รายงานข่าวจากกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า ตามที่มีการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับกรณีการปฏิรูปเส้นทางรถโดยสารประจำทางในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลลงบนสื่อสังคมออนไลน์นั้น ประเด็นดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามแผนปฏิรูปเส้นทางรถโดยสารประจำทางในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม เพื่อยกระดับการให้บริการแก่ผู้โดยสารและสามารถเชื่อมโยงระบบรถโดยสารประจำทางกับระบบขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่น ๆ ทั้งระบบราง คือ
โครงข่ายรถไฟฟ้าทุกสาย ระบบรถไฟความเร็วสูงที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคต ระบบเรือโดยสารซึ่งเป็นการเดินทางอีกรูปแบบหนึ่งที่ประชาชนใช้บริการเป็นจำนวนมาก
อีกทั้งต้องการให้รถเมล์ทำหน้าที่เชื่อมต่อ (feeder) นำผู้โดยสารเข้าสู่สถานีรถไฟฟ้าเพื่อเพิ่มความสะดวกให้พี่น้องประชาชนในการเดินทางโดยใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ไม่ต้องใช้รถส่วนบุคคลเพื่อลดปัญหาจราจรติดขัด
รายงานข่าวจากกรมการขนส่งทางบก กล่าวต่อว่า กรมฯได้ออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งเส้นทางปฏิรูปฯ แล้ว จำนวน 237 เส้นทาง ให้แก่บริษัทเอกชน จำนวน 130 เส้นทาง และ ขสมก. จำนวน 107 เส้นทาง
ขณะเดียวกัน ขสมก. ได้จัดการเดินรถเส้นทางปฏิรูปฯ ครบทั้ง 107 เส้นทาง เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยจัดการเดินรถเส้นทางปฏิรูปฯ ที่ ขสมก. ได้รับอนุญาตควบคู่กับเส้นทางเดิมบางเส้นทาง
ส่วนเส้นทางเดิมที่ทับซ้อนกับเส้นทางปฏิรูปฯ ที่บริษัทเอกชนเป็นผู้ประกอบการขนส่ง ขสมก. ได้หยุดเดินรถให้บริการเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ส่งต่อการเดินรถให้บริษัทเอกชน จำนวน 14 เส้นทาง ประกอบด้วยเส้นทางสายที่ 3-35 (1), 3-1 (2), 3-36 (4), 3-3 (11), 3-37 (12), 3-6 (25), 1-39 (71), 3-45 (77), 4-44 (80), 4-15 (82), 4-46 (84), 4-17 (88), 4-56 (165) และสายที่ 4-61 (515)
สำหรับบริษัทเอกชนผู้ได้รับอนุญาตประกอบการขนส่งในเส้นทางปฏิรูปฯ ได้จัดการเดินรถเส้นทางสายปฏิรูปควบคู่กับเส้นทางสายเดิมตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นมา
ปัจจุบันได้เพิ่มจำนวนรถ จำนวนเที่ยวการเดินรถให้เพียงพอต่อปริมาณผู้โดยสาร รวมถึงจัดการเดินรถบางเส้นทางให้บริการในช่วงเวลากลางคืนตามความต้องการเดินทางของประชาชน
นอกจากนี้ในระยะแรกผู้ประกอบการจะระบุเลขเส้นทางเดิมควบคู่กับเลขเส้นทางปฏิรูปฯ เพื่อลดความสับสนของประชาชน ทั้งนี้ ในช่วงเปลี่ยนผ่านผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะตามแผนปฏิรูปกรมการขนส่งทางบกจะตรวจสอบติดตามการจัดการเดินรถให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดอย่างเคร่งครัด
หากพบว่าแนวเส้นทางหรือเงื่อนไขในเส้นทางใดไม่เหมาะสม กรมการขนส่งทางบกจะพิจารณาปรับปรุงเงื่อนไขให้สอดคล้องกับความต้องการในการเดินทางของประชาชนต่อไป