KEY
POINTS
ปัจจุบัน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ผลักดัน “รถไฟส่วนต่อขยายสายสีแดง” เพื่อเติมเต็มโครงข่ายการเดินทางจากกรุงเทพฯไปสู่ภูมิภาค เช่น นครปฐมและสมุทรสาครได้สมบูรณ์และสะดวกมากขึ้น
นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 ก.ค.2567 ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.มีมติเห็นชอบรวมโครงการรถไฟส่วนต่อขยายสายสีแดง ช่วงศิริราช-ตลิ่งชัน-ศาลายา และเห็นชอบสถานีเพิ่มเติม 3 สถานี ประกอบด้วย
1.สถานีสะพานพระราม 6 2.สถานีบางกรวย-การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 3.สถานีบ้านฉิมพลี โดยให้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเป็นสัญญาเดียวกันและก่อสร้างให้แล้วเสร็จพร้อมกัน
“ส่วนสาเหตุที่รฟท.รวบทั้ง 2 โครงการเป็นโครงการเดียวกัน เนื่องจากการก่อสร้างมีพื้นที่ทับซ้อนที่สถานีตลิ่งชันและงานระบบต่างๆ ซึ่งจะทำให้การดำเนินโครงการฯสะดวกมากกว่าหากแยกทั้ง 2 โครงการ” นายอนันต์ กล่าว
ทั้งนี้ตามแผนจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในเดือนสิงหาคม 2567
หลังจากนั้นจะดำเนินการประกวดราคาหาผู้รับจ้าง ที่ปรึกษาควบคุมงาน และประกวดราคาที่ปรึกษาอิสระ ภายในเดือนกันยายน 2567-เมษายน 2568 ระยะเวลาดำเนินการ 8 เดือน
โดยจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในเดือนพฤษภาคม 2568-เมษายน 2571 ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี คาดว่าเปิดให้บริการภายในเดือนพฤษภาคม 2571
สำหรับการรวมโครงการรถไฟส่วนต่อขยายสายสีแดง ช่วงศิริราช-ตลิ่งชัน-ศาลายา มูลค่าโครงการ 15,176 ล้านบาท ลดลง 110 ล้านบาท จากเดิมที่ทั้ง 2 เส้นทาง มีมูลค่ารวมกันอยู่ที่ 15,286 ล้านบาท แบ่งเป็น
ค่างานโยธาและระบบราง 10,774 ล้านบาท ค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล 3,955 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาจัดประกวดราคา 14 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงาน (CSC) 392 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ (ICE) 39 ล้านบาท
ทั้งนี้โครงการรถไฟส่วนต่อขยายสายสีแดง ช่วงศิริราช-ตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 20.5 กิโลเมตร (กม.) จำนวน 9 สถานี ประกอบด้วย
1.สถานีตลาดน้ำตลิ่งชัน 2.สถานีจรัญสนิทวงศ์ 3.สถานีธนบุรี – ศิริราช 4.สถานีสะพานพราม 6 5.สถานีบางกรวย-การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
6.สถานีบ้านฉิมพลี 7.สถานีกาญจนาภิเษก 8.สถานีศาลาธรรมสพน์ และ 9.สถานีศาลายา
นายอนันต์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.มีมติอนุมัติสั่งจ้างงานจ้างที่ปรึกษาเพื่อทบทวนผลการศึกษาความเหมาะสม แบบรายละเอียด จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงวงเวียนใหญ่ – มหาชัย กรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้คณะกรรมการรฟท. ได้มอบหมาย รฟท. หารือร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ก่อนพิจารณาอนุมัติจ้างกิจการค้าร่วม (Consortium) ในนามของบริษัท เทสโก้ จำกัด มีผู้เข้าร่วมค้า 4 ราย ประกอบด้วย
1. บริษัท เทสโก้ จำกัด (Lead Firm) 2. บริษัท เอ็มเอชพีเอ็ม จำกัด 3. บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด และ 4. บริษัท ดีเคด คอนซัลแตนท์ จำกัด) กรอบวงเงินสัญญาจ้าง 135,622.500 บาท ระยะเวลาศึกษา 450 วัน
ที่ผ่านมาฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง รฟท.ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2567-2568 จำนวน 140 ล้านบาท โดยดำเนินการจ้างบริษัทที่ปรึกาเพื่อศึกษาโครงการฯดังกล่าว
ทั้งนี้คณะกรรมการดำเนินการจ้างฯเปิดซองรายละเอียดด้านราคาของผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 2 ปรากฏว่า 1.กิจการค้าร่วม (Consortium) ในนามของบริษัท เทสโก้ จำกัด ยื่นข้อเสนอราคาเป็นเงิน 139,903,142.00 ล้านบาท 2.บริษัทเอพซิลอน จำกัด ยื่นข้อเสนอราคาเป็นเงิน 154,140,401.50 บาท
ขณะที่สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง เห็นชอบราคาจ้างที่ปรึกษาฯในวงเงิน 135,633,500 บาท โดยผู้ยื่นข้อเสนอที่ได้คะแนนมากที่สุด ได้แก่ กิจการค้าร่วม (Consortium) ในนามของบริษัท เทสโก้ จำกัด ซึ่งยื่นข้อเสนอราคาเป็นเงิน 139,903,142.00 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง
แต่ยังสูงกว่าวงเงินงบประมาณสำนักงบประมาณอนุมัติไว้ จึงขอเจรจาต่อรองราคากับกิจการร่วมค้า(Consortium) ในนามของบริษัท เทสโก้ จำกัด เพื่อให้ได้ราคาค่าจ้างที่เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อหน่วยงานรัฐ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามผลการศึกษาเมื่อปี 2549 โครงการรถไฟส่วนต่อขยายสายสีแดง ช่วงหัวลำโพง-มหาชัย ระยะทางรวม 36.56 กิโลเมตร มูลค่าประมาณ 53,064 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ
1. ช่วงหัวลำโพง-วงเวียนใหญ่ ระยะทาง 3.40 กม. มูลค่าประมาณ 4,934 ล้านบาท
2. ช่วงวงเวียนใหญ่-มหาชัย ระยะทาง 33.16 กม. มูลค่าประมาณ 48,129 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามพบว่าการศึกษาเดิมทั้ง 2 โครงการไม่สอดคล้องกับโครงการรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต,บางซื่อ-ตลิ่งชัน
และส่วนต่อขยายอีก 4 เส้นทาง ใช้ทางขนาด Meter Gauge เนื่องจากสายสีแดง ช่วงหัวลำโพง-วงเวียนใหญ่-มหาชัย ใช้ทาง Standard Gauge ที่มีความกว้าง 1.435 เมตร
ขณะที่รถไฟ ช่วงมหาชัย-ปากท่อ ใช้ทาง Meter Gauge มีความกว้าง 1 เมตร ทำให้ไม่สามารถให้บริการเดินรถแบบ Through Service ได้ จึงสมควรปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกัน