บิ๊กเอกชนเชียร์ ดึง “สมองเพชร” ฟื้นเศรษฐกิจ เพิ่มแรงจูงใจรายได้สูง-มีอนาคต

02 ส.ค. 2567 | 07:00 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ส.ค. 2567 | 17:28 น.

บิ๊กเอกชนหนุนรัฐดึงแรงงานหัวกะทิกลับประเทศ ช่วยดันเศรษฐกิจพุ่งใน 5 ปี ประธานสภาอุตฯ ชี้มาตรการภาษีจูงใจลูกจ้าง-นายจ้าง ยังไม่แรงพอ ต้องสร้างแรงจูงใจเพิ่มทุกมิติ ระบุบริษัทยักษ์ใหญ่ไทย-บริษัทข้ามชาติได้อานิสงส์ ประธานหอการค้าฯ แนะเลียนโมเดลสิงคโปร์-อินโดนีเซีย

คณะรัฐมนตรี (ครม.)วันที่ 30 กรกฎาคม 2567 มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีในการสนับสนุนคนไทยที่มีศักยภาพที่ทำงานในต่างประเทศให้กลับเข้ามาในประเทศ โดยเฉพาะบุคลากรที่มีศักยภาพและความเชี่ยวชาญในสาขาความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมายภายใต้กฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ กฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน และกฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกรวม 44 อุตสาหกรรม

สิทธิประโยชน์สำคัญในส่วนของลูกจ้างคือ ให้ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในการหักภาษี ณ ที่จ่ายเหลืออัตรา 17% ของเงินได้ ส่วนนายจ้างสามารถนำรายจ่ายเงินเดือนตามสัญญาจ้างแรงงานของลูกจ้างที่มีคุณสมบัติตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดได้ 1.5 เท่า โดยจะมีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2572

มาตรการทางภาษีในครั้งนี้มีเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาประเทศ และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศ ซึ่งผู้นำภาคเอกชนได้ออกมาสนับสนุน แต่ระบุมาตรการจูงใจ ที่ออกมา ถือเป็นยาที่ยังไม่แรงพอ

ต้องเพิ่มแรงจูงใจอีกอื้อ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ส.อ.ท.เห็นด้วยกับแนวคิดและมาตรการของรัฐบาลในการดึงแรงงานหัวกะทิกลับประเทศ เพราะเวลานี้ทรัพยากรมนุษย์ถือเป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งประเทศไทยมีคนเก่ง ๆ ที่เรียนจบสูง ๆ ทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก จากต่างประเทศ มีความเชี่ยวชาญพิเศษในสาขาต่าง ๆ และยังทำงานอยู่ในต่างประเทศนับหมื่นนับแสนคน ด้วยเหตุผลต่าง ๆ

ทั้งมีรายได้ที่ดี มีระบบนิเวศหรือบรรยากาศในการทำงาน (ecosystem) ที่ดี มีฐานข้อมูลการทำงาน มีเครื่องมือ อุปกรณ์ที่ดี มีทีมงานที่ดี ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในองค์กรธุรกิจภาคเอกชนและหน่วยงานภาครัฐระดับชั้นนำในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในอเมริกา ยุโรป และอื่น ๆ

บิ๊กเอกชนเชียร์ ดึง “สมองเพชร” ฟื้นเศรษฐกิจ เพิ่มแรงจูงใจรายได้สูง-มีอนาคต

ทั้งนี้ภาครัฐและเอกชนในต่างประเทศมีมาตรการและสวัสดิการจูงใจต่าง ๆ เพื่อจูงใจและรักษาคนเหล่านี้ไว้ เพื่อช่วยขับเคลื่อนธุรกิจ และเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม การจะดึงคนเหล่านี้กลับประเทศในสาขาที่ไทยยังขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้มีความสามารถพิเศษในแต่ละสาขา โดยใช้มาตรการทางภาษีอาจจะเป็นแรงจูงใจได้ระดับหนึ่ง แต่มองว่า ยังไม่มากพอ เพราะบุคลากรเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังต้องการความมั่นคงในหลายด้าน เช่น มีรายได้ที่ดีที่มากพอเลี้ยงชีพ เลี้ยงครอบครัว ลูกหลานมีที่เรียนที่ดี มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ 

รวมถึงมีเครื่องมืออุปกรณ์และห้องปฏิบัติการที่ดีในการทำงาน ในการค้นคว้าวิจัย และคิดค้นสินค้าใหม่ ๆ ที่มีนวัตกรรม รวมถึงมีทีมงานที่ดีที่ทำงานเข้าขากัน ทำงานแล้วสนุก และที่สำคัญมากคือกลับมาแล้วต้องมีอนาคต มีความหวัง ภายใต้กฎหมายที่ทันสมัยและเอื้ออำนวยความสะดวกในการทำงาน ซึ่งหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรภาคเอกชนที่ต้องการแรงงานเหล่านี้ในไทยจะต้องให้การตอบสนอง

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

“เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาล เพราะทรัพยากรมนุษย์เป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่ยุคใหม่ ในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ๆ ที่เป็นเทรนด์ของโลก ซึ่งทุกประเทศก็ทำคล้ายกันคือพยายามดึงคนเก่ง ๆ กลับประเทศ อย่างจีนเมื่อหลายสิบปีก่อนที่รัฐบาลส่งคนไปเรียนในต่างประเทศทั่วโลก และกลับมาทำงานในประเทศ มีรายได้ที่ดีและมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี มีห้องวิจัยช่วยสร้างเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ ส่งผลให้จีนทุกวันนี้เติบโตอย่างก้าวกระโดดในทุกมิติ”

อย่างไรก็ดี นโยบายดึงคนเก่งกลับประเทศของไทย เคยเกิดขึ้นในสมัยนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เรียกว่า โครงการดึงสมองไหลกลับ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะบรรยากาศด้านต่าง ๆ ไม่เอื้อ ส่งผลให้แรงงานต้องกลับไปทำงานในต่างประเทศใหม่ ซึ่งการที่ไทยจะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจใหม่ สู่อุตสาหกรรมที่ทันสมัยมีความจำเป็นต้องอาศัยคนที่มีทักษะชั้นสูง มีความรู้เฉพาะด้าน เพื่อนำเอาความรู้ความสามารถมาช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เป็นที่นิยมและเป็นเทรนด์ของโลก

“มาตรการดึงคนเก่งกลับประเทศเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุด ซึ่งผู้ที่จะได้รับอานิสงส์ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ของประเทศ บริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงบริษัทข้ามชาติที่ลงทุนอยู่ในไทยในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพราะมีกำลังในการซื้อตัว หรือจ้างบุคลากรที่ให้ผลตอบแทนสูง ๆ จูงใจ และมีสถานการณ์ที่ เครื่องมืออุปกรณ์ที่ค่อนข้างพร้อมในการทำงาน”

หอการค้าหนุนเต็มที่

ด้าน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้าฯ เห็นด้วยกับการสนับสนุนการดึงแรงงานหัวกะทิทั้งคนไทยและต่างประเทศกลับมาทำงานประเทศ เพราะสถานการณ์ปัจจุบันแรงงานที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญสูงของไทยค่อนข้างขาดแคลนเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง

ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ แรงงานไทยที่เป็น Advanced ITC Skills เพียง 1% หากเทียบกับคู่แข่งและประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียที่มีถึง 16% ดังนั้นการที่ไทยพยายามดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมใหม่ จึงไม่มีแรงงานทักษะสูงที่เพียงพอ

ส่วนมาตรการให้นายจ้างนำค่าใช้จ่ายเพื่อการนี้มาหักภาษีรายได้นิติบุคคลได้เพิ่มเป็น 1.5 เท่า (จากเดิมหักภาษีได้ 1 เท่า) จะช่วยจูงใจให้ภาคธุรกิจตัดสินใจเพิ่มค่าจ้างให้มีอัตราสูงขึ้นในแรงงานทักษะสูงในระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในส่วนของลูกจ้าง ก็จะช่วยจูงใจให้ Talent (ผู้มีความสามารถพิเศษ) เก่ง ๆ ทั้งไทยและต่างชาติ ให้สนใจกลับมาทำงานและอยู่อาศัยในประเทศไทย ซึ่งในระยะยาวจะช่วยให้เป้าหมายการเป็น Hub ของภูมิภาคมีความเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

ชี้ยารัฐบาลยังไม่แรงพอ

อย่างไรก็ดี หอการค้าฯมีข้อเสนอเพิ่มเติม 2 มุมคือ มุมของลูกจ้าง แค่เพียงลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดายังไม่จูงใจเพียงพอ เพราะเหตุผลหลักของคนเหล่านี้ที่ยอมทิ้งบ้านทิ้งครอบครัว เพื่อไปหารายได้ที่มากกว่า ดังนั้นถ้าจะดึงคนเหล่านี้กลับมาต้องมีสิ่งจูงใจทางการเงินและสนับสนุนด้านอาชีพ ควรให้แรงจูงใจหรือ incentive ในเรื่องของการได้รายได้ที่เท่าเทียมหรือมากกว่าที่คนเหล่านี้เคยได้อยู่ ไม่ใช่เพียงการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ควรเสนอสิทธิพิเศษเพิ่ม

ตัวอย่าง เช่น ประเทศสิงคโปร์ มีการเสนอว่า ถ้ากลับมาทำงานในประเทศจะให้มีสิทธิพิเศษในการทำงานกับนายจ้างได้หลายราย หรือ อนุญาตให้เริ่มธุรกิจของตนเองในสิงคโปร์โดยไม่ต้องขอใบอนุญาต หรือ ประเทศอินโดนีเซีย สามารถอนุญาตให้คนที่มีเชื้อสายอินโดนีเซียที่กลับเข้ามาทำงานในประเทศสามารถถือสัญชาติ 2 สัญชาติได้

ส่วน มุมของนายจ้าง การนำเอาค่าจ้างของลูกจ้างเหล่านี้มาหักภาษีก็น่าสนใจแต่ไม่มากพอ รัฐบาลควรจะเข้ามาอุ้มเรื่องของการช่วยลดต้นทุนอื่น ๆ ในกรณีที่บริษัทนั้น ๆ มีการจ้างแรงงานที่เคยทำงานในต่างประเทศกลับมา เช่น ลดค่าไฟ ลดภาษีนำเข้า เครื่องจักรบางอย่าง การลดหย่อนเงินได้ที่ครอบคลุมไปถึงค่าใช้จ่ายในการจัดอบรมสำหรับ Talent, การเชิญวิทยากรต่างชาติเข้ามาให้ความรู้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยเสริมแรงจูงใจให้มาตรการดังกล่าวประสบความสำเร็จ

นอกจากนี้ หอการค้าฯ เสนอให้มีการแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่เป็นกลุ่มศักยภาพสูง เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ทั้งการทำงานในระบบราชการและการเพิ่มพูนทักษะขั้นสูงในภาคธุรกิจ เช่นเดียวกับโครงการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการแลกเปลี่ยนบุคลากรเพื่อเพิ่มประสบการณ์ในการทำงานกับธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น

ดิจิทัล-การเงินขาดแคลน

สำหรับ 44 อุตสาหกรรมตามกฎหมาย 3 ฉบับที่มีเป้าหมายดึงคนเก่งกลับประเทศนั้น ในมุมมองของหอการค้าฯ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลและไฟแนนเชียลเป็นสาขาที่ไทยยังขาดแคลนมาก ส่วนนี้ควรเน้นดึงดูด Talent ให้มากที่สุดเพื่อวางโครงสร้างพื้นฐานด้าน Financial หรือทางด้านการเงินของไทยให้แข็งแกร่ง และปรับกฎระเบียบให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน ซึ่งจะมีส่วนสนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่ด้านอื่น ๆ ของประเทศ

ขณะที่อุตสาหกรรมที่มีจุดแข็งเดิมของไทย เช่น การท่องเที่ยวระดับคุณภาพ, การเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ โลจิสติกส์ และการแพทย์ เป็นสิ่งที่ไทยมีพื้นฐานและจุดแข็งเบื้องต้นแล้ว แต่ต้องยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้มาก โดยรัฐบาลจะต้องลงทุนในระบบนิเวศ ( Ecosystem) ที่เกี่ยวข้อง เช่น ในด้านการแพทย์ ไทยจำเป็นต้องลงทุนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับห้องปฏิบัติการ ( Lab) ที่มีมาตรฐานระดับโลก

ด้านโลจิสติกส์ ไทยเป็นจุดศูนย์กลางในภูมิภาคอาเซียนอยู่แล้ว แต่ยังขาดโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะโครงข่ายทางราง และรถไฟความเร็วสูง หากสามารถเร่งดำเนินการในเรื่องนี้ได้ ไทยจะเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งที่โดดเด่นที่สุดในภูมิภาค ซึ่งจะมีส่วนช่วยดึงการลงทุนในอุตสาหกรรมสมัยใหม่อื่น ๆ เข้าลงทุนเพิ่ม และส่วนนี้จะช่วยตอบโจทย์นโยบาย Ignite Thailand ของรัฐบาลได้ในระยะยาว

เสมือนกุญแจดอกแรก

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว เนื่องจากความจำเป็นในการปรับโครงสร้างการผลิตของประเทศ ในการมุ่งสู่ 15 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (S-curve) จำเป็นต้องใช้กำลังแรงงานที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะแรงงานหัวกะทิในการผลักดัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจประเทศในระยะยาวต่อไป

การลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเหลือ 17% อีกทั้งนายจ้างสามารถนำไปหักรายจ่ายที่จ่ายเงินเดือนตามสัญญาจ้างแรงงานของลูกจ้าง เสมือนกุญแจดอกแรกในการดึงคนมีศักยภาพมาร่วมกันปรับโครงสร้างการผลิตของประเทศ และคิดว่าเป็นยาแรงพอสมควร จูงใจได้ดีเพราะได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งตัวแรงงานเองและผู้ประกอบการที่เป็นนายจ้าง ในลักษณะ Win-win อย่างไรก็ดี อาจต้องพิจารณาอัตราค่าจ้างที่แข่งขันได้เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราตลาดของงานเดียวกันในระดับสากลด้วย

ยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

“ผมมองว่า Top 5 ของอุตสาหกรรมใน 15 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ไทยควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษในการดึงคนไทยกลับมาเพื่อประโยชน์ในการปรับโครงสร้างการผลิตของประเทศในระยะต่อไป ได้แก่ 1.ยานยนต์ 2.อิเล็กทรอนิกส์ 3.อุตสาหกรรมที่สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน 4.การเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ 5.การแพทย์ ซึ่งเห็นว่าเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตและไทยมีพื้นฐานเดิมที่มั่นคง พร้อมต่อยอดจากการดึงคนไทยกลับมา” นายยุทธศักดิ์ กล่าว

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่  4,015 วันที่ 4 – 7 สิงหาคม พ.ศ. 2567