค่อนข้างสูง เพราะเป็นปีที่มีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ซัพพลายธัญพืชโลกลดลง และราคาสูง ส่วนปีนี้ราคาโดยเฉลี่ย 12 บาท/กก. ถือเป็นราคาที่ยังอยู่ในระดับสูง ล่าสุด ณ วันที่ 28 ส.ค. 2567 ราคาข้าวโพดที่โรงงานอาหารสัตว์รับซื้ออยู่ที่ 12.25 บาท/กก. ถือเป็นราคาสูงสุดในรอบ 1 ปี จากช่วงเดียวกันปีที่แล้วเฉลี่ยที่ 11 บาท/กก. เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดหมดแล้ว เกษตรกรเพาะปลูกล่าช้าตามสถานการณ์นํ้าฝน ทำให้ผลผลิตชุดใหม่จะทยอยออกในเดือนกันยายนเป็นต้นไป

“ส่วนผลผลิตข้าวโพดโลกในภาพรวมเพิ่มขึ้น แต่สหรัฐอเมริกาเพิ่งประกาศพื้นที่ปลูกข้าวโพดลดลงโดยปลูกถั่วเหลืองแทนข้าวสาลี ราคาก็ปรับลดลง หลังจากประเทศรัสเซียและยูเครนส่งออกข้าวสาลีได้เพิ่มขึ้นและใกล้เข้าสู่ช่วงผลผลิตโลกออก จึงมีแนวโน้มราคาอ่อนตัวลงเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 4"

เช่นเดียวกับกากถั่วเหลือง ที่ราคากากถั่วเหลืองนำเข้าและกากถั่วเหลืองที่ผลิตจากเมล็ดนำเข้าเริ่มอ่อนตัวลง จากผลผลิตที่มากขึ้น แม้ราคาลดลงแต่ยังคงสูงมากเมื่อเทียบกับปี 2562-2563 ซึ่งเป็นปีปกติและคาดว่าจะอ่อนตัวลงได้อีก ในไตรมาส 4 แต่ต้องระวังปัจจัยค่าเงินผันผวน

ภาพรวมการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ 6 เดือนแรก ปี 2567

 

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ในอนาคตการซื้อข้าวโพดไม่ได้มีการซื้อขายแบบปกติแล้ว จะต้องทราบว่าอยู่ในพื้นที่ใด โดยจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลกับทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด เพื่อตรวจสอบว่าพื้นที่นั้นว่ามีการเผาไร่หรือไม่ ล่าสุดต้นเดือนสิงหาคม 2567 ผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ได้เข้าพบผู้บริหารของเมียนมา เพื่อแจ้งให้ทราบว่าต่อไปประเทศไทยจะไม่สามารถรับซื้อข้าวโพดจากเมียนมาได้ เพราะปัจจุบันไม่มีการตรวจสอบรับรองจากประเทศคู่ค้าว่าข้าวโพดที่ขายมีการเผาหรือไม่ ซึ่งจะมีการนำเรื่องดังกล่าวมากำหนดเป็นเงื่อนในการนำเข้าต่อไปเช่นเดียวกับข้าวโพดไทย ซึ่งจะทำให้ปริมาณข้าวโพดจากเมียนมาหายไปจำนวนมาก อย่างไรก็ดีทางกรมส่งเสริมการเกษตรมีแผนผลิตข้าวโพดตั้งเป้าเพิ่มขึ้น 1 ล้านไร่ เพื่อทดแทนการนำเข้า

 

ด้านแหล่งข่าววงการค้าพืชไร่ กล่าวว่า ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเวลานี้ ราคาสูงแบบแปลก ๆ เมื่อเปรียบเทียบราคาข้าวโพดในตลาดโลกอยู่ที่ 6.95 บาท/กก.ขณะที่ราคาข้าวโพดในไทยสูงมาก โดยที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดไทยไม่ได้อะไรจากราคาที่สูงขึ้น ณ ปัจจุบันเลย แต่ผลประโยชน์จะตกกับพ่อค้าข้าวโพดและโรงงานอาหารสัตว์ที่นำเข้าข้าวโพดราคาตํ่าจากเมียนมา ทำให้มีกำไรถ้วนหน้า แต่จะทำให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศตกตํ่าลง

จับตาไข้หวัดนก “สหรัฐ-บราซิล” กดราคาธัญพืชโลกดิ่ง ผวาทุบราคาข้าวโพดไทยวูบ

“การปั่นราคาข้าวโพดสูง ก็เป็นห่วงรัฐบาลใหม่ อย่าไปหลงเชื่อ และปลดล็อกมาตรการ 3 :1 (ซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน นำเข้าข้าวสาลีได้ 1 ส่วน) ให้โรงงานอาหารสัตว์ ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงพาณิชย์ ล่าสุดในส่วนของข้าวบาร์เลย์ มีตัวแทนมายื่นเสนอขายราคาส่งมอบถึงท่าเรือเกาะสีชังในราคากว่า 6 บาท/กก. จากราคาปีที่แล้วกว่า 10 บาท/กก. ส่วนข้าวสาลีราคา 7.46 บาท/กก. และมีแนวโน้มจะลงอีก เนื่องจากสหรัฐและบราซิลเป็นประเทศที่มีการระบาดไข้หวัดนก จะดันวัตถุดิบราคาถูกลง น่าจะเป็นปัจจัยบวกสำหรับปศุสัตว์ไทยทำให้อาหารสัตว์ถูกลงอีก และจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเป็นแรงจูงใจนำเข้า เพราะทำให้มีกำไรเพิ่มขึ้น”

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,023 วันที่ 1 - 4 กันยายน พ.ศ. 2567