"สุรพงษ์" ชงครม.เคาะส่วนต่อขยาย "สายสีแดง" วงเงิน 2.1 หมื่นล้านบาท

19 ต.ค. 2566 | 17:27 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ต.ค. 2566 | 18:16 น.
1.1 k

"สุรพงษ์" เดินหน้าชงครม.ไฟเขียวส่วนต่อขยายสายสีแดง 3 เส้นทาง วงเงิน 2.1 หมื่นล้านบาท สั่งแก้ปัญหาไฮสปีดไทย-จีน ติดหล่มลงนาม2สัญญา คาดจบปีนี้

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการระบบรถไฟชานเมือง ส่วนต่อขยายสายสีแดง ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างผลักดัน 3 เส้นทาง รวมวงเงิน 21,754 ล้านบาท ประกอบด้วย

  1. ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 6,468 ล้านบาท ขณะนี้ เส้นทางดังกล่าวอยู่ระหว่างรอบรรจุเป็นวาระเพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในสัปดาห์หน้า

\"สุรพงษ์\" ชงครม.เคาะส่วนต่อขยาย \"สายสีแดง\" วงเงิน 2.1 หมื่นล้านบาท

2.ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 10,670 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมเสนอต่อกระทรวงคมนาคม ในต้นสัปดาห์หน้า หลังจากนั้นคาดว่าจะเสนอ ครม. ได้ ภายใน 2 สัปดาห์

และ 3.ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 4,616 ล้านบาท ที่ผ่านมาการรถไฟได้ตอบกลับความเห็นต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างรอสภาพัฒน์รับทราบการตอบกลับของ รฟท.มาก่อน คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน หรือภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ คาดว่าทั้ง 3 โครงการ ครม.จะพิจารณาเห็นชอบได้ในช่วงต้นปี 2567 ต่อไป

“ส่วนในเรื่องของการเปิดประมูล จะต้องมีการจัดลำดับความสำคัญของแต่ละโครงการต่อไป ซึ่งคาดว่าขั้นตอนเหล่านี้จะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงต้นปี 2567” นายสุรพงษ์ กล่าว

\"สุรพงษ์\" ชงครม.เคาะส่วนต่อขยาย \"สายสีแดง\" วงเงิน 2.1 หมื่นล้านบาท

 นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ด้านความคืบหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะที่ 1 นั้น ขณะนี้ ได้รับรายงานว่าภาพรวมทั้งโครงการฯ มีความคืบหน้าประมาณ 27% ส่วนอีก 2 สัญญา ที่ยังไม่ได้มีการลงนามในสัญญา ประกอบด้วย สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง

ปัจจุบันติดปัญหาพื้นที่ทับซ้อนสร้างทางร่วม กับโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) โดยคาดว่าข้อสรุปของสัญญานี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อาจจะเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างเอง แทนเอกชนผู้ได้รับสัมปทานไฮสปีดสามสนามบิน

“ขณะที่ สัญญา 4-5 บ้านโพธิ์-พระแก้ว ปัจจุบันอัยการสูงสุดได้ตอบกลับร่างสัญญามาเรียบร้อยแล้ว โดยคาดว่าจะลงนามสัญญาได้เร็วๆ นี้ ส่วนกรณีที่ติดปัญหามรดกโลก ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เบื้องต้น รฟท. มีแผนดำเนินการก่อสร้างระบบรางไปก่อน โดยยกเว้นการก่อสร้างบริเวณสถานีอยุธยา เนื้่องจากหากรอการก่อสร้างตัวสถานีไปพร้อมกันจะยิ่งส่งผลให้โครงการล่าช้า ทั้งนี้ คาดว่าทั้ง 2 สัญญา จะได้ข้อสรุปให้แล้วเสร็จทั้ง 2 สัญญาภายในปี 2566” นายสุรพงษ์ กล่าว

 

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า จากนโยบายของ นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เร่งรัดโครงการฯ โดยมีเป้าหมายให้ดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนภายในปี 2569 จากเดิมที่คาดว่าเปิดให้บริการในปี 2570