รัฐบาล ตื่นงัด 9 มาตรการรับมือ "แอปจีน Temu" สั่งคุมเข้มการจดทะเบียน

06 ส.ค. 2567 | 16:21 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ส.ค. 2567 | 16:30 น.

รัฐบาล งัด 9 มาตรการรับมือแอปพลิเคชัน Temu จากจีน “นายกฯเศรษฐา ทวีสิน” สั่งกระทรวงพาณิชย์-กรมสรรพากร ดูการจดทะเบียนให้เรียบร้อย ป้องกันกระทบร้านค้า- SME ไทย

มีความคืบหน้าของแอปพลิชันขายสินค้าออนไลน์ Temu จากประเทศจีน ที่เข้ามาทำการตลาดในประเทศไทย จนทำให้ภาคธุรกิจ ร้านค้า เอสเอ็มอี(SME) ของไทยตื่นตัวรับมือ 

ล่าสุดวันนี้ (6ส.ค.67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย จากกรณีที่แอปพลิเคชั่นจีน TEMU เข้ามาว่า ได้ดำเนินการอย่างไรไปบ้างแล้ว 

“โดยผมสั่งการกระทรวงพาณิชย์และกรมสรรพากรไปแล้ว ให้ดูในแง่ของการจดทะเบียนต่าง ๆ ให้เรียบร้อย” นายกฯ กล่าว

นายกฯ กำชับเร่งเสริมทักษะการตลาดให้ SME ไทย 

ด้าน นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า จากกรณี การเปิดตัวของ “Temu” แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสัญชาติจีนในประเทศไทย เน้นการขายด้วยสินค้าต้นทุนถูก จนหลายคนเกรงว่าอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยนั้น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ห่วงใยผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs

"นายกฯกำชับและสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางและมาตรการ เสริมทักษะการตลาดให้ SME ไทย สามารถแข่งขันท่ามกลางกระแสการค้าในโลกออนไลน์ หรือ อีคอมเมิร์ซ"

โฆษกรัฐบาล กล่าวอีกว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้เร่งพัฒนาองค์ความรู้และเสริมทักษะการตลาดใหม่ ให้ผู้ประกอบการไทย เพื่อปรับตัวก้าวให้ทันการแข่งขันยุคใหม่ที่รูปแบบการค้าเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  ผ่าน 9 มาตรการ ดังนี้

1. ขยายช่องทางการตลาดผ่านออนไลน์  

  • 1.1) การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพด้าน e-Commerce  เช่นหลักสูตรปั้นร้านค้าออนไลน์ขั้นเทพ (Online Marketing Genius: OMG) หลักสูตรปั้นเจ้าของธุรกิจให้เป็นอินฟลูเอนเซอร์ (The Influencer Journey : TIJ)  หลักสูตรสร้างนักขายออนไลน์มืออาชีพ (Smart Trader Online)
  • 1.2) การสร้างโอกาสทางการตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce Booster) ผ่านหลักสูตรชุมชนออนไลน์นวัตกรรมรักษ์โลก (Digital Village by BCG)
  • 1.3) สร้างความเชื่อมั่นและน่าเชื่อถือให้กับร้านค้าออนไลน์ เครื่องหมายรับรองผู้ประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (DBD Registered) และเครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือ (DBD Verified)  
  • 1.4) สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Market Collaboration) เช่น การจัดงานมหกรรม Thailand e-Commerce Expo 2024 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 – 21 สิงหาคม 2567 ณ ไอคอนสยาม รวมทั้งสร้างเครือข่ายแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ในประเทศ 

2. สร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการ SME

  • นำออกงานแสดงและจำหน่ายสินค้า ณ ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าชื่อดัง เพื่อสร้างการรับรู้สินค้าและบริการ 

3. ส่งเสริมสร้างภาพลักษณ์สินค้าชุมชนของไทยให้เป็นที่รู้จักแก่ผู้บริโภค

4. หาพื้นที่จำหน่ายสินค้าฟรีหรือราคาพิเศษให้ผู้ประกอบการชุมชน เช่น ตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า สถานีบริการน้ำมัน ฯลฯ ปัจจุบันมี 19,000 ทำเล

5. เสริมสร้างองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจให้พร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์

6. เชื่อมโยงพันธมิตรทางธุรกิจ เช่น เครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club ทั่วประเทศ และ การรวมกลุ่มธุรกิจแฟรนไชส์

7. สร้างผู้ประกอบการรายใหม่ สร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ ด้วยระบบแฟรนไชส์ที่ได้มาตรฐาน

8. เสริมศักยภาพร้านค้าโชห่วยด้วยเทคโนโลยี ส่งเสริมความรู้ และใช้ POS บริหารจัดการร้านค้า เพื่อลดต้นทุน เพิ่มยอดขาย 

9. นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ลดระยะเวลา และเพิ่มความเชื่อมั่นในการเข้าใช้บริการ

“ทั้งนี้ จะมีการบังคับใช้กฎหมายเพื่อกำกับดูแลให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการไทย โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะตรวจสอบธุรกิจที่มีลักษณะนอมินี พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ต้องเข้าสู่กระบวนการขออนุญาตโดยถูกต้อง โดยนายกรัฐมนตรีเน้นการดูแลผู้ประกอบการไทย ขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุนจากต่างประเทศด้วย ” โฆษกรัฐบาลกล่าว