หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการภาษี สนับสนุนคนไทยที่มีศักยภาพที่ทำงานในต่างประเทศให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศ โดยการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ฝั่งลูกจ้างที่ทำงานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เหลือเพียง 17% ตามที่ กระทรวงการคลัง เสนอนั้น
การดำเนินการทางภาษีของกระทรวงการคลังครั้งนี้ ด้วยการปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ลงเหลือเพียงอัตรา 17% ของเงินได้ ซึ่งกำหนดให้คนไทยที่เคยทำงานอยู่ในต่างประเทศและจะกลับเข้ามาทำงานในประเทศในสาขาความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย ภายใต้กฎหมาย 3 ฉบับ คือ
- กฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
- กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน
- กฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
ฐานเศรษฐกิจตรวจสอบประเภทของอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่เข้าข่ายการปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ลงเหลือเพียงอัตรา 17% ซึ่งกำหนดไว้ภายใต้กฎหมายกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนกฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันฯ และกฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พบว่ามีด้วยกันทั้งหมด 44 อุตสาหกรรม โดยแยกเป็นรายกลุ่มตามกฎหมาย สรุปได้ดังนี้
ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ ป.5/2566 มีด้วยกัน 18 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย
- อุตสาหกรรมยานยนต์
- อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
- อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระดับคุณภาพ
- อุตสาหกรรมการเกษตร อาหารและ เทคโนโลยีชีวภาพ
- อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์
- อุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์
- อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์
- อุตสาหกรรมดิจิทัล
- อุตสาหกรรมการแพทย์
- อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ
- อุตสาหกรรมที่สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยตรง และมีนัยสำคัญ เช่น การผลิตเชื้อเพลิงจากขยะ การบริหารจัดการทรัพยากร เป็นต้น
- อุตสาหกรรมการบิน อากาศยาน และ อวกาศ
- การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังงานทดแทน
- การบริหารเทคโนโลยี นวัตกรรม และ Startup Ecosystem
- การพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมาย
- ศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (Intemational Business Center-IBC)
- การบริการด้านการระงับข้อพิพาททางเลือก
ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันฯ ที่ 1/2561 มีด้วยกัน 14 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย
- อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่
- อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
- อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระดับคุณภาพ
- อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ
- อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารที่มีมูลค่าเพิ่มสูง
- อุตสาหกรรมหุ่นยนต์
- อุตสาหกรรมการบิน
- อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ
- อุตสาหกรรมดิจิทัล
- อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร
- อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ
- อุตสาหกรรมที่สนับสนุนเศรษฐกิจ หมุนเวียน (Circular Economy) โดยตรง และมีนัยสำคัญ เช่น การผลิตเชื้อเพลิงจากขยะ การบริหารจัดการทรัพยากร เป็นต้น
- การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการวิจัยพัฒนาเพื่ออุตสาหกรรมเป้าหมาย
- อุตสาหกรรมเป้าหมายอื่น ๆ ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตามที่คณะกรรมการนโยบายให้ความเห็นชอบ
ภายใต้กฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายเขต พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง การกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษในพื้นที่ EEC มีด้วยกัน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย
- ยานยนต์สมัยใหม่
- อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
- การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
- การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ
- การแปรรูปอาหาร
- หุ่นยนต์
- การบินและโลจิสติกส์
- เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ
- ดิจิทัล
- การแพทย์และสุขภาพครบวงจร
- การป้องกันประเทศ
- การพัฒนาบุคลากรและการศึกษา