เร่งลงนาม3 สัญญา -เวนคืน 667 ไร่ สร้างไฮสปีดไทย-จีน 1.79 แสนล้าน

03 พ.ค. 2566 | 15:14 น.
อัปเดตล่าสุด :03 พ.ค. 2566 | 15:14 น.
805

“คมนาคม” เปิดแผนสร้างไฮสปีดไทย-จีน 14 สัญญา 1.79 แสนล้าน ชงบอร์ดรฟท.เคาะ ITD เซ็นสัญญา 3-1 ด้านสัญญา 4-1 เร่งสางปัญหาพื้นที่ทับซ้อนไฮสปีด 3 สนามบิน ฟากสัญญา 4-5 รฟท.ลุยส่งร่างสัญญา ชงอัยการสูงสุดตรวจสอบ จ่อเวนคืนที่ดิน 667 ไร่ เสร็จภายในปี 68 เปิดให้บริการปี 70

การเร่งรัดก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคกรุงเทพมหานคร-หนองคาย ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ระยะทาง 250.77 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 179,412.21 ล้านบาท ยังมีความล่าช้าอยู่มากปัจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)อยู่ระหว่างเร่งรัด เพื่อให้ก่อสร้างแล้วเสร็จเปิดใช้เส้นทางตามแผน

 

ล่าสุด รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า  สำหรับความคืบหน้าโครงการขณะนี้ยังเหลืออีก 3 สัญญา ที่ยังไม่ได้มีการลงนามสัญญาจาก 14 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดงและช่วงปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กิโลเมตร (กม.) ที่ผ่านมาศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งชี้ขาดข้อพิพาทแล้ว โดย บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเม้นท์ (ITD) ภายใต้ชื่อ กิจการร่วมค้า ITD-CREC No.10 JV ได้รับการคัดเลือก ปัจจุบันอยู่ระหว่างนำเสนอต่อคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อนุมัติ 
 

สัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กิโลเมตร (กม.) ปัจจุบันยังติดปัญหาพื้นที่ทับซ้อนโครงสร้างร่วมกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) หรือไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน โดยเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566 คณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีมติรับทราบรายงานความคืบหน้าของมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 1/2566 

 

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 ที่ประชุมกพอ.ได้สั่งการให้ รฟท. เร่งรัดดำเนินโครงการฯ  คาดว่าจะได้ข้อยุติปัญหาโครงสร้างร่วมและการก่อสร้างสัญญาไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน และการแบ่งชำระค่าสิทธิร่วมลงทุน เพื่อเข้าบริหารโครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ (ARL) เพื่อดำเนินการแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ กับบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ในฐานะคู่สัญญาผู้รับสัมปทานโครงการฯ และกำหนดที่จะส่งมอบพื้นที่และออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP) ภายในเดือนมิถุนายนนี้ 
 

สัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กิโลเมตร (กม.) โดยเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566 คณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้อนุมัติการสั่งจ้างบริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด เป็นผู้ดำเนินงานสัญญาดังกล่าว ปัจจุบันรฟท. อยู่ระหว่างส่งร่างเงื่อนไขสัญญาให้อัยการสูงสุดพิจารณาตรวจสอบต่อไป 

 

ส่วนการเวนคืนที่ดินของโครงการฯ ที่ผ่านมาราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน เพื่อเนินการก่อสร้างตามโครงการฯ ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป มีกำหนดระยะเวลา 4 ปี  โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในพื้นที่บางส่วนของ 5 จังหวัด ประกอบด้วย 1.กรุงเทพมหานคร 2.ปทุมธานี 3.พระนครศรีอยุธยา 4.สระบุรี และ5.นครราชสีมา รวมเนื้อประมาณ 667 ไร่ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินการเวนคืนที่ดินทั้งสิ้น 24 เดือน จะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2568

เร่งลงนาม3 สัญญา -เวนคืน 667 ไร่ สร้างไฮสปีดไทย-จีน 1.79 แสนล้าน

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อว่า โครงการมีแผนก่อสร้างแล้วเสร็จปลายปี 2569 และเปิดให้บริการในปี 2570 ส่วนความคืบหน้าโครงการฯ อีก 11 สัญญา ประกอบด้วย 1.สัญญา 1-1 ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร (กม.) วงเงินกว่า 100 ล้านบาท ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ 2.สัญญา 2-1 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 3,114.98 ล้านบาท ดำเนินการโดย บจ.ซีวิลเอ็นจีเนียริง ผลงาน 98.20% 3.สัญญาที่ 3-2 อุโมงค์มวกเหล็กและลำตะคอง ระยะทาง 12.23 กิโลเมตร (กม.)  วงเงิน 4,279 ล้านบาท โดย บมจ.เนาวรัตน์ พัฒนาการ ผลงาน 15.67% 

 

4.สัญญา 3-3 ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง ระยะทาง 26.10 กิโลเมตร (กม.)  วงเงิน 9,838 ล้านบาท โดย บจ.ไทย เอ็นยิเนียร์ และอุตสาหกรรม ผลงาน 22.64% 5.สัญญา 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง 37.45 กิโลเมตร (กม.)  วงเงิน 9,848 ล้านบาท โดยบมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ผลงาน 52.89% 6.สัญญา 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 12.38 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 7,750 ล้านบาท โดยกิจการร่วมค้า SPTK (บ.นภาก่อสร้าง ร่วมกับบริษัทรับเหมาประเทศมาเลเซีย) ผลงาน 3.91% 

 

7.สัญญา 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.80 กิโลเมตร (กม.)  วงเงิน 10,570 ล้านบาท โดย บมจ.บริษัทยูนิค เอ็นจิเนียริ่งแอนด์ คอนสตรัคชั่น ผลงาน 0.15% 8.สัญญา 4-3 ช่วงนวนคร-บ้านโพ ระยะทาง 23 กิโลเมตร (กม.)  วงเงิน 11,525.35 ล้านบาท โดยกิจการร่วมค้า CAN (บจ.เอ.เอสแอสโซศซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964), บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ และ บริษัท ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด ผลงาน 9.37%   


9.สัญญา 4-4 งานศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย วงเงิน 6,573 ล้านบาท โดย บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ซึ่งเอกชนเข้าพื้นที่เพื่อดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565  ผลงาน 00.05%  10.สัญญา 4-6 ช่วงพระแก้ว-สระบุรี ระยะทาง 31.60 กิโลเมตร (กม.)  วงเงิน 9,429 ล้านบาท โดย บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ผลงาน 0.24%  11.สัญญา 4-7 ช่วงสระบุรี-แก่งคอย ระยะทาง 12.99 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 8,560 ล้านบาท โดย บมจ.ซีวิลเอนจีเนียริง ผลงาน 37.24% 

 

นอกจากนี้สัญญา 2.3 งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟ และจัดฝึกอบรมบุคลากร ขณะนี้ผู้รับจ้างได้ส่งรายงานการออกแบบให้ รฟท. ตรวจสอบแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างตรวจสอบแบบรายละเอียด และเบิกค่าจ้างล่วงหน้า โดยที่ผ่านมารฟท.ได้ลงนามสัญญากับบริษัท ไชน่า เรลเวย์ อินเตอร์แนชันนัล (CHINA RAILWAY INTERNATIONAL CO., LTD.) และ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ดีไซน์ คอร์เปอเรชัน (CHINA RAILWAY DESIGN CORPORATION) แล้วเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2563 โดยเริ่มงานออกแบบวันที่ 22 ธันวาคม 2563