“ไฮสปีดไทย-จีน” ดีเลย์ หลังติดหล่ม 2 สัญญา

23 ส.ค. 2566 | 15:05 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ส.ค. 2566 | 15:23 น.

รฟท.เร่งเคลียร์ 2 สัญญา สร้างไฮสปีดไทย-จีน 1.79 แสนล้านบาท รอลงนามสัญญา 4-1 หลังติดปัญหาทับซ้อนไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน คาดได้ข้อสรุปต.ค.นี้ ขณะที่สัญญา 4-5 รออัยการสูงสุดตรวจร่างฯ ลุ้นกรมศิลปากรไฟเขียวสถานีอยุธยา

ที่ผ่านมา“การรถไฟฯ” เร่งเครื่องเดินหน้าสร้างไฮสปีดไทย-จีน ระยะที่ 1 อย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันพบว่าจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้โครงการล่าช้า อีกทั้งยังบางสัญญายังติดปัญหาพื้นที่มรดกโลก โดยรฟท.ยังมีแผนตั้งเป้าก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดทดลองให้บริการได้ภายในปี 2570 

 

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทางรวม 250.77 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท ปัจจุบันการก่อสร้างงานโยธาทั้งหมดจำนวน 14 สัญญา ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 10 สัญญา อยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้าง 1 สัญญา และยังไม่ลงนาม 2 สัญญา 
 

สำหรับสัญญาที่ยังไม่ได้ลงนาม 2 สัญญา ประกอบด้วย 1.สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กิโลเมตร (กม.) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทับซ้อนร่วมกับโครงการความเร็วสูง (ไฮสปีด) เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ที่ผ่านมาจากมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.)และมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ระบุว่าหากเจรจากับบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ซึ่งเป็นเอกชนคู่สัญญาไม่สำเร็จ รฟท.ต้องเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างเอง ซึ่งจะเป็นทางเลือกสุดท้ายที่จะดำเนินการ หากท้ายที่สุดสามารถเจรจากับเอกชนยอมรับและเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างเองจะเป็นประโยชน์มากกว่า 

 

นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า หลักการของรฟท.และคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ไม่อยากให้โครงการความเร็วสูง (ไฮสปีด) เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ล้ม โดยปัจจุบันสัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ได้มีการขยายเวลาลงนามสัญญาออกไปถึงเดือนตุลาคม 2566 หากการเจรจาร่วมกับเอกชนไม่สำเร็จภายในปีนี้ คาดว่ารฟท.ต้องหาข้อสรุปให้ได้โดยรฟท.ต้องตัดสินใจเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างเอง 
 

“ภาพรวมของโครงการฯยอมรับว่าดีเลย์ แต่มันมีเหตุจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลทุกๆภาคส่วน รฟท.อยากให้โครงการฯนี้สำเร็จ ระหว่างนี้จะมีการประชุมร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย ประกอบด้วย รฟท.,สกพอ.และบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ด้วย ปัจจุบันรฟท.อยู่หว่างรออัยการสูงสุดตรวจแก้ไขร่างสัญญาตามมติกพอ. หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงก็สามารถดำเนินการได้ คาดว่าจะได้ความชัดเจนภายในเดือนตุลาคมนี้ หลังจากนั้นจะเริ่มกระบวนการได้ภายปลายปี 2566 หรือต้นปี 2567”

“ไฮสปีดไทย-จีน” ดีเลย์ หลังติดหล่ม 2 สัญญา

ทั้งนี้รฟท.อยากขอความชัดเจนจากบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ซึ่งบริษัทยังอยู่หว่างการตัดสินใจยอมรับเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างทางร่วมที่ทับซ้อนระหว่าง 2 โครงการ วงเงินรวมประมาณ 21,000 ล้านบาท หากให้รฟท.เป็นผู้ดำเนินการเองจะทำให้โครงการล่าช้ากว่าเดิม เพราะต้องเข้ากระบวนการเปิดประมูลและเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบด้วย โดยปัจจุบันรฟท.ยังขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ คือ โครงสร้างพื้นฐานด้านงานโยธาและการก่อสร้างอาคารสถานี ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินการ 

 

นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า กรณีหากรฟท.เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างโครงการเอง ในช่วงที่โครงการความเร็วสูง (ไฮสปีด) เชื่อม 3 สนามบิน เริ่มดำเนินการก่อสร้างจะกระทบช่วงที่รฟท.ก่อสร้างและการเปิดให้บริการหรือไม่นั้น เชื่อว่าได้รับผลกระทบบ้าง จากเดิมที่ไฮสปีดไทย-จีน เริ่มต้นเปิดให้บริการช่วงบางซื่ออาจจะต้องเริ่มเปิดให้บริการช่วงดอนเมืองไปก่อน 

 

2.สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง ระยะทาง 13.3 กิโลเมตร (กม.) ปัจจุบันยังติดปัญหาเรื่องผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก บริเวณสถานีอยุธยา ขณะนี้อยู่ระหว่างอัยการสูงสุดตอบกลับร่างสัญญาก่อนลงนามสัญญา หากไม่สามารถตกลงร่วมกันกับกรมศิลปกรได้ รฟท.จะไม่ดำเนินการก่อสร้างสถานีอยุธยา โดยจะก่อสร้างทางวิ่งไปก่อนเพื่อไม่ให้สถานีอยุธยาเป็นปัญหาเดียวที่จะกระทบทั้งโครงการ 

 

“กรณีที่ไม่สามารถก่อสร้างสถานีอยุธยาได้จะมีการย้ายตำแหน่งสถานีบริเวณบ้านม้าหรือไม่ รฟท.มองว่าบริเวณบ้านม้าไม่สามารถก่อสร้างได้เพราะส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทุ่งนาและมีพื้นที่แคบ อีกทั้งยังมีระยะทางที่ต้องกลับรถไกลถึง 7 กิโลเมตร (กม.) หากไม่มีสถานีอยุธยาเราจะไม่จอดบริเวณนั้น เพราะตามทฤษฎีของไฮสปีดไม่ควรมีสถานีเยอะ แต่เราเชื่อว่ามีหลายออปชั่นที่สามารถดำเนินการได้ เช่น อาจจะมีการปรับแบบสถานีให้มีขนาดเล็กลงเพื่อไม่ให้กระทบต่อแหล่งมรดกโลก” 

 

นายอนันต์  โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า หากจะย้ายตำแหน่งสถานอยุธยาเป็นสถานีบ้านภาชีนั้น มองว่าบริเวณนี้เป็นชุมทางที่ไปทางเหนือ โดยการก่อสร้างบ้านภาชีมีลักษณะของรถไฟเป็นเพียงสถานีที่ไม่ได้จอดให้ผู้โดยสารขึ้น-ลงเพื่อใช้บริการ เพราะแนวเส้นทาดังกล่าวเป็นทางเชื่อมต่อสายเหนือไปจังหวัดพิษณุโลก  

 

นอกจากนี้ด้านความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย หรือไฮสปีดไทย-จีน เฟส 2 ระยะทาง 356 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 3 แสนล้านบาท ปัจจุบันได้ดำเนินการออกแบบความเหมาะสมของโครงการแล้วเสร็จ หากมีการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใหม่เห็นชอบต่อไป