ชงครม.ใหม่ เคาะประมูล “รถไฟส่วนต่อขยายสายสีแดง” 2.1 หมื่นล้าน

21 มิ.ย. 2566 | 09:51 น.
อัปเดตล่าสุด :21 มิ.ย. 2566 | 10:01 น.
2.9 k

“คมนาคม” เล็งชงครม.ชุดใหม่ไฟเขียว สร้างรถไฟส่วนต่อขยายสายสีแดง 3 เส้นทาง 2.1 หมื่นล้านบาท ภายในเดือนต.ค.นี้ ลุ้นประมูลไตรมาสแรกปี 67 ดึงเอกชนร่วมทุน PPP สัมปทาน 50 ปี คาดเปิดให้บริการปี 70

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการระบบรถไฟชานเมือง ส่วนต่อขยายสายสีแดง ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างผลักดัน 3 เส้นทาง รวมวงเงิน 21,754 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.ช่วงตลิ่งชัน – ศาลายา ระยะทาง 14.8 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 10,670 ล้านบาท

แบ่งเป็น ค่าจ้างที่ปรึกษาจัดประกวดราคา 7 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ (ICE) 30 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง (CSC) 271 ล้านบาท ค่างานโยธาและระบบราง จำนวน 8,076 ล้านบาท ค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล 2,284 ล้านบาท ขณะนี้รฟท.อยู่ระหว่างเตรียมเสนอขออนุมัติโครงการฯหลังจากมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่

ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้เสนอโครงการระบบรถไฟชานเมือง ส่วนต่อขยายสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน – ศาลายา เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดสุดท้ายเพื่อพิจารณา แต่ไม่ทันทำให้โครงการฯถูกถอนวาระออกไปก่อน ทั้งนี้ช่วงตลิ่งชัน – ศาลายา คาดว่าจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบได้ภายในเดือนตุลาคมนี้ หลังจากนั้นจะดำเนินการเปิดประมูลได้ภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี พร้อมเปิดให้บริการ 2570

2. ช่วงตลิ่งชัน - ศิริราช ระยะทาง 5.7 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 4,616 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจ้างที่ปรึกษาจัดประกวดราคา 7 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง (CSC) 122 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ (ICE) 16 ล้านบาท ค่างานโยธาและระบบราง 2,798 ล้านบาท ค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล 1,670 ล้านบาท

ปัจจุบัน รฟท. อยู่ระหว่างชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม เนื่องจากกระทรวงการคลังได้ให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมในประเด็นวงเงินเผื่อเหลือเผื่อขาดและอัตราดอกเบี้ย ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนดเล็กน้อย คาดว่าจะชี้แจงข้อมูลแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้

หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบได้ภายในเดือนตุลาคมนี้ และดำเนินการเปิดประมูลได้ภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี และเปิดให้บริการ 2570

3.ช่วงรังสิต – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 6,468 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าจ้างที่ปรึกษาจัดประกวดราคา 7 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง (CSC) 166 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ (ICE) 20 ล้านบาท ค่างานโยธาและระบบราง 4,055 ล้านบาท

ค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล 2,004ล้านบาท ปัจจุบันรฟท.อยู่ระหว่างเตรียมเสนอขออนุมัติโครงการฯหลังจากมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้เสนอโครงการฯ เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดสุดท้ายเพื่อพิจารณา แต่ไม่ทันทำให้โครงการฯถูกถอนวาระออกไปก่อน

คาดว่าเส้นทางดังกล่าวจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบได้ภายในเดือนตุลาคมนี้ หลังจากนั้นจะดำเนินการเปิดประมูลได้ภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี คาดเปิดให้บริการ 2570

ขณะการเวนคืนที่ดิน ช่วงรังสิต – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต จะใช้งบประมาณจ้างที่ปรึกษาช่วยเวนคืนที่ดิน 5 ล้านบาท และค่าเวนคืนที่ดิน 209 ล้านบาท โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 – มิถุนายน 2568 ระยะเวลาการเวนคืนที่ดิน 1 ปี ซึ่งมีพื้นที่ที่ถูกเวนคืนที่ดินประมาณ 14 ไร่ 21 แปลง 1 หลังคาเรือน

ชงครม.ใหม่ เคาะประมูล “รถไฟส่วนต่อขยายสายสีแดง” 2.1 หมื่นล้าน

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อว่า ส่วนช่วงบางซื่อ – พญาไท – มักกะสัน - หัวหมาก และช่วงบางซื่อ - หัวลำโพง (Missing Link) ระยะทาง 25.9 กิโลเมตร (กม.) ปัจจุบันที่ปรึกษาของ รฟท.อยู่ระหว่างดำเนินการปรับแบบและประมาณราคาค่าก่อสร้างโครงการ ทำให้ยังไม่ได้ข้อสรุปวงเงินของโครงการฯ ที่ผ่านมารถไฟส่วนต่อสายสีแดงเส้นทางดังกล่าว รฟท.เคยปรับกรอบวงเงินเพิ่มประมาณ 2,843 ล้านบาท จากเดิม 44,157 ล้านบาท เป็น 47,000 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปีครึ่ง คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายปี 2572

ส่วนการเวนคืนที่ดินช่วงบางซื่อ – พญาไท – มักกะสัน - หัวหมาก และช่วงบางซื่อ - หัวลำโพง (Missing Link) จะใช้งบประมาณในการเวนคืน 61 ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มดำเนินการเวนคืนที่ดินภายในเดือนตุลาคม 2567 – กันยายน 2568 ระยะเวลาเวนคืนที่ดิน 1 ปี โดยมีพื้นที่ที่ถูกเวนคืนที่ดินประมาณ 78 ตารางวา 2 แปลง 3 หลังคาเรือน

ขณะเดียวกันจากการการศึกษา ทบทวน และวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการจัดทำเอกสารประกวดราคา และการดำเนินงานตาม พรบ. การร่วมลงทุนระหวางรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ของโครงการรถไฟส่วนต่อขยายสายสีแดงทั้ง 4 เส้นทาง จะดำเนินการรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนแบบ Net Cost ระยะเวลาดำเนินโครงการ 50 ปี

โดยภาครัฐจะลงทุนในค่าชดเชยกรรมสิทธิ์ที่ดิน ,ค่าลงทุนก่อสร้างงานโยธา, ค่าลงทุนก่อสร้างงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ขณะที่เอกชนจะลงทุนในการจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้า ดำเนินการเดินรถและค่าบำรุงรักษา และจ่ายค่าชดเชยคืนสิทธิค่าใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานและค่าขบวนรถไม่น้อยกว่า 5,624 ล้านบาท

หากโครงการรถไฟส่วนต่อขยายสายสีแดงดำเนินการแล้วเสร็จ จะช่วยเชื่อมต่อโครงข่ายรถไฟในแนวเหนือ – ใต้ และ ตะวันออก – ตะวันตก เพื่อรองรับการเดินทางของผู้โดยสารบริเวณพื้นที่ปริมณฑลเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นใน และรองรับการให้บริการด้วยระบบรถไฟชานเมือง รถไฟทางไกล และรถไฟขนส่งสินค้าได้อย่างสะดวก รวดเร็วในอนาคต