สศช. แนะจ่ายค่าจ้างให้เหมาะสม ก่อนลดภาษีดึงหัวกะทิกลับทำงานในไทย

01 ส.ค. 2567 | 17:20 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ส.ค. 2567 | 17:25 น.

สศช. แนะนำหลังรัฐบาลคลอดมาตรการ ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เหลือ 17% หวังดึงคนไทยหัวกะทิกลับมาทำงานในประเทศ ต้องจ่ายจ้างให้เหมาะสม ตีกรอบแรงงานคุณภาพตรงอุตสาหกรรมเป้าหมาย

กรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีในการสนับสนุนคนไทยที่มีศักยภาพที่ทำงานในต่างประเทศให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศ เพื่อดึงดูดคนไทยที่มีศักยภาพสูงและมีความเชี่ยวขาญในสาขาตามความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศ ผ่านการปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เหลือเพียง 17% 

ล่าสุด สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เสนอความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของครม. โดยระบุว่า สศช.พิจารณาแล้วไม่ขัดข้องในหลักการของ มาตรการภาษีในการสนับสนุนคนไทยที่มีศักยภาพที่ทำงานในต่างประเทศให้กลับเข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ 

อย่างไรก็ดี สศช. มีความเห็นเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิผลของมาตรการ ควรกำหนดคุณสมบัติที่เป็นหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของทั้งลูกจ้างและนายจ้างในต่างประเทศให้มีความเข้มงวด และมีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น จบการศึกษาหรือมีประสบการณ์ทำงานในสาขาอาชีพที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นต้น 

รวมถึงควรมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองคุณสมบัติดังกล่าวด้วย เพื่อให้แรงงานที่กลับเข้ามาทำงานในประเทศเป็นแรงงานที่มีศักยภาพสูง มีทักษะและความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศอย่างแท้จริง 

นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายเพิ่มมากขึ้นนั้น ยังต้องอาศัยการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystems) ที่เอื้อต่อการสนับสนุนปัจจัยสภาพแวดล้อมที่จะส่งผลต่อการตัดสินใจกลับเข้ามาทำงานในประเทศ นอกเหนือจากการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น ระบบค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับทักษะและศักยภาพ โอกาสและความมั่นคงในการประกอบอาชีพ ระบบสวัสดิการและมาตรฐานการครองชีพที่ดี เป็นต้น 

ขณะเดียวกัน ภาครัฐควรพิจารณาดำเนินมาตรการส่งเสริม และสร้างแรงจูงใจในการยกระดับและปรับปรุงทักษะแรงงานไทยที่มีอยู่ให้มีทักษะสอดคล้องตรงตามความต้องการจ้างงานของอุตสาหกรรมเป้าหมายในรูปแบบอื่น เช่น การให้เครดิตภาษี (Tax Credit) แก่ผู้ที่เข้ารับการอบรม 

รวมไปถึงการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเป้าหมายส่งเสริมลูกจ้างให้มีการศึกษาต่อหรือฝึกอบรมเพื่อพัฒนา ทักษะ เป็นต้น เพื่อส่งเสริมให้แรงงานไทยมีทักษะและความสามารถตรงตามความต้องการของตลาดมากขึ้นด้วย

สำหรับมาตรการมาตรการภาษีในการสนับสนุนคนไทยที่มีศักยภาพที่ทำงานในต่างประเทศให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศนั้น มีสาระสำคัญ เป็นการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรตามมาตรการภาษีในการสนับสนุนคนไทยที่มีศักยภาพที่ทำงานในต่างประเทศให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศไทย แบ่งเป็น 2 ส่วน 

ส่วนแรก : เป็นการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ลูกจ้าง) ในการหักภาษี ณ ที่จ่ายเหลืออัตรา 17% ของเงินได้เท่านั้น สำหรับคนไทยที่เคยทำงานอยู่ในต่างประเทศและจะกลับเข้ามาทำงานในประเทศในสาขาความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย และต้องทำงานในอุตสาหกรรมเป้าหมายภายใต้ข้อกฎหมาย 3 ฉบับ นั่นคือ 

  • ตามกฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 
  • กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน 
  • กฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

ส่วนที่สอง : กรณี นายจ้าง ครม.ได้เห็นชอบให้สิทธิประโยชน์กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามกฎหมายทั้ง 3 ฉบับข้างต้น สามารถหักรายจ่ายเงินเดือนตามสัญญาจ้างแรงงานของลูกจ้างซึ่งมีคุณสมบัติตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดที่จ่าย จากเดิม 1 เท่า เป็น 1.5  เท่า 

โดยกระทรวงการคลังแจ้งว่า มาตรการภาษีที่ออกมาในครั้งนี้ จะมีผลใช้บังคับ 5 ปี นับตั้งแต่มีการประกาศ ซึ่งคาดว่า มาตรการจะเริ่มต้นเร็วที่สุดในปี 2567 นี้