ควัก 1.6 หมื่นล้าน! ปฏิรูป "เส้นทางรถเมล์" ไฟเขียวเอกชนควบรวมกิจการรถโดยสาร

03 ม.ค. 2562 | 16:06 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ม.ค. 2562 | 07:31 น.
870
ผู้ประกอบการรถร่วมเอกชนจ่อควัก 1.6 หมื่นล้านบาท รับปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ใหม่ 4,000 คัน ด้าน กรมการขนส่งทางบกไฟเขียว! เอกชนควบรวมกิจการรถโดยสาร ในนาม "บริษัท อมรรัตนโกสินทร์ จำกัด" โดยกลุ่ม บมจ.ช ทวี เป็นแกนนำ

 

[caption id="attachment_369229" align="aligncenter" width="335"] นายกมล บูรณพงศ์ นายกมล บูรณพงศ์[/caption]

นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดี กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า มีความคืบหน้าการปฏิรูปเส้นทางรถโดยสารสาธารณะ 269 เส้นทางนั้น ขณะนี้สรุปยอดตัวเลขเส้นทางใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนราว 25 เส้นทาง ส่วนเส้นทางเดินรถเดิมจะปรับให้มีระยะทางสั้นลง เพื่อลดการทับซ้อนเส้นทางเดินรถ เช่น เส้นทางเดิมแทบทุกสายจะวิ่งเข้าหาใจกลางเมือง อย่าง 'อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ' ทว่าในอนาคตจะปรับให้เส้นทางวิ่งไปยังจุดเชื่อมต่อระบบขนส่ง อย่าง สถานีรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ ท่าเรือสำคัญริมแม่น้ำเจ้าพระยา สถานีขนส่ง และสนามบิน ตามนโยบายการขนส่งไร้รอยต่อ

ดังนั้น รถเมล์จึงเป็นเพียงฟีดเดอร์ป้อนผู้โดยสารเข้าระบบขนส่งหลักอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม มองว่าเป็นไปได้ยากที่จะผลักดันให้การปฏิรูปเสร็จในปี 2562 ตามแผนที่ได้ตั้งไว้ เนื่องจากต้องมีขั้นตอนจัดสรรเส้นทางให้เอกชนรายเดิมและรายใหม่ ส่วนด้านผู้ประกอบการก็ต้องลงทุนเม็ดเงินกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท เพื่อจัดซื้อรถใหม่ 4,000 คัน หรือเฉลี่ย 4 ล้านบาท/คัน เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย ทั้งการรอแหล่งเงินทุนและขั้นการตอนส่งมอบรถ ที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน

"สำหรับกรณีที่มีการจัดตั้งบริษัทเอกชนเพื่อควบรวมกิจการรถโดยสารเอกชนร่วมบริการ (รถร่วมฯ) ตามหลักแล้วสามารถทำได้ ไม่ผิดกติกา แต่ทั้งนี้ต้องรอดูว่าจะเจรจาไปได้ถึงไหนและมีรูปแบบการบริหารรถร่วมฯ ทั้งหมดได้อย่างไร ตอนนี้ยังไม่มีข้อห้าม แต่จะพิจารณาเรื่องการผูกขาดกิจการ เพราะต้องไม่ลืมว่า องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ยังอยู่ในฐานะผู้ประกอบการที่ต้องจัดเส้นทางเดินรถให้ด้วย"

ด้าน นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) หรือ CHO กล่าวว่า สำหรับแผนงานของ บริษัท อมรรัตนโกสินทร์ จำกัด มีแผนที่จะควบรวมกลุ่มผู้ประกอบการให้เข้มแข็งมากขึ้น โดยการเจรจากับผู้ประกอบการเดิมเพื่อขอจ้างเหมาวิ่งรถในแต่ละวัน รวมถึงการเจรจาข้อเสนออื่น ๆ ด้วย

"อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 จะเดินหน้าสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญการยกระดับระบบขนส่งสาธารณะควบคู่กับการเดินหน้าเข้าหาผู้ประกอบการ ก่อนวางแผนลงทุนจัดซื้อรถเมล์ใหม่ พร้อมติดตั้งระบบเครื่องอ่านบัตรโดยสารอัตโนมัติ (E-Ticket) รองรับตั๋วร่วมและบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย รวมถึงเพิ่มช่องทางการชำระเงินแบบดิจิทัลอีกด้วย"

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก